การพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงดี ตำบลโนนทอง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี

Thursday, 29 October 2015 04:29 ann
Print

นางสาววายุภักดิ์ ธรรมสงฆ์, นายชัยสิทธิ์ นามีผล และนางวัฒนา  นามีผล

รพ.สต.เชียงดี  ตำบลโนนทอง

ที่มา และความสำคัญ การดำเนินงานคลินิกในปีงบประมาณที่ผ่านมาของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงดีจะตรวจรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ถูกส่งต่อมารับการรักษาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงดีและเป็นผู้ป่วยที่สามารถควบคุมความดันโลหิตสูงได้ดีทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง (วันพฤหัสบดี)  ปัญหาที่พบสำหรับเจ้าหน้าที่คือผู้ป่วยขาดนัดมาไม่ตรงกับวันเวลาที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขนัด เนื่องจากมาสัปดาห์ไหนก็สามารถรับยาได้ทำให้ไม่เป็นระเบียบในระบบการให้บริการ  ปีงบประมาณ 2558 เกิดการพัฒนาระบบการให้บริการของเครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรังของอำเภอนายูงคือมีทีมสหวิชาชีพร่วมออกหน่วยเคลื่อนที่คลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งการลดจำนวนการให้บริการคลินิกโรเรื้อรังลงจากทุกสัปดาห์เป็นเดือนละ 1 ครั้ง เหตุผลเนื่องจากการเตรียมอุปกรณ์ , เวชภัณฑ์ ที่ใช้รวมถึงข้อจำกัดด้านบุคลากรของทีมสหวิชาชีพอำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานีมีบุคลากรจำนวนน้อยจำนวนวันและเวลาที่ทีมสหวิชาชีพชีพออกหน่วยตรวจโรคให้บริการจึงมีเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังเดือนละ 1 ครั้ง ทำให้ผู้มาใช้บริการรอนาน คุณภาพการบริการอาจจะลดลงด้วย” ในส่วนของผู้มาใช้บริการในคลินิก พบว่า  “รพ.สต. ให้บริการเดือนละ 1 ครั้ง ทำให้รอนานไม่สะดวกเหมือนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพราะถ้าหากไม่มาตามนัด อีกสัปดาห์ก็สามารถมารับยาได้ หรือไม่เช่นนั้นก็รออีกสัปดาห์ก็ได้” และจากการสังเกต พบว่า เมื่อปรับเปลี่ยนเวลาการให้บริการเป็นเดือนละ 1 ครั้ง ญาติหรือผู้ป่วยบางคนมีความรู้สึกไม่พึงพอใจต่อการให้บริการเพราะรอนาน บางคนรอไม่ได้รับการตรวจวัดความดันโลหิต เบาหวาน ก็กลับบ้านโดยไม่รอพบแพทย์ และร่วมกิจกรรมการให้ความรู้ ในขณะที่ให้บริการสัปดาห์ละ 1 ครั้งผู้รับบริการไม่มีอาการดังกล่าว แต่ผู้รับบริการอยากมาเวลาใดก็มา ไม่เป็นระเบียบ บุคลากรที่ให้บริการไม่สามารถทำงานอื่นได้ ต้องรอให้บริการเท่านั้น แต่ข้อดีของการให้บริการสัปดาห์ละ 1 ครั้ง คือสามารถให้คำแนะนำผู้ป่วย ในการปฏิบัติตน การรับประทานยา หรือการคัดแยกปิงปองจราจรเจ็ดสีได้ง่ายเนื่องจากมีผู้ป่วยมารับบริการจำนวนน้อยคนเจ้าหน้าที่สามารถให้คำแนะนำและดูแลได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นผู้วิจัยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการจึงเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ทำการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งรูปแบบการวิจัยที่นำมาประยุกต์ใช้ในครั้งนี้ คือการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ซึ่งเป็นการวิจัยที่มีกระบวนการปฏิบัติอย่างมีระบบ ผู้วิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการปฏิบัติการ และวิเคราะห์วิจารณ์ผลการปฏิบัติ โดยการใช้วงจร 4 ขั้นตอน คือ การวางแผน การปฏิบัติ การสังเกต การสะท้อนผล เพื่อร่วมกันปรับปรุง แก้ไขในส่วนที่บกพร่องนั้น ต่อจากนั้นนำมาปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการ แล้วศึกษาผลของการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  อันจะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการเพื่อความพึงพอใจของผู้รับบริการในคลินิกและการปฏิบัติงานอย่างมีความสุขในการให้บริการต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ระเบียบวิธีวิจัย เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการแก่ผู้รับบริการในคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีมารับบริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงดี อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี จำนวน 113 คน ในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งมีเกณฑ์ในการคัดเลือกดังนี้ (1) ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ให้ความร่วมมือ วิธีการศึกษา ผู้วิจัยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research : AR) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังก่อนและหลังการพัฒนาระบบ ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขเก็บข้อมูลตามแบบสอบถามประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่ แบบบันทึกระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการให้บริการในแต่ละจุดบริการในคลินิกโรคเรื้อรัง แบบสังเกตพฤติกรรมและความพึงพอใจของผู้รับบริการและผู้ให้บริการ และเก็บข้อมูลจากตั้วชี้วัดการควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตสูงได้ดี ระยะเวลาดำเนินการ ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 ถึงมีนาคม 2558 วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้โรแกรม SPSS หาค่าเฉลี่ย ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเปรียบเทียบก่อนและหลังการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงดี อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี ในช่วงเวลาที่กำหนด ผลการศึกษา การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเชียงดี ตำบลเชียงดี อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research : AR) ซึ่งมีขั้นตอน การดำเนินงาน 4 ขั้นตอน คือ ขั้นการวางแผน ขั้นการปฏิบัติ ขั้นการสังเกต และขั้นการสะท้อนผล โดยได้ข้อค้นพบจากการวิจัยดังนี้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงดีพบว่า ระบบการให้บริการในแต่ละจุดบริการทั้ง 4 จุด โดยเริ่มให้บริการเวลา 06.30 น.ได้แก่ จุดบริการที่ 1 (ค้นหาแฟ้มประวัติ, ชั่งน้ำหนัก,วัดส่วนสูง,วัดรอบเอว, วัดความดัน,เจาะเบาหวาน (ในกรณีผู้ป่วยเบาหวาน) จุดบริการที่ 2 (ซักประวัติ,นำเข้าข้อมูลผู้ป่วยที่มารับบริการ) จุดบริการที่ 3 (พบแพทย์) และจุดบริการที่ 4 (รับยา, ให้คำแนะนำ, นัด) มีปัญหาเรื่องของบุคลากรไม่เพียงพอ และการให้บริการยังก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจในประชาชนบางส่วน สิ้นสุดการให้บริการทุกจุดทุกคน เวลา 14.00 น. ดังนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยนจำนวนคนการให้บริการ และปรับเปลี่ยนกลวิธีในจุดบริการที่ 1 และจุดบริการที่ 2 กล่าวคือ ปรับเปลี่ยนเวลาให้บริการโดยเริ่มให้บริการเวลา 05.30 น. จุดบริการที่ 1 (ค้นหาแฟ้มประวัติ, ชั่งน้ำหนัก,วัดส่วนสูง,วัดรอบเอว, วัดความดัน,เจาะเบาหวาน (ในกรณีผู้ป่วยเบาหวาน) และให้ความรู้คัดแยกปิงปองจราจรเจ็ดสีผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตและเบาหวานปกติ สามารถนำเข้าข้อมูลที่จุดรับบริการผู้ป่วยจุด 2 และรับยา ให้คำแนะนำรับยา วันนัดกลับบ้านได้ ส่วนผู้ป่วยที่ไม่สามรถควบคุมความดันโลหิตและเบาหวานได้ให้รอพบแพทย์ที่ จุดบริการที่ 3 และรับยาที่จุดบริการ 4 ตามลำดับโดยสิ้นสุดการให้บริการหลังพัฒนาระบบเวลา 11.30 น. ลดระยะเวลาลงจากจากการก่อนการพัฒนาระบบเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง สรุปผลการศึกษา ระยะเวลาที่ใช้ในการให้บริการและการรอคอยแต่ละจุดบริการ พบว่า จุดบริการที่ 1 ก่อนการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคใช้เวลาเฉลี่ย=52.54, S.D.= 39.41 รวมใช้เวลาเกือบ 160 นาที หลังการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังใช้เวลาเฉลี่ย=29.91, S.D.= 22.66 รวมใช้เวลา 120 นาที ลดลง 40 นาที จุดบริการที่ 2 ก่อนการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังใช้เวลาเฉลี่ย=13.6, S.D.= 7.19 ใช้เวลามากประมาณ 33 นาที หลังการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังใช้เวลาเฉลี่ย=2.28, S.D.= 0.96 ใช้ระยะเวลาไม่มากนักโดยผู้ที่มากสุดประมาณ 5 นาทีมีไม่กี่คนเท่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของเวลาก่อนและหลังพัฒนาระบบลดลงอย่างเห็นได้ชัด จุดบริการที่ 3 (พบแพทย์) ก่อนการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังเมื่อพิจารณาระยะเวลาที่ใช้เฉลี่ย=7.33, S.D.= 5.75 โดยใช้ระยะเวลามากสุดประมาณ 30 นาที หลังการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังใช้เวลาเฉลี่ย=9.42, S.D.= 4.31 โดยผู้ที่มากสุดประมาณ 20 นาที จุดบริการที่ 4 ก่อนการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังเมื่อพิจารณาระยะเวลาที่ใช้เฉลี่ย=8.08, S.D.= 5.42 โดยใช้ระยะเวลามากสุดประมาณ 33 นาที หลังการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังใช้เวลา เฉลี่ย=6.44, S.D.= 4.36 รวมใช้เวลามากสุด 20 นาที ซึ่งความแตกต่างของการรอคอยค่อนข้างน้อยหรือพอ ๆ กับก่อนการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผลการศึกษาความพึงพอใจ พบว่า ผู้รับบริการคลินิกโรคเรื้อรังก่อนการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากร้อยละ 63.5 รองลงมาระดับมากที่สุด ร้อยละ 23.8 และระดับปานกลาง ร้อยละ 12.7 และหลังการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดร้อยละ 88.4 รองลงมาระดับมาก ร้อยละ 11.6 ผลทางด้านตัวชี้วัดผู้ป่วยมีระดับการควบคุมความดันโลหิตได้ดีเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.18 ระดับการควบคุมน้ำตาลได้ดีเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.75