การพัฒนาระบบให้การปรึกษาหญิงตั้งครรภ์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

Wednesday, 21 October 2015 08:57 ann
Print

นางนภาพร  กันธิยะ, นางจตุพร บุญพงษ์ และนางวิชุดา  ชาวสวน                                                                                                       โรงพยาบาลกุมภวาปี  จังหวัดอุดรธานี

ที่มา การให้การปรึกษาหญิงตั้งครรภ์เป็นบริการที่หญิงตั้งครรภ์ต้องได้รับเพื่อคัดกรองความเสี่ยงและลดภาวะแทรกซ้อนจากการสรุปผลงานพบว่าหญิงตั้งครรภ์รายใหม่ที่มารับบริการฝากครรภ์ที่รพ.กุมภวาปีได้รับบริการคำแนะนำไม่ครบถ้วนพบสาเหตุหลัก คือขั้นตอนการบริการใช้เวลานานและอัตรากำลังพยาบาลไม่เพียงพอในวันให้บริการรายใหม่และวันที่นัดฟังผลเลือด จึงมีการพัฒนาระบบให้การปรึกษาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล21แห่ง วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบให้การปรึกษาหญิงตั้งครรภ์และสามีของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ของอำเภอกุมภวาปีและอำเภอประจักษ์ศิลปาคม กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และสามีได้รับบริการฝากครรภ์ที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็วขึ้น ระเบียบวิธีวิจัย ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการ ระยะเวลาดำเนินการมกราคม-ตุลาคม 2555ซึ่งประกอบด้วย ระยะแรก เป็นการศึกษาข้อมูลสถานการณ์การให้การปรึกษาและปัจจัยที่เกี่ยวข้องซึ่งพบว่าเจ้าหน้าที่ในรพ.สต.ที่รับผิดชอบงานฝากครรภ์เป็นพยาบาลวิชาชีพทุกคน มีจำนวนเพียงพอและผ่านการอบรมให้การปรึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ไม่มั่นใจในการให้การปรึกษาหญิงตั้งครรภ์ ระยะที่สองเป็นการพัฒนารูปแบบให้การปรึกษา ซึ่งมีลักษณะเป็นวงจรประกอบด้วย การวิเคราะห์สถานการณ์ การวางแผนและนำแผนไปปฏิบัติ การติดตามประเมินผลและสะท้อนการปฏิบัติ เพื่อนำมาปรับปรุงรูปแบบให้กรปรึกษา จนกระทั่งได้รูปแบบและคู่มือให้การปรึกษาที่เป็นความต้องการร่วมกันของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและหญิงตั้งครรภ์ ผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย สูติแพทย์ 2 คน เจ้าหน้าที่งานฝากครรภ์ รพ.กุมภวาปี 4 คน พยาบาลวิชาชีพในรพ.สต. 21 คน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อยในการฝึกปฏิบัติในห้องประชุมและแผนกฝากครรภ์ หัวข้อที่ใช้ในการพัฒนารูปแบบคือ การให้การปรึกษาก่อนและหลังตรวจเลือด การจัดทำคู่มือให้การปรึกษา ระบบการส่งผลชันสูตร การเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การสนทนากลุ่ม การตอบแบบสอบถามปลายเปิด การวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อเท็จจริงและการประชุมกลุ่ม การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติร้อยละ ได้แก่ ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหญิงตั้งครรภ์ ลการศึกษา รูปแบบที่ได้จากการวิจัย ประกอบด้วย ขั้นตอนการชี้แจง การให้ความรู้การฝึกปฏิบัติในห้องประชุมและที่แผนกฝากครรภ์ การจัดทำและปรับปรุงคู่มือ การปรับระบบการส่งคืนผลชันสูตร การประเมินการปฏิบัติโดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ การทำงานเป็นทีมของแม่และเด็ก ความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ใน รพ.สต. นโยบายการพัฒนา รพ.สต. อัตรากำลังที่เพียงพอ การติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง และมีปัจจัยที่สำคัญคือ การมีส่วนร่วมในการปรับระบบบริการร่วมกันตามสถานการณ์ สัมพันธภาพที่ดีระหว่างเจ้าหน้าที่งานฝากครรภ์ รพ.กุมภวาปีและเจ้าหน้าที่รพ.สต. ซึ่งเอื้อให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้และระบบการจัดการที่ดี โดยเจ้าหน้าที่งานฝากครรภ์เป็นผู้ประสานงาน สนับสนุนด้านวิชาการและสื่อ อุปกรณ์ จัดระบบการส่งต่อข้อมูลที่เอื้อต่อการบริการที่ รพ.สต. การเตรียมความพร้อมและสร้างความมั่นใจให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ประสิทธิของการวิจัยพบว่าเจ้าหน้าที่รพ.สต.มีความพึงพอใจร้อยละ 83 เจ้าหน้าที่รพ.สต.ได้รับการพัฒนาสมรรถนะด้านให้การปรึกษาและสามารถให้บริการหญิงตั้งครรภ์และสามีที่รพ.สต. ได้ร้อยละ 86 และ 91 ตามลำดับ ยกเว้นในรายที่ผลผิดปกติจะนัดฟังผลที่รพ.กุมภวาปี ร้อยละ 11 ประกอบด้วย โลหิตจาง เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์และพบเชื้อเอชไอวี หญิงตั้งครรภ์ไม่ได้ฟังผล ร้อยละ 2.9 จากการไม่ทราบวันนัด,นัดล่าช้า และ ผลตรวจเลือดสูญหาย หญิงตั้งครรภ์พึงพอใจในภาพรวม ร้อยละ 92 ได้รับบริการที่ใกล้บ้าน สะดวกและรวดเร็วและเข้าใจเรื่องผลการตรวจเลือด และเห็นด้วย ร้อยละ 100 ให้ดำเนินการบริการให้การปรึกษาต่อใน รพ.สต. การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ 1.การปรับระบบการฝากครรภ์รายใหม่ในรพ.สต. ทำให้หญิงตั้งครรภ์และสามีเข้าถึงระบบบริการได้ สะดวกขึ้น และ      ไม่รอนาน 2.มีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลของหญิงตั้งครรภ์และสามีระหว่างโรงพยาบาลกุมภวาปีและรพ.สต.เกี่ยวกับการรับบริการก่อนและหลังให้การปรึกษา และบริการฝากครรภ์ 3.เจ้าหน้าที่งานฝากครรภ์ได้ปรับระบบการให้คำแนะนำเรื่อง การซักประวัติและการบันทึกข้อมูล ขั้นตอนบริการ และคำแนะนำรายกลุ่มรายบุคคลได้เหมาะสมกับหญิงตั้งครรภ์ 4.กรมอนามัยและและศูนย์ความร่วมมือไทย- สหรัฐด้านสาธารณสุข ได้นำผลงานไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำคู่มือแนวทางการจัดระบบบริการในโรงพยาบาลเพื่อส่งเสริมการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์และสามี และสรุปผลงานอยู่ในภาคผนวก บทเรียนที่ได้รับและปัจจัยสู่ความสำเร็จ 1.การดำเนินงานให้การปรึกษาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาตำบล มีปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญ คือ การทำงานเป็นทีมของงานแม่และเด็ก ความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ในการพัฒนาสมรรถนะในการบริการในรพ.สต. และนโยบายการพัฒนารพ.สต.ให้มีมาตรฐานที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งในด้านอัตรากำลังที่เพียงพอและศักยภาพบริการที่ต้องเพิ่มขึ้น 2.การส่งต่อข้อมูลและการบันทึกผลชันสูตรของหญิงตั้งครรภ์และสามีในสมุดฝากครรภ์ให้ครบถ้วน ถูกต้องจะช่วยให้การสื่อสารและการดูแลระหว่างโรงพยาบาลและรพ.สต.มีความต่อเนื่อง 3.การสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกระดับจะได้รับความร่วมมือและการประสานงานที่ดีในการปรับระบบงานระหว่างเจ้าหน้าที่งานฝากครรภ์และเจ้าหน้าที่ในรพ.สต. รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะเจ้าหน้าที่ด้านงานอนามัยแม่และเด็ก ให้สามารถปฏิบัติงานได้  4.การปรับปรุงระบบงานส่งผลดีต่อด้านเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการคือ เจ้าหน้าที่มีความเครียดลดลง สามารถให้บริการได้ตามเป้าหมายและมีเวลามากขึ้น สามารถเพิ่มคุณภาพการบริการ หญิงตั้งครรภ์และสามีได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วขั้น ลดค่าใช้จ่ายและ ลดระยะเวลาการเดินทางในการมารับบริการ