การพัฒนารูปแบบการบริการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานด้วยกลวิธีพัฒนาทักษะความสามารถของ อสม. ในการบริการเจาะเลือดจากปลายนิ้ว รพ.สต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ปีงบประมาณ 2557

Thursday, 29 October 2015 02:19 ann
Print

นายวชิระ รัตนเพชร

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเชียง

ที่มาและความสำคัญ ประเทศไทยในปัจจุบันพบว่า มีผู้ป่วยโรคเบาหวานถึง 3ล้านคนและเมื่อเป็นโรคเบาหวานแล้วมักจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย ความพิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อำเภอหนองหานมีผู้ป่วยเบาหวานที่ขึ้นทะเบียน 3,353 คน ตำบลบ้านเชียง มีผู้ป่วยเบาหวาน 398 คน โดยมีกลุ่มเป้าหมายการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานด้วยวิธีการเจาะเลือดฝอยจากปลายนิ้วทั้งสิ้น จำนวน 7,341 คน ซึ่งต้องดำเนินการเจาะเลือดฝอยเฝ้าจากปลายนิ้วเฝ้าระวังทุกๆปีเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนร้อยละ 90 งานบริการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานจึงเป็นงานที่สำคัญ เพราะถือได้ว่าการเจาะเลือดฝอยจากปลายนิ้วจะเป็นการค้นหาผู้ป่วยได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะช่วยทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค โดยรูปแบบเดิมของการดำเนินงานคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานของประชาชนในพื้นที่ตำบลบ้านเชียง จะเป็นเจ้าหน้าที่ประจำรพ.สต.จะเป็นผู้เจาะเลือดตรวจคัดกรองโรคเบาหวานแก่ประชาชนที่มารับการตรวจคัดกรอง แต่เนื่องจากการไม่สามารถเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ทั่วถึง ทำให้ผลงานการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานของตำบลบ้านเชียงในปีงบประมาณ 2555 และ 2556ได้ผลงานเพียงร้อยละ 35.26 และร้อยละ 48.72 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งไว้ คณะผู้วิจัยจึงตั้งใจที่จะพัฒนางานนี้ให้ดียิ่งๆขึ้น ด้วยแนวคิดพัฒนาทักษะความสามารถของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านให้มีทักษะในการบริการเจาะเลือดฝอยจากปลายนิ้วคัดกรองโรคเบาหวาน เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายและเพิ่มจำนวนผู้ได้รับการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป วัตถุประสงค์ 1. เพื่อพัฒนารูปแบบใหม่ของการบริการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ที่เหมาะสมกับ รพ.สต.บ้านเชียง โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสมและเต็มประสิทธิภาพ 2. เพื่อเปรียบเทียบผลการคัดกรองโรคเบาหวาน ระหว่างก่อน กับ หลัง การนำรูปแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นไปดำเนินการ ระเบียบวิจัย การวิจัยนี้เป็นวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-Experimental Research ) แบบกลุ่มเดียว วัดก่อน-หลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างหลักคือ อสม.ที่จะผ่านการเจาะปลายนิ้ว ส่วนกลุ่มเป้าหมายรองคือ ประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไปในพื้นที่รับผิดชอบ ระหว่างวันที่1 ตุลาคม 2556 ถึง 31 มกราคม 2557 เปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างก่อนและหลังการนำรูปแบบใหม่มาดำเนินการ โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติทดสอบPaired t-test ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%CI ผลการศึกษา รูปแบบใหม่ของงานบริการเจาะเลือดฝอยจากปลายนิ้วเพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน ที่พัฒนาขึ้น โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสมกับพื้นที่ปฏิบัติงาน คือการเพิ่มทักษะความสามารถของอาสาสมัคร โดยใช้กระบวนการฝึกอบรมให้ความรู้ และจัดให้มีการสอบภาคปฏิบัติภายใต้การกำกับและดูแลของฝ่ายเทคนิคการแพทย์ จากโรงพยาบาลหนองหาน โดยเริ่มจากการคัดเลือกตัวแทน อสม.ของแต่ละหมู่บ้านของตำบลบ้านเชียง จำนวน 60 คน จาก 187 คน เข้ามารับการฝีกอบรมให้ความรู้เรื่องการเจาะเลือดฝอยจากปลายนิ้วเพื่อตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน และหลังจาก อสม.ผ่านการอบรมแล้ว ได้มีการประสานหน่วยงานองค์การปกครองในพื้นที่เพื่อให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ แก่ อสม.ผู้ปฏิบัติงาน ก่อให้เกิดเครือข่าย อสม.เจาะปลายนิ้วที่เข้มแข็งและมีความพร้อมปฏิบัติงานในพื้นที่ตลอดเวลา พบว่า อสม.ที่ผ่านการอบรมการเจาะปลายนิ้วมีความรู้ความเข้าใจอก่อนการอบรมคิดเป็น ร้อยละ 46 หลังการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ90อสม.ที่ผ่านการอบรมสามารถผ่านการทดสอบภาคปฏิบัติทุกคน โดยการพัฒนารูปแบบใหม่ของงานบริการ เจาะเลือดฝอยจากปลายนิ้วเพื่อคัดกรองเบาหวานนี้ ใช้การประยุกต์กระบวนการ PDCA แบบบูรณาการ โดยใช้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลางทำให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับบริการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานที่เพิ่มขึ้น จากร้อยละ48.72 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 90.17 ในปี 2557 การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ 1. กระบวนการพัฒนา งานบริการเจาะเลือดฝอยจากปลายนิ้ว รูปแบบใหม่ที่ใช้ในการวิจัยนี้ ช่วยให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวกและง่ายขึ้น และยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการอย่างแท้จริง 2. รพ.สต.บ้านเชียง ได้จัดให้มีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพฟื้นฟูทักษะ และขยายเครือข่ายอสม.เจาะปลายนิ้วให้ครอบคลุมกับจำนวน อสม. และสอดคล้องกับจำนวนหลังคาเรือนที่ อสม.ต้องรับผิดชอบ และจะจัดเป็นประจำทุกปี โดยให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกระบวนการจัดความรู้ (KM)เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน 3. งานวิจัยชิ้นนี้ รพ.สต.บ้านเชียง ได้นำไปเผยแพร่และเสนอต่อ ที่ประชุม กองทุนหลักประกันสุขภาพส่วนท้องถิ่นเทศบาลตำบลบ้านเชียง และ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเชียง ในวันที่ 4 มีนาคม 2557 ณ เทศบาลตำบลบ้านเชียง เพื่อคืนข้อมูลและสรุปผลการดำเนินงาน ตามที่ได้รับการสนับชุดตรวจน้ำตาล และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จากทั้ง 2 กองทุน บทเรียนที่ได้รับ การทำงานทุกอย่างไม่ได้มีความราบรื่นเสมอไป ล้วนแต่มีปัญหาให้เรานั้นได้แก้ไขเสมอ แต่อยู่ที่ว่าการแก้ไขปัญหานั้นจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร ตามบริบทในพื้นที่นั้นๆ และการทำงานเป็นทีมที่ดีและสมบูรณ์แบบที่สุดนั้น คือการทำงานที่มีความสามัคคี มองทุกคนเป็นองค์รวม มองทุกคนเป็นเพื่อนร่วมงานที่มีประสิทธิภาพและศักยภาพในการทำงานเท่ากันทุกคน ปัจจัยแห่งความสำเร็จ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ตำบลบ้านเชียง มีความร่วมมือ ร่วมใจและจับมือก้าวเดินด้วยความมั่นคง มี อสม.ที่น่ารัก มีความเข้มแข็ง มีจิตใจที่เสียสละในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และสามารถเข้าถึงได้ทุกๆหลังคาเรือนที่รับผิดชอบ มีผู้บริหารชุมชน มีผู้นำท้องถิ่นที่มีความเมตตาเข้าใจถึงความเสียสละ เข้าใจถึงบทบาทและภาระหน้าที่ของทั้ง อสม.และ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ก่อให้เกิดฟันเฟืองของการขับเคลื่อนสุขภาพ เกิดความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการ และเหนือสิ่งอื่นใด คือ ทุกภาคส่วนมีเป้าหมายเดียวกันในการที่จะแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน

Last Updated on Thursday, 29 October 2015 03:05