อุบัติการณ์ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องและผลลัพธ์การเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้ป่วยวิกฤตโรงพยาบาลอุดรธานี

Thursday, 17 May 2012 07:36 ann
Print

ทัศนีย์ เทศประสิทธิ์ และพิมลรัตน์ พิมพ์ดี. 2553. อุบัติการณ์ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องและผลลัพธ์การเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้ป่วยวิกฤตโรงพยาบาลอุดรธานี

บทคัดย่อ

บทนำ : ภาวะสับสนเฉียบพลัน (Acute Confusional States or Delirium) เป็นอุบัติการณ์ที่พบบ่อยตั้งแต่ร้อยละ11 ถึง 87 ในผู้ป่วยวิกฤต ส่งผลกระทบต่อ              การฟื้นหาย การเกิดภาวะแทรกซ้อน จำนวนวันนอนรักษา และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

วัตถุประสงค์ : เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา เพื่อศึกษาอุบัติการณ์ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องและผลลัพธ์การเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้ป่วยวิกฤต ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต อายุรกรรม โรงพยาบาลอุดรธานี

วิธีการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยวิกฤตทุกราย ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต อายุรกรรม ระหว่างเดือน มีนาคม 2552 ถึง พฤษภาคม 2552 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 2 ชุด คือ 1) แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปและข้อมูลการเจ็บป่วย 2) แบบประเมินระดับความรู้สึกตัว (Richmond Agitation and Sedation Scale, RASS) และแบบประเมินภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้ป่วยภาวะวิกฤติ (Confusion assessment Method for the Intensive Care Unit, CAM-ICU) ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ และทดสอบความเชื่อมั่นโดยวิธีสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค มีค่าเท่ากับ 0.87 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติวิเคราะห์ไคสแควร์

ผลการศึกษา : ผู้ป่วยวิกฤตที่ศึกษาจำนวน 44 ราย เกิดภาวะสับสน ร้อยละ 31.8 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่  ระดับ 0.05 คือ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา จำนวนครั้งที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ประวัติการได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง ประวัติชักมาก่อน ภาวะไตวาย ภาวะซีด ภาวะพร่องออกซิเจน และการได้รับการรักษาด้วยยาหอบหืด และผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กับการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลัน คือ ประเภทการจำหน่ายและจำนวนนอน   โรงพยาบาลเฉลี่ย

ข้อเสนอแนะ : ข้อมูลที่ได้ใช้เป็นแนวทางในการป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยง และจัดการกับการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลัน และมีประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยต่อไป