การสร้างเสริมพลังอำนาจในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ รพ.สต.หนองแวง ต.ไชยวาน อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี ปี 2557

Monday, 02 November 2015 03:56 ann
Print

นางสาวกนกพร  ร่มวาปี

รพ.สต.หนองแคน   อำเภอไชยวาน

ที่มาและความสำคัญ อัตราป่วยด้วยโรคเบาหวานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแวง ในปีงบประมาณ 2555-2557  จำนวน 58, 73, 86 คน ตามลำดับ (ข้อมูล ณ มีนาคม 2557) และมีผู้ป่วยที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล จำนวน 38, 48, 56 ตามลำดับ (ข้อมูล ณ มีนาคม 2557) คน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ใน จำนวน 20, 25, 30 คน ตามลำดับ(ข้อมูล ณ มีนาคม 2557) และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการสอบถามเบื้องต้นผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ พบว่าส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องโรคเบาหวานและการปฏิบัติตัวเพื่อดูแลตนเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการกับความเครียดทั้งที่ผ่านมาผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมดเคยได้รับความรู้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ทางสุขภาพมาแล้วแต่การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยนั้นส่วนใหญ่จะใช้วิธีการบรรยายเป็นหลักทำให้ผู้ป่วยขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่จะดูแลสุขภาพตนเอง  จากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า ถ้าผู้ป่วยมีความเชื่อในความสามารถของตนเองสูงและเมื่อทำแล้วจะได้ผลตามที่คาดหวังไว้บุคคลนั้นก็จะมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจ (Empowerment) ในตัวผู้ป่วยเบาหวานโดยใช้การสนมนากลุ่มนับเป็นวิธีที่จะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยพร้อมที่จะเรียนรู้ในการดูแลตนเอง เนื่องจากกระบวนการกลุ่มเป็นการให้ความรู้แบบมีส่วนร่วมซึ่งผู้ป่วยทุกคนมีโอกาสจะแสดงความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้รับฟังความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น ได้เรียนรู้ถึงการดูแลตนเองจากประสบการณ์โดยตรงที่ผู้ประสบความสำเร็จใช้ในการดูแลตนเอง ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการกระทำนั้นๆมีผลให้เกิดการดูแลตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ วัตถุประสงค์ 1.เพื่อศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานหลังการเสริมสร้างพลังอำนาจ ในการควบคุมโรคแก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยการใช้กระบวนการกลุ่ม 2. เพื่อศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานหลังการเสริมสร้างพลังอำนาจในการควบคุมโรคแก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยการใช้กระบวนการกลุ่ม 3. เพื่อศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานหลังการเสริมสร้างพลังอำนาจในการควบคุมโรคแก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยการใช้กระบวนการกลุ่ม ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง(Quasi-Experimental Research)ใช้กลุ่มทดลองกลุ่มเดิม ในการเปรียบเทียบ วัดก่อนและหลังการทดลองโดยการใช้กระบวนการกลุ่มที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ประชากรที่ใช้ในการศึกษา เป็นผู้ป่วยที่มารับบริการในคลินิกโรคเบาหวานที่มารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแวง กลุ่มตัวอย่าง ผู้ป่วยเบาหวาน DTX (Dextrostix) มากกว่าหรือเท่ากับ 126 mg/dl ไม่มีภาวะแทรกซ้อนโดยการคัดเลือดแบบเจาะจง (Purposive sampling) มีประชากรที่เป็นไปตามเกณฑ์กำหนด และยินดีเข้าร่วมกระบวนการกลุ่มด้วยความสมัครใจ จำนวน 30 คน จากกลุ่มประชากรทั้งหมด 86 คนและผู้วิจัยใช้จำนวนของกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบเป็นกลุ่มเดียวกัน ระยะเวลาที่ใช้ ต.ค.2556-มี.ค.2557 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการจัดกิจกรรม ได้แก่กระบวนการกลุ่มโดยประยุกต์จากทฤษฎีการเสริมพลังอำนาจ ประกอบด้วย กิจกรรมกลุ่ม การชมวีดิทัศน์ การเรียนรู้จากตัวแบบอย่างที่ดี การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และผู้วิจัยให้ความรู้เพิ่มเติมคู่มือการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถาม ประกอบด้วย 3 ส่วน คือส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนที่ 2แบบสอบถามเกี่ยวกับความรู้เรื่องโรคเบาหวาน ส่วนที่ 3 แบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน การตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ ผู้ศึกษาได้สร้างเครื่องมือโดยการศึกษาแนวคิดจาก เอกสารตำราที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานและการศึกษาพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานในเขตบริการโรงพยาบาลสงขลา แล้วนำมาปรับปรุงเนื้อหาและข้อคำถามในแนวทางสัมภาษณ์เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ก่อนนำไปเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมาย ขั้นตอนการทดลอง 1.ระยะก่อนการทดลอง 1) ผู้วิจัยขออนุมัติทำการศึกษาวิจัยโดยทำหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแวง อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี 2) พิจารณากลุ่มตัวอย่างที่จะเข้าร่วมการศึกษาวิจัยโดยเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนด 3) แจ้งผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเพื่อขอความร่วมมือและความสมัครใจที่จะเข้าร่วมการวิจัย 4) เก็บข้อมูลก่อนการทดลองเพื่อเปรียบเทียบหลังการทดลอง 2. ระยะดำเนินการทดลองให้ความรู้โดยการใช้การเสริมพลังอำนาจโดยการใช้กระบวนการกลุ่มตามกรอบแนวคิดที่กำหนด 3. ระยะหลังการทดลองดำเนินการเก็บข้อมูลหลังการทดลองเพื่อบันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป การเก็บรวบรวมข้อมูล ในการเก็บข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณเก็บข้อมูลจากแบบบันทึกข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยเบาหวานและแบบสอบถามวัดความรู้เรื่องโรคเบาหวาน แบบสอบถามพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งมีการเก็บข้อมูล 2 ครั้งก่อนการทดลองและหลังการทดลอง ผลการศึกษา พบว่า หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีระดับคะแนนเฉลี่ยเรื่องโรคเบาหวาน การปฏิบัติตัวในการดูแลตนเอง สูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลของการเปลี่ยนแปลงคะแนนเฉลี่ยความรู้เรื่องโรคเบาหวาน และการปฏิบัติตัวในการดูแลตนเอง เป็นผลจากการได้รับกระบวนการกลุ่มในการส่งเสริมการดูแลตนเองโดยการประยุกต์ใช้ทฤษฏีการเสริมสร้างพลังอำนาจและกระบวนการกลุ่ม มาเป็นกรอบการจัดกิจกรรมโดยมีกิจกรรมการฝึกออกกำลังกายกิจกรรมการชม วีดิทัศน์เพื่อให้เห็นสภาพปัญหาที่กำลังเผชิญ และ ให้กลุ่มตัวอย่างคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ ผู้วิจัยบรรยายเพิ่มเติม การให้คู่มือเกี่ยวกับโรคเบาหวาน การจัดการความเครียดในกลุ่มผู้ป่วยโดยผู้วิจัยสรุปและเพิ่มเติมเนื้อหาที่ ซึ่งวิธีการเหล่านี้สามารถพัฒนาความรู้เรื่องเบาหวานได้ดี เป็นผลให้กลุ่มทดลองมีความรู้เรื่องโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การมีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของช่อผกา (2550) ได้ศึกษาผลของการพยาบาลระบบสนับสนุนและให้ความรู้ต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองและพฤติกรรมการดูแลบุคคลที่พึ่งพาในผู้ป่วยเบาหวาน ที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลภูกระดึง ผลการศึกษาพบว่า1)หลังการทดลองผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการพยาบาลระบบสนับสนุนและให้ความรู้มีค่าคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานสูงกว่าก่อนได้รับการพยาบาลระบบสนับสนุนและให้ความรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p <0.001 และสอดคล้องกับการศึกษาของจุฑารัตน์ (2548) ได้ศึกษาผลโปรแกรมการส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในโรงพยาบาลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี โดยการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ จำนวน 36 คนแบ่งเป็นกลุ่มทดลองจำนวน 18 คนและกลุ่มควบคุมจำนวน 18 คน ผลการวิจัยสรุปว่าภายหลังการทดลองกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ย การรับรู้ในความสามารถตนเองในการดูแลตนเองเรื่องการควบคุมน้ำหนักและการมารับบริการตรวจตามนัด ความคาดหวังในผลลัพธ์ในการดูแลตนเองเรื่องการควบคุมน้ำหนักและการมารับบริการตรวจตามนัด การปฏิบัติตัวในการดูแลตนเองในด้านการควบคุมน้ำหนักและการมารับบริการตรวจตามนัดมากกว่าก่อนทดลอง และมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p-value<0.05) จากการศึกษา พบว่าภายหลังการทดลอง พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p>0.05 ร้อยละ 60 ทั้งนี้อาจเป็นช่วงของระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาปีงบประมาณ 2556 สั้นเกินไปจึงทำให้ DTX นั้นไม่เป็นไปตามสมมติฐานข้อที่ 3 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ ศรีสุพรรณ (2544) ได้ศึกษาผลของการพัฒนาศักยภาพในการดูแลตนเองต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองและระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยความแตกต่างของคะแนนการปฏิบัติตนในการดูแลสุขภาพตนเองก่อนและหลังการทดลอง แตกต่างจากค่าคะแนนของกลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ (p < 0.001) ส่วนผลการวิจัยต่อระดับน้ำตาลในเลือดนั้น พบว่ากลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยความแตกต่างของระดับน้ำตาลในเลือดก่อนและหลังการทดลอง ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ