นวัตกรรม สามใบเถาจับเข่าดูแลกันในหมู่บ้านต้นแบบเบาหวาน บ้านนาชุมแสง หมูที่ 6 ปี 2557 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาชุมแสง อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี

Thursday, 29 October 2015 03:11 ann
Print

รพ.สต.นาชุมแสง  อำเภอทุ่งฝน

ที่มาและความสำคัญ ปัญหาโรคเบาหวานเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวานจะก่อให้เกิดปัญหาทางด้านครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ เพราะโรคเบาหวานเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลให้เกิดความพิการทางด้านร่างกายและส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ รายได้ของผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งประชากรไทยทุกๆ 100 คนจะมีผู้เป็นเบาหวานถึง 6 คน และประมาณว่าร้อยละ 9.6 ของประชากรที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปในประเทศไทยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ร้อยละ 95 จากรายงานของสำนักนโยบายและแผนสาธารณสุขในปี 2542-2546 พบสาเหตุการตายด้วยโรคเบาหวานมีอัตราร้อยละ 11.4 ,12.2,13.2,11.8 และ 10.4 ตามลำดับ  โรคแทรกซ้อนของเบาหวานมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของการเป็นโรคเบาหวาน กล่าวคือ ยิ่งเป็นเบาหวานนานเท่าใดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนก็จะมากขึ้นเท่านั้น ผู้ที่เป็นเบาหวานนาน 12 ปี และ 20 ปี มีโอกาสเกิดโรคสมองตีบมากกว่าคนปกติ 2 และ 2.2 เท่าตามลำดับ และจากการศึกษาภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานของสมาคมโรคเบาหวานในประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 1999 พบว่า โรคเบาหวานเป็นสาเหตุการตายมากถึงร้อยละ 2.3 และเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ เช่นร้อยละ 19 การเกิดภาวะแทรกซ้อนทางตา ร้อยละ 48 เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม ร้อยละ 34 เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและร้อยละ 32 เกิดโรคหลอดเลือดส่วนปลาย และพบว่า โรคเบาหวานทำให้สิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากกว่าคนปกติถึง 3 เท่า จากการดำเนินงานคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาชุมแสงพบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งในปี 2556 มีผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.72 ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาชุมแสง ได้ดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาโดยตลอด จึงทำให้ในปีงบประมาณ 2557 พบผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ร้อยละ 3.87 ซึ่งลดลง จากข้อมูลการประชาคมและวิเคราะห์ข้อมูลบ้านนาชุมแสง หมู่ที่ 6 เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโรคเบาหวาน โดยมีข้อมูลกลุ่มเสี่ยงเบาหวานจำนวน 35 ราย และผู้ป่วยจำนวน 33 คน ดังนั้นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาชุมแสง จึงได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย คือ นวัตกรรม ”สามใบเถาจับเข่าดูแลกัน ในหมู่บ้านต้นแบบเบาหวาน หมู่บ้านนาชุมแสง หมู่ที่ 6” โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย อสม.นักจัดการสุขภาพ กลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยเบาหวาน ดูแลกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวัตถุประสงค์ 1.เพื่อลดกลุ่มเสี่ยงไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ 2.เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน กลุ่มเป้าหมาย 1.อสม.นักจัดการสุขภาพ จำนวน 24 คน 2.กลุ่มเสี่ยงเบาหวาน จำนวน 35 คน 3.ผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 33 คน ระยะะเวลาการดำเนินงาน ตุลาคม 2556 กันยายน 2557 วิธีการดำเนินงาน ขั้นเตรียมการ 1.ประชุมชี้แจงผู้ที่เกี่ยวข้อง 2.จัดประชาคมหมู่บ้านเพื่อหาปัญหาในชุมชนและจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย 3.เลือกหมู่บ้านต้นแบบในการแก้ไขปัญหา โดยเลือกจากการสมัครใจของผู้เข้าร่วมโครงการ กลวิธีดำเนินการ 1.อบรม อสม.นักจัดการสุขภาพ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วยเบาหวาน โดยจัดกลุ่มเป็นสามใบเถาจับเข่าดูแลกัน 2.จัดอบรม จิตอาสาในการนวดเท้าผู้ป่วยเบาหวาน หมู่บ้านละ 2 คนโดยจัดอบรมที่รพ.ทุ่งฝน 3.จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สู้ภัยเบาหวานขึ้นเพื่อดำเนินงานเดือนละ 1 ครั้ง โดยมีกิจกรรมดังนี้ - แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มคือ อสม. กลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยเบาหวาน - จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการโรคเบาหวานและอาการแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องโดยเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ร่วมกับจิตอาสา - จัดกิจกรรมบริหารร่างกายโดยการแพทย์แผนไทย เช่น ท่าฤาษีดัดตน การนวดเท้าด้วยตนเอง - จัดกิจกรรมนวดเท้าเบาหวานโดย จิตอาสาที่ได้รับการอบรมนวดแผนไทย 4. สรุปผลการดำเนินงานตามโครงการ สรุปผลการดำเนินงาน พบผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.86 กลุ่มเสี่ยงมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงค่าปกติคือ ต่ำกว่า 100 mg% จำนวน 25 ราย คิดเป็นร้อยละ 71.42 กลุ่มเสี่ยงมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงแต่ไม่ถึงค่าปกติ จำนวน 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 และกลุ่มเสี่ยงที่มีระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากเดิม จำนวน 3 คน คิดเป็นร้อยละ 8.57 เข้ารับการรักษาที่คลินิกปฏิเสธการรักษาที่โรงพยาบาล ผลการดำเนินงานติดตามภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานระหว่างเดือนมิถุนายน -กันยายน 2557 พบว่าผู้ป่วยเบาหวานมีระดับการทำงานของไตคงที่ คือ ระดับ 1 จำนวน 3 คน ระดับที่ 2 จำนวน 14 คน ระดับที่ 3 จำนวน 8 คน ระดับที่ 4 จำนวน 1 คน และระดับที่ 5 ไม่มี ผลการตรวจเท้าพบว่า ระดับต่ำ จำนวน 28 คน ระดับกลาง จำนวน 4 คน ระดับสูง จำนวน 1 คน และระดับสูงมากไม่มี ผลการตรวจตาพบว่า ปกติจำนวน 29 คน ผิดปกติ จำนวน 4 คนซึ่งได้รับการส่งต่อร้อยละ 100

 


Last Updated on Thursday, 29 October 2015 03:22