การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงด้วยวิธี “อาสาสมัครน้อยในการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง” โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านยา อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

Wednesday, 28 October 2015 09:11 ann
Print

นายนรากร  สารีแหล้, นางวันทนา  ไพศาลพันธ์} นางรัชฎาภรณ์  ชุมแวงวาปี  และนางสาวกัญญารัตน์  ครองกลาง

 

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านยา สำนักงานสาธารณสุขอำเภอหนองหาน

ที่มาและความสำคัญ ปัญหาโรคความดันโลหิตสูงยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในปัจจุบันเนื่องจากโรคนี้มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่ออวัยวะที่สำคัญของร่างกาย คือ สมอง หัวใจไต ตา ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียหน้าที่ของอวัยวะเกิดความพิการของร่างกายและเสียชีวิตในที่สุด ความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ (สำนักโรคไม่ติดต่อ, 2552) องค์การอนามัยโลก รายงานว่าทั่วโลกมีผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมากถึงพันล้านคน และประชากรวัยผู้ใหญ่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็พบ มี 1 คน ใน 3 คน ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ส่วนประชากรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้เสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 1.5 ล้าน จากข้อมูลสถิติสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุความดันโลหิตสูง เป็นจำนวน 3,664 คน สถานการณ์ป่วยและเข้ารับการรักษาในสถานบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง (ฐานข้อมูลผู้ป่วยในรายบุคคล หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการและครอบครัว, 2556) ปี 2554,2555 และ 2556 จำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง มีจำนวน 60,420, 61,570 และ 64,572 คน ตามลำดับ โดยคิดเป็นอัตราป่วยต่อแสนประชาการ คือ 4,679.5, 4,833.8 , และ 5,013.7 ต่อแสนประชากรตามลำดับ จังหวัดอุดรธานี จำนวนผู้ป่วยในโรคความดันโลหิตสูง กับอัตราป่วย 100,000 คน จำแนกตามจังหวัดในเขตบริการสาธารณสุข ดังนี้ ปี2554,2555 และ 2556 จำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง มีจำนวน 15,233 ,16,287 และ 17,632 คน ตามลำดับ คิดเป็นอัตราป่วยต่อแสนประชากร คือ 987.9, 10,53.2 และ 1,135.6 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ จากข้อมูลเบื้องต้นผู้ป่วยป่วยโรคความดันโลหิตสูงในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านยา มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 1,125 หลังคาเรือน ประชาชนที่อาศัยอยู่จริงทั้งหมดจำนวน 5,466 คน เป็นชุมชนกึ่งชนบทซึ่งกำลังจะกลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น เกิดกระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยม เลียนแบบการบริโภคตามสื่อโทรทัศน์ ในชุมชนมีผู้ป่วยมีอัตราป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงในปีงบประมาณ 2554,2555และ2556 จำนวน 46,50 และ 52 คน ตามลำดับ การศึกษาสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านยา ด้านการให้บริการในชุมชนมีเฉพาะการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ด้านผู้ป่วยพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคความดันโลหิตสูงและการดูแลตนเอง มีพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสมรับประทานอาหารรสเค็ม และนิยมใช้ผงชูรสปริมาณมากในการปรุงอาหาร ขาดการออกกำลังกายรับการรักษาไม่ต่อเนื่องและอ้วน ด้านผู้ดูแลและชุมชน พบว่ามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยน้อย เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องโรค ในชุมชนไม่มีกิจกรรมการดำเนินงานในการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านยาเมื่อวิเคราะห์สถานการณ์พบว่าสาเหตุดังกล่าวทำให้ปัญหาโรคความดันโลหิตสูงไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงต้องการการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยการช่วยให้ผู้ป่วยมีการจัดการดูแลตนเองที่เหมาะสม การมีระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่แยกออกจากโรคเฉียบพลันอื่น มีทีมในการดูแลที่เป็นสหสาขาวิชาชีพและมีการติดตามเยี่ยมผู้ป่วย จากการสัมภาษณ์พฤติกรรมของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง พบว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ไม่เหมาะสม ในพฤติกรรมการปฏิบัติตัว 3 อ. 2 ส.เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และอารมณ์ การงดสูบบุหรี่ และการไม่ดื่มสุรา พบว่าผู้ป่วยส่วนมากทราบวิธีการดูแลตนเอง แต่นำมาสู่การปฏิบัติตัวที่ไม่เหมาะสม จากการสอบถามผู้ดูแลพบว่าได้ทราบการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว และได้ดูแลในเรื่องของการรับประทานอาหาร ซึ่งส่วนมากผู้ดูแลจะเป็นบุตรที่ช่วยในการดูแลสุขภาพของกลุ่มผู้ป่วย ซึ่งได้ให้การดูแลแต่ผู้ป่วยไม่ยอมปฏิบัติตามคำแนะนำที่ ถึงแม้ว่าจะมีการสอนและให้คำแนะนำโดยบุคลากรสาธารณสุขแล้ว แต่เนื่องจากภาษาที่ใช้สื่อสาร และชนิดของอาหารที่พูดถึงประชาชนไม่คุ้นเคย ทำให้ไม่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครน้อยกับการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงป้องกัน ความเสี่ยง ลดเสี่ยง เสริมศักยภาพในการดูแลตนเอง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นประเด็นหลักในการดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง (การจัดการความรู้และสังเคราะห์แนวทางปฏิบัติของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล:การจัดการระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังกรณีเบาหวานและความดันโลหิตสูง, 2553) การศึกษาครั้งนี้มุ่งพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครน้อยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โดยมีผู้ดูแลที่เป็นหลานในครอบครัวดังกล่าว เป็นผู้ดูแล เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานจนถึงผู้สูงอายุ ที่มีลูกหลานในครอบครัวแล้ว เพื่อให้กลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูงได้เรียนรู้การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเหมาะสมกับตนเอง และนำไปปฏิบัติด้วยตนเองจนสามารถจัดการตนเองในเรื่องพฤติกรรมการดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ในท้องถิ่น เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนการเกิดโรคความดันโลหิตสูงที่เป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่ โดยการใช้กระบวนการในการพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครน้อยเรียนรู้ร่วมกันของครอบครัวผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผ่านการใช้สื่อการเรียนรู้ที่ผู้ศึกษาผลิตขึ้น ได้แก่ กระบวนการในการพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครน้อย เพื่อให้อาสาสมัครน้อยมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในครอบครัวต่อไป วัตถุประสงค์ 1. เพื่อพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครน้อยในการส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านยา 2. เพื่อพัฒนารูปแบบใหม่ของงานบริการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมโรคความดันโลหิตสูง ที่เหมาะสมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านยาโดยใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ 3. เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานโรคความดันโลหิตสูง ระหว่าง ก่อนกับ หลัง การนำรูปแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นไปดำเนินการ ระเบียบวิธีวิจัย การพัฒนาคุณภาพงานบริการระดับปฐมภูมิงานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-Experimental Research)แบบกลุ่มเดียววัดก่อน-หลังการทดลอง ที่ผสมผสานการวิจัยแบบมีส่วนร่วมกับใช้กระบวนการ Participatory Learning (PL) เข้าด้วยกัน ด้วยการพัฒนารูปแปบใหม่ของงานบริการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมโรคความดันโลหิตสูง ที่นำหลักวิชาการมาประยุกต์อย่างผสมผสานกัน โดยใช้งาน พื้นที่ และกลุ่มเป้าหมายเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ถึง 30 กันยายน 2557 เปรียบเทียบผลดำเนินงานโรคความดันโลหิตสูง ระหว่าง ก่อนกับ หลัง การนำรูปแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นไปดำเนินการ ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากร คือ เด็กที่มีอายุระหว่าง 7-15 ปี ที่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ในเขตพื้นที่ตำบลบ้านยา จำนวน 57 คน กลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กที่มีอายุระหว่าง 7-15 ปี ที่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงที่มีศักดิ์เป็นหลานของผู้ป่วยในเขตพื้นที่ตำบลบ้านยา หมู่ที่ 1 และ 9 จำนวน 17 คน คัดเลือกแบบเจาะจง กลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการวิจัยต้องเข้าเกณฑ์ตาม Inclusion criteria จำนวน 9 คน Inclusion criteria ตามคุณสมบัติดังนี้ เป็นหลานของผู้ป่วยที่อาศัยในครอบครัวของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ทั้งที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของตนเองทั้งที่ดี และไม่ดี และได้รับการรักษาด้วยยา และรับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้าน มีอายุระหว่าง 7-15 ปี อ่านและเขียนหนังสือได้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 1. รูปแบบใหม่ของงานบริการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมโรคความดันโลหิตสูง ที่คณะผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ด้วยกระบวนการ Participatory Leaning 2. สื่อ Multimedia อีสานสรภัญญะ ที่คณะผู้วิจัยได้แต่งขึ้น โดยผ่านการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา โดย รศ.ดร.เกษราวัลณ์ นิลวรางกูร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิธีการเก็บรวมรวมข้อมูล การรวบรวมข้อมูล โดยใช้ 4 วิธีการหลัก คือ 1) การเสวนากลุ่ม (Group dialogue) และการสัมภาษณ์เจาะลึก (In-depth interview) 2) การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant observation) 3) การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non-participant observation) 4) การประชุมเชิงระดมสมองเพื่อร่วมเรียนรู้ (Work shop) ขั้นตอนและวิธีการ โดยการใช้รูปแบบ PDCA P = Plan 1.ระยะเตรียมการ 1.1 ศึกษาข้อมูล ค้นหาสาเหตุและสภาพปัญหาของชุมชน โดยการวิเคราะห์ข้อมูล สภาพปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานที่ผ่านมาร่วมกับ แกนนำเครือข่ายในชุมชน เพื่อหาแนวทางและพัฒนาระบบบริการที่สามารถ ดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม โดยจัดประชุมประชาคมในหมู่บ้านเพื่อสะท้อนถึงปัญหา 1.2 ประชุมทีมดำเนินการ 1.3 กำหนดรูปแบบในการดำเนินงาน 1.4 ทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในชุมชน 1.5 สร้างรูปแบบกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครน้อย D=Do 2.ระยะดำเนินการ 2.1 การเก็บรวบรวมข้อมูลสถานการณ์การบริการสุขภาพผู้ป่วยความดันโลหิตสูง และปรับมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครน้อย 2.2 การวิเคราะห์สถานการณ์สถานการณ์การบริการสุขภาพผู้ป่วยความดันโลหิตสูง และปรับมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครน้อย 2.3 ออกแบบพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครน้อยในการส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านยา 2.4 รูปแบบพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครน้อยในการส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 2.5 นำรูปแบบที่ได้จัดบริการพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครน้อยในการส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 2.6 จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้(KM)ของแกนนำและกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายให้เพิ่มมากขึ้น C=Check 1. ตรวจสอบการดำเนินงานตามแผนการที่กำหนด 2. เรียนรู้จากการดำเนินงาน เกิดนวัตกรรมหรือไม่ ผลความพึงพอใจมีมากขนาดไหน A=Action 3. ระยะประเมินผล การประเมินผลการสร้างพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครน้อยในการส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 3.1 กลุ่มเป้าหมายพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครน้อยในการส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และมีการจัดบริการเชิงรุกในกลุ่มที่ยังไม่ป่วยอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง 3.2 ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านยา และกลุ่มเสี่ยง มีการเข้าร่วมกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพโดยอาสาสมัครน้อย มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตของตนเองได้และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน และกลุ่มเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงลดลง 3.3 ผู้ดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านยาให้ความสำคัญและเข้าใจแนวทางการดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมากขึ้น 3.4 ชุมชนให้ความสำคัญต่อปัญหาโรคความดันโลหิตสูงและมีกิจกรรมสนับสนุนการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่อง 3.5 สรุปและประเมินผลโครงการ ด้วยกระบวนการ PDCA การวิเคราะห์ข้อมูล เปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างก่อนกับหลังการนำรูปแบบใหม่มาดำเนินการ ด้วยค่าสถิติพรรณนาด้วยค่าจำนวน ร้อยละ และค่าสถิติที่ใช้คือ Paired t-test ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%CI ผลการศึกษา จากการพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครน้อยในการส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านยา ที่พัฒนาขึ้นใช้เพียงทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ อย่างเหมาะสมกับพื้นที่ปฏิบัติงาน คือ กลุ่มแกนนำอาสาสมัครน้อยที่มีศักยภาพในการดูแลพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง สามารถเป็นต้นแบบในการสร้างอาสาสมัครน้อยรุ่นใหม่ต่อไป เกิดสายใยความรักและความเอื้ออาทรที่ดีในครอบครัวของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ใช้เจ้าหน้าที่ ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ใช้ทรัพยากรเดิมที่พัฒนามาจากบริบทและความเป็นเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตให้เกิดเป็นนวัตกรรมนวัตกรรม สื่อ Multimedia อีสานสรภัญญะ ใช้สถานที่ในรพ.สต.บ้านยาให้คุ้มค่าในการอบรมพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครน้อย และเครือข่ายที่เข้มแข็ง ; ผลการดำเนินงาน พบว่า อาสาสมัครน้อยมีความรู้ โดยมีความรู้หลังผลการทดลองเพิ่มขึ้นจากเดิมจากร้อยละ 48 เป็นร้อยละ 96 มีทักษะในการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้นโดยการใช้แบบบันทึกและแบบสังเกตระหว่างดำเนินกิจกรรม เช่น สามารถเตือนผู้ป่วยในการรับประทานยา การออกกำลังกาย และสังเกตอาการแทรกซ้อนได้ อาสาสมัครน้อยร้อยละ 91.5 มีความพึงพอใจในที่ถูกพัฒนาศักยภาพในการดูแลคนในครอบครัวได้ เกิดความรักในครอบครัวและสัมพันธภาพมากขึ้น การพัฒนารูปแบบใหม่ของงานพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครน้อยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมโรคความดันโลหิตสูง โดยกระบวนการ Participatory Leaning ใช้การประยุกต์กระบวนการ PDCA แบบบูรณาการโดยใช้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลางทำให้ศักยภาพของอาสาสมัครน้อยในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เพิ่มขึ้นจากเดิม (p<0.05) สรุปและวิจารณ์ การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงด้วยวิธี อาสาสมัครน้อยในการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านยา ดีกว่าวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงแบบเดิม การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ 1. กระบวนการพัฒนาพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครน้อยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมโรคความดันโลหิตสูง ที่ใช้ในการวิจัยนี้ ช่วยส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีระหว่างอาสาสมัครน้อย และผู้ป่วย และยังเป็นการส่งเสริมให้มีทัศนคติที่ดีด้านสุขภาพและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอย่างยั่งยืนต่อไป 2. รพ.สต.บ้านยา ได้จัดให้มีกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพแกนนำอาสาสมัครน้อยเพิ่มขึ้นในทุกหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาเป็นเครือข่ายเพิ่มความครอบคลุมของงานบริการสุขภาพในพื้นที่ของแต่ละหมู่บ้านโดยให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกระบวนการจัดการความรู้ (KM) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน 3. งานวิจัยนี้ รพ.สต.บ้านยา ได้นำไปเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์กับสถานบริการสาธารณสุขอื่นๆ ได้นำเสนอเป็นตัวอย่างของการทำงานประจำสู่การวิจัยที่ดีและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสามารถพัฒนางานที่รับผิดชอบได้ โดยใช้เพียงทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนตั้งแต่เริ่มต้นทำวิจัย แผนการที่จะนำผลการวิจัยไปใช้ในหน่วยงาน 1. ควรมีการพัฒนาต่อเนื่องจนเป็น the best practice ระดับประเทศอย่างยั่งยืน 2. เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ควรมีการพัฒนาศักยภาพแกนนำอาสาสมัครน้อย ขึ้นเป็นเครือข่ายเป็นประจำในทุกปี ควรมีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างแกนนำอาสาสมัครน้อย ในหมู่บ้านอื่นที่อยู่ในเขตรับผิดชอบ เพื่อทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน และค้นหาวิธีในการขจัดปัญหาเหล่านั้น ต่อไป 3. ควรดำเนินการพัฒนางานบริการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมโรคความดันโลหิตสูง ให้ต่อเนื่องและครอบคลุมทุกๆปัจจัยที่เกี่ยวข้อง จนเป็น รูปแบบตัวอย่างของการพัฒนางานดังกล่าวแก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ข้างเคียงและ ควรนำประสบการณ์ที่ได้จากการสร้างและพัฒนารูปแบบนี้ ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานอื่นๆของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านยา บทเรียนที่ได้รับ การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครน้อยในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เป็นการทำงานที่อาศัยความละเอียดอ่อนในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว และทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วย เพื่อเป็นการทำงานที่ได้คุณภาพ ลดช่องว่างระหว่างผู้ป่วยและอาสาสมัครน้อย โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ส่งผลให้การดำเนินงานมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ผู้รับบริการได้รับการบริการอย่างครอบคลุม และศักยภาพเท่ากันทุกคน คือ คุณภาพงานบริการการรักษาดีขึ้น ระยะเวลาการรักษาลดลง ประหยัดแรงงานเจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องมีความพึงพอใจ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ความยั่งยืนของการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการดื่มสุราในชุมชนจะเกิดขึ้นได้โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น การสร้างการรับรู้ให้คนในชุมชนได้เข้าใจและลดอคติต่อผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ดี จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนเกิดความเข้าใจ และความสำคัญของเจ้าหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องร่วมมือ และร่วมใจ และตั้งมั่น โดยแท้จริง การสนับสนุนที่ได้รับจากผู้บริหาร/หน่วยงาน/องค์กร ผู้บริหารให้ความสำคัญและสนับสนุนในการจัดเวทีวิชาการและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หน่วยงานให้การสนับสนุนบุคลากรให้โอกาสในการพัฒนาและการดำเนินงาน องค์กรภาคีเครือข่ายให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ