ปัจจัยที่มีผลต่อการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ได้รับการคาสายสวน ปัสสาวะในหอผู้ป่วย โรงพยาบาลเพ็ญ

Wednesday, 21 October 2015 03:03 ann
Print

นางสาวธมลวรรณ  คณานิตย์

โรงพยาบาลเพ็ญ

 

ที่มา การติดเชื้อในโรงพยาบาลของระบบทางเดินปัสสาวะ พบได้บ่อยเป็นหนึ่งในสามอันดับแรกของการติดเชื้อในโรงพยาบาลทั้งต่างประเทศและในประเทศ ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (Centers of Disease Control : CDC) ได้รายงานว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราอุบัติการณ์การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะที่สัมพันธ์กับการใส่สายสวนปัสสาวะในหอผู้ป่วยหนักที่สูงที่สุดคือ หอผู้ป่วยหนักศัลยกรรมประสาทซึ่งเท่ากับ 6.0 ครั้งต่อ 1,000 วันคาสายสวนปัสสาวะ ส่วนการศึกษาในโรงพยาบาลในประเทศไทยจำนวน 44 แห่ง เมื่อปี พ.ศ. 2544 พบว่า การติดเชื้อในโรงพยาบาลของระบบทางเดินปัสสาวะที่สัมพันธ์กับการคาสายสวนปัสสาวะคิดเป็น 21.5 ครั้ง ต่อ 1,000วันคาสายสวนปัสสาวะ การติดเชื้อนี้ยังส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ป่วย ผู้ป่วยรายอื่น โรงพยาบาล และประเทศชาติ ทำให้ผู้ป่วยต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลนานขึ้นร้อยละ 5 ถึง 12.4 วันต่อการติดเชื้อ 1 ครั้งทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ถึง 500 ถึง 676 เหรียญสหรัฐ ต่อการติดเชื้อ 1 ครั้ง หากการติดเชื้อรุนแรงมากขึ้นอาจมีการแพร่กระจายเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตได้ โดยพบว่า อัตราการตายเพิ่มสูงขึ้น ถึงร้อยละ 10.5 ถึง 21.3 จากการเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาลเพ็ญ พบว่า การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะจากการคาสายสวนปัสสาวะเป็นอันดังหนึ่งของการติดเชื้อทั้งหมด โดยพบอัตราการติดเชื้อเท่ากับ 4.29, 5.30, 4.66 และ 10.36 ต่อ 1,000 วันนอน ในปี 2553, 2554, 2555 และ 2556 ตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แสดงให้เห็นว่า การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในโรงพยาบาลเพ็ญนับเป็นปัญหาสำคัญ ผู้วิจัย จึงมีความสนใจที่จะศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่คาสายสวนปัสสาวะ เพื่อให้ทราบถึงขนาดของปัญหาและปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่แท้จริง พยาบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถนำไปเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาหรือกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยได้รับการสวนคาสายสวนปัสสาวะได้อย่างเหมาะสม อันจะส่งผลให้อัตราการติดเชื้อลดลงได้ต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะ ในหอผู้ป่วย โรงพยาบาลเพ็ญ ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อสุ่มแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) ช่วงการสุ่มเท่ากับ 10 และสุ่มหาเลขเริ่มต้นเท่ากับ 3 ได้ขนาดตัวอย่าง 86 คน ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ติดเชื้อมีเพียง 20 รายจึงเลือกมาทั้งหมด รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 106 คน ศึกษาข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึง มิถุนายน 2556 ผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองจากแบบบันทึกข้อมูลทั่วไปและข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะในหอผู้ป่วยชายและหอผู้ป่วยหญิง จากแฟ้มประวัติและข้อมูลจากบันทึกการเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและใช้สถิติเชิงอนุมาน เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะ ผลการศึกษา ข้อมูลทั่วไป พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ไม่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 51.99 ปี มีอายุระหว่าง 24-78 ปี ส่วนใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 64.0 ระดับการศึกษา อยู่ในชั้นประถมการศึกษา ร้อยละ 96.5 และมีอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 100 ส่วนกลุ่มที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 55.20 ปี มีอายุระหว่าง 9-69 ปี ส่วนใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไปร้อยละ 70.0 ระดับการศึกษา อยู่ในชั้นประถมการศึกษาร้อยละ 95.9 มีอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 95.9 ข้อมูลด้านสุขภาพพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ไม่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยวิกฤติ ร้อยละ 93.02 ไม่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 94.18 ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ร้อยละ 95.35 มีระยะเวลานอน รพ. อยู่ระหว่าง 1-20 วัน เฉลี่ย 5.52 วัน ระยะเวลานอน รพ. < 7 วัน มากที่สุด ร้อยละ 81.39 มีระยะเวลาใส่สายสวนปัสสาวะระหว่าง 1-30 วัน เฉลี่ย 3.88 วัน มีระยะเวลาใส่สายสวนปัสสาวะ < 7 วัน มากที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 91.86 จำนวนครั้งใส่สายสวนปัสสาวะอยู่ ระหว่าง 1-3 ครั้ง เฉลี่ย 1.03 ครั้ง จำนวนครั้งใส่สายสวนปัสสาวะ < 3 ครั้ง ทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 100.00 ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้องรังร้อยละ 90.00 มีโรคประจำตัว ร้อยละ 90.00 มีภาวะแทรกซ้อน ร้อยละ 85.00 มีระยะเวลานอน รพ. อยู่ระหว่าง 5-24 วัน เฉลี่ย 14 วัน ระยะเวลานอน รพ. 7 วัน มากที่สุด ร้อยละ 80.00 มีระยะเวลาใส่สายสวนปัสสาวะระหว่าง 2-24 วัน เฉลี่ย 11.55 วัน มีระยะเวลาใส่สายสวนปัสสาวะ 7 วัน มากที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 65.00 จำนวนครั้งใส่สายสวนปัสสาวะอยู่ระหว่าง 1-5 ครั้ง เฉลี่ย 2.00 ครั้ง จำนวนครั้งใส่สายสวนปัสสาวะ < 3 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 95.00 ข้อมูลปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะแสดงว่า เพศ การวินิจฉัยโรคที่มารักษาครั้งนี้ โรคประจำตัว ภาวะแทรกซ้อน ระยะเวลานอน รพ. ระยะเวลาใส่สายสวนปัสสาวะ มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (c2= 4.24, p =0.04, 95% CI = 0.13-0.97) (c2= 63.85, p =0.00, 95% CI = 22.37-643.87) (c2= 67.68, p =0.00, 95% CI = 26.17-812.20) (c2= 65.94, p =0.00, 95% CI = 23.79-567.07) (c2= 29.02, p =0.00, 95% CI = 5.15-59.45) (c2= 34.27, p =0.00, 95% CI = 6.31-69.64) ตามลำดับ การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ 1. ผู้บริหาร และคณะกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล นำไปกำหนด นโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยเพศชาย ที่เป็นโรคเรื้อรัง มีโรคประจำตัว มีภาวะแทรกซ้อน ระยะเวลานอน รพ. 7 วัน ระยะเวลาใส่สายสวนปัสสาวะ 7 วัน ที่ชัดเจนและเป็นแนวทางเดียวกัน 2.บุคลากรในหอผู้ป่วยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำข้อมูลไปพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะ และพัฒนาการให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและผู้ดูแล ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะ แผนการที่จะนำผลการวิจัยไปใช้ในหน่วยงาน 1. กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการสวนคาสายสวนปัสสาวะเริ่มตั้งแต่ ข้อบ่งชี้ การเตรียมผู้ป่วย การเตรียมอุปกรณ์ การดูแลขณะผู้ป่วยใส่สายสวนปัสสาวะ การถอดสายสวนปัสสาวะ การดูแลหลังและเฝ้าระวังผู้ป่วยหลังถอดสายสวนปัสสาวะ 2.เน้นแนวทางปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วย เพศชาย ที่มีโรคเรื้อรังและต้องสวนคาสายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน บทเรียนที่ได้รับและปัจจัยแห่งความสำเร็จ : ผู้วิจัยได้มีความรู้ และสามารถพัฒนางานวิจัยจากงานประจำ และได้รับทราบข้อมูล และสามารถนำเสนอผลการวิจัยแก่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพัฒนางานที่ส่งผลให้การป้องกันและควบคุมติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป ปัจจัยแห่งความสำเร็จ: การมีนโยบาย และ แนวทางปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ใส่ คาสายสวนปัสสาวะ รวมถึงความร่วมมือในการบันทึกข้อมูล และการรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการติด เชื้อระบบทางเดินปัสสาวะให้ครบถ้วน จาก แพทย์ พยาบาล และ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้การ ป้องกันและควบคุมการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะ มีประสิทธิภาพ และช่วยลดอัตราการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะได้