การศึกษาความรู้ ทัศนคติ ที่มีต่อพฤติกรรมการตรวจมะเร็งปากมดลูกของสตรี อายุ 30 – 60 ปี ในพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านธาตุ ตำบลหายโศก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

Monday, 02 November 2015 04:00 ann
Print

นางสาวนิภาภรณ์ สอนโพธิ์ นายพิเชษฐ์ พรหมทะสาร นางสาวพิมลรัตน์ แพงโสม และนายสุพจน์ โคคา

รพ.สต.บ้านธาตุ  อำเภอบ้านผือ

ที่มาและความสำคัญ มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา พบในสตรีตั้งแต่วัยสาวจนถึงวัยชรา พบมากในช่วงอายุ 30 – 50 ปี ในแต่ละปีผู้หญิงทั่วโลกป่วยด้วยมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นปีละ 500,000 คน เสียชีวิตปีละ 200,000 คน ซึ่งประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกทั้งหมดเป็นประเทศกำลังพัฒนา สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับหนึ่ง และมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดคือ มะเร็งปากมดลูก จากรายงานสถานการณ์การป่วยรายใหม่จากมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ. 2552 พบว่าพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง มีอัตราการป่วยรายใหม่ ประมาณ 1,400 ราย ต่อปี โดยจะเห็นได้ว่าอัตราการป่วยจากโรคมะเร็งปากมดลูกมีแนวโน้มลดลงจากเดิมเพียงเล็กน้อย โดยในแต่ละปีนั้นมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ประมาณ 10,000 คน หรือ คิดเฉลี่ยเป็นวันละประมาณ 27 คน (ศูนย์อนามัยที่ 5,2555) จากรายงานสถานการณ์การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยกรมอนามัยการทรวงสาธารณสุขความครอบคลุมการคัดกรองในกลุ่มอายุ 30 – 60 ปี พ.ศ. 2547 – 2545 อยู่ที่ร้อยละ 48.5 – 60.2 จะเห็นได้ว่ามีความครอบคลุมอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก ทางกระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นความสำคัญ ได้มีนโยบายและจัดการรณรงค์ในการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ จังหวัดอุดรธานี พบอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ 4 ของประเทศ นโยบายของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ได้กำหนดให้สตรีกลุ่มเป้าหมายได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อย ร้อยละ 80 และจากข้อมูลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการทำ Pap Smear ในสตรีกลุ่มเป้าหมาย   ในปี 2548 - 2550 ของจังหวัดอุดรธานี พบว่า มีผู้มารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เท่ากับ 84.8, 82.7 และ 63.7 ตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มลดลง และต่ำกว่าเป้าหมายที่จังหวัดกำหนดไว้  ทำให้สตรีส่วนใหญ่ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากไม่ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การที่สตรีส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญหรือไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกนั้นน่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน เช่น ด้านความรู้ ทัศนคติ ความเชื่อ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาความรู้ ทัศนคติที่มีผลต่อพฤติกรรมการตรวจมะเร็งปากมดลูกของสตรีอายุ 30 – 60 ปี ในพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านธาตุ ตำบลหายโศก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้มาใช้ในการวางแผนการดำเนินงานคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาลักษณะทางประชากร ได้แก่ อายุ สถานะภาพ การศึกษา อาชีพ รายได้ ประวัติการตั้งครรภ์ จำนวนบุตร ประวัติการคุมกำเนิด ประวัติการเป็นมะเร็งของคนในครอบครัว ประวัติการตรวจมะเร็ง และการได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่องมะเร็งปากมดลูกของสตรี อายุ 30 – 60 ปี 2) เพื่อศึกษาระดับความรู้เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูกของสตรีอายุ 30 – 60 ปี 3) เพื่อศึกษาทัศนคติต่อโรคมะเร็งปากมดลูกของสตรีอายุ 30 – 60 ปี ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา เพื่อศึกษาความรู้ ทัศนคติ ที่มีผลต่อพฤติกรรมการตรวจมะเร็งปากมดลูกของสตรี อายุ 30 – 60 ปี ในพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านธาตุ ตำบลหายโศก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ สตรีอายุ 30 – 60 ปี ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่ 2, 4, 8, 9, 11, 13และ 14 ตำบลหายโศก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 921 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นสตรีอายุ 30 – 60 ปี ที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านธาตุ มีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่ 2, 4, 8, 9, 11, 13 และ 14 ตำบลหายโศก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี โดยใช้สูตรในกรณีที่ทราบจำนวนประชากร (Daniel. 1995) จำนวน 162 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็น แบบสัมภาษณ์ ประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ได้แก่ อายุ สถานภาพการสมรส การศึกษา อาชีพ รายได้ ประวัติการตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด การรับรู้ข่าวสาร การตรวจมะเร็งปากมดลูก สาเหตุการไปตรวจมะเร็งปากมดลูก ส่วนที่ 2 แบบสอบถามความรู้เรื่องโรคมะเร็ง จำนวน 13 ข้อ โดยผู้ตอบสามารถเลือกตอบได้ 1 ข้อ คำตอบที่ถูกจะได้ 1 คะแนน คำตอบที่ผิดจะได้ 0 คะแนน คะแนนความรู้เป็นคะแนนรวมมีค่าต่ำสุดเท่ากับ 0 คะแนนและมีค่าสูงสุด 13 คะแนน ผู้วิจัยได้กำหนดระดับความรู้ของกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้เกณฑ์ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในการแบ่งระดับของคะแนนความรู้ออกเป็นดังนี้ มากกว่า x + SD หรือ ได้คะแนนร้อยละ 80 ขึ้นไป (11 - 13 ข้อ) มีความรู้ระดับดี อยู่ระหว่าง x ± SD หรือ ได้คะแนนร้อยละ 60–79.9 (7 - 10 ข้อ) มีความรู้ระดับปานกลาง น้อยกว่า x – SD หรือ ได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 60 (1 - 6 ข้อ) มีความรู้ระดับต่ำส่วนที่ 3 ทัศนคติต่อโรคมะเร็งปากมดลูก ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ ด้านการเกิดโรค ด้านการป้องกันโรค และด้านการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก จำนวน 14 ข้อ เป็นคำถามเชิงบวก 8 ข้อ คำถามเชิงลบ 6 ข้อ ลักษณะคำตอบเป็นการประเมินค่าความคิดเห็นแบ่งเป็น 3 ระดับ คือเห็นด้วย ไม่แน่ใจ และไม่เห็นด้วย โดยใช้เกณฑ์การประเมินผล มีค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 1.00 – 3.00 โดยคะแนนเฉลี่ย 2.34 – 3.00 อยู่ในระดับดี 1.67 – 2.33 อยู่ในระดับปานกลาง 1.00 – 1.66 อยู่ในระดับไม่ดี หาค่าความเชื่อมั่นโดยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของ Cronbrach (Cronbrach’s alpha Coefficient) ได้เท่ากับ 0.73 ระยะเวลาการเก็บข้อมูล ตุลาคม 2556 – มีนาคม 2557 การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และวิเคราะห์ข้อมูลหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร โดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ไคว์สแควร์ ผลการศึกษา ส่วนที่ 1 ด้านข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม จากการศึกษา พบว่าสตรีกลุ่มเป้าหมายอายุ 30 – 60 ปี จำนวน 162 คน ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 48 – 53 ปี ร้อยละ 30.2 อายุน้อยสุด 30 ปี และอายุมากที่สุด 60 ปี สถานภาพแต่งงานและยังอยู่ด้วยกัน ร้อยละ 90.1 มีเพียง ร้อยละ 5.6 ที่เป็นหม้าย การศึกษาระดับประถมศึกษามากที่สุด ร้อยละ 66.7 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 71.6 อาชีพรับราชการ/รัฐวิสาหกิจน้อยที่สุดเพียง ร้อยละ 1.2 ส่วนใหญ่มีรายได้ 10,001 – 15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 45.1 รองลงมาคือ 15,001 – 200,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 28.4 และมีรายได้ มากกว่า 25,000 บาทต่อเดือน น้อยที่สุด ร้อยละ 4.3 ประวัติการตั้งครรภ์ เคยตั้งครรภ์ ร้อยละ 99.4 คลอดปกติ จำนวน 2 ครั้ง ร้อยละ 54.3การแท้ง ไม่เคยแท้ง ร้อยละ 88.3 เคยแท้ง 1 ครั้ง ร้อยละ 8.0 ไม่เคยคลอดโดยใช้เครื่องมือ ร้อยละ 97.5 คลอดโดยใช้เครื่องมือ ร้อยละ 2.5 คลอดโดยการผ่า 1 ครั้ง ร้อยละ 1.9 และ2 ครั้ง ร้อยละ 1.9 จำนวนบุตรมีชีวิตมากที่สุด 2 คน ร้อยละ 59.9 กลุ่มเป้าหมายมีประวัติเคยคุมกำเนิด ร้อยละ 96.9 การคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือการทำหมัน ร้อยละ59.9 และบุคคลในครอบครัวไม่มีประวัติเป็นมะเร็งปากมดลูก ร้อยละ 99.4 ด้านการได้รับข้อมูลข่าวสารจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มากที่สุด ร้อยละ 96.3 และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.4 ไม่เคยรับการตรวจมะเร็งปากมดลูก และมีร้อยละ 79.6 ที่เคยรับการตรวจมะเร็งปากมดลูก โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างไม่ไปรับการตรวจมะเร็งปากมดลูก คือ ไม่มีอาการผิดปกติ ร้อยละ 90.9 ในกลุ่มตัวอย่างที่เคยรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่จะไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมากที่สุด ร้อยละ 74.4 สาเหตุที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างไปรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกมากที่สุดคือ กลัวเป็นมะเร็งปากมดลูกจึงไปตรวจ ร้อยละ 80.6 ครั้งสุดท้ายที่ไปรับการตรวจผ่านมาแล้ว 1 ปี มากที่สุด ร้อยละ 63.6 รองลงมาคือ ไปรับการตรวจผ่าน 2 ปี ร้อยละ 27.9 ผลการวิเคราะห์ร้อยละของคำตอบที่ถูกต้องในเรื่องความรู้เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูกของกลุ่มตัวอย่าง รายข้อ พบว่า ข้อที่กลุ่มตัวอย่างตอบถูกมกที่สุด คือ ข้อ 5 “ตรวจแป็ปสเมียร์สามรถค้นพบมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกได้” ตอบถูกร้อยละ 94.4 รองลงมาคือข้อ 11 “ก่อนไปตรวจมะเร็งปากมดลูกควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 24 ชั่วโมง” ตอบถูกร้อยละ 89.5 ส่วนข้อที่ตอบถูกน้อยที่สุดคือ ข้อ 7 “ควรสวนล้างช่องคลอดก่อนไปตรวจมะเร็งปากมดลูก” ตอบถูกร้อยละ 49.4 รองลงมาคือข้อ 13 “ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดเป็นประจำจะไม่เป็นมะเร็งปากมดลูก” ตอบถูกร้อยละ 53.7 จำนวนและร้อยละของกลุ่มตัวอย่างจำแนกตามระดับความรู้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องมะเร็งปากมดลูกในระดับปานกลาง ร้อยละ 69.14 ด้านทัศนคติต่อการตรวจมะเร็งปากมดลูก พบว่าคะแนนเฉลี่ยด้านการเกิดมะเร็งปากมดลูก ข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด (x= 2.56) คือ ข้อ 2 การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยและเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆเป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งปากมดลูก ข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำ (x = 1.98) คือข้อ 1 ผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งปกมดลูก ด้านการป้องกันมะเร็งปากมดลูก พบว่า ข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด (x = 2.86) ข้อ 8 สถานีอนามัยสามารถให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ ส่วนข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด (x = 1.56) ข้อ9 ควรสวนล้างช่องคลอดก่อนไปรับการตรวจมะเร็งปากมดลูก ด้านการรักษามะเร็งปากมดลูก ข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด (x = 2.56) คอข้อ 13 ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่อยู่ระหว่างการรักษา หลังการรักษาควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด (x = 2.62) คือข้อ 10 มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สามารถรักษาได้โดยการกินยาแก้อักเสบ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการแปลผลคะแนนทัศนคติ จำแนกรายด้าน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีทัศนคติอยู่ระดับดีทั้ง3 ด้าน คะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือด้านการรักษา (x = 2.69) รองลงมา คือ ด้านการป้องกันมะเร็งปากมดลูก (x = 2.49) และน้อยที่สุด (x = 2.4) คือการเกิดมะเร็งปากมดลูก จำนวนและร้อยละของกลุ่มตัวอย่างจำแนกตามระดับความรู้ รายด้าน พบว่า ด้านการเกิดมะเร็งปากมดลูกกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีทัศนคติในระดับปานกลางมากที่สุด ร้อยละ 53.09 ด้านการป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีทัศนคติในระดับกลางมากที่สุด ร้อยละ 63.58 และด้านการรักษามะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่มีทัศนคติในระดับดีมากที่สุด ร้อยละ 80.87 อภิปรายผลการวิจัย จากการศึกษาความรู้ ทัศนคติ ต่อพฤติกรรมการตรวจมะเร็งปากมดลูก ของสตรีอายุ 30 – 60 ปี ในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านธาตุ ตำบลหายโศก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ในปีงบประมาณ 2557 ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นสตรีที่แต่งงานและมีบุตรแล้ว มีการคุมกำเนิดด้วยการทำหมันมากที่สุด ร้อยละ 59.9 ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ อัญชลี ปลาทอง (2553:37) ที่พบว่าสตรีกลุ่มเป้าหมายที่มารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกคุมกำเนิดด้วยการทำหมัน ร้อยละ 66.9 และส่วนใหญ่ไม่มีญาติป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยสาเหตุที่กลุ่มตัวอย่างไม่ไปรับการตรวจมะเร็งปากมดลูก คือ ไม่มีอาการผิดปกติ ร้อยละ 90.9  ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ วารุณี สุดแสวง (2551:64) ที่พบว่าร้อยละ 70.00 ที่ไม่ไปตรวจเพราะไม่มีอาการผิดปกติใดๆสาเหตุที่ไปตรวจเพราะกลัวเป็นมะเร็งปากมดลูกจึงไปตรวจ ร้อยละ 80.6 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ วารุณี สุดแสง(2551:64) ที่พบว่า ร้อยละ 61.67 ที่ไปตรวจกลัวเป็นมะเร็งปากมดลูก แต่ขัดแย้งกับผลการศึกษาของ ธีระ ศิริสมุดและคณะ (2552:67) ที่ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศที่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างให้เหตุผลว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่อนามัย/โรงพยาบาลแนะนำให้ไปคัดกรอง ร้อยละ 50 รองลงมาร้อยละ 38 ให้เหตุผลว่าต้องการตรวจสุขภาพของตนเอง ตระหนัก และสนใจตรวจ การศึกษาด้านความรู้พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความรู้เรื่องมะเร็งปากมดลูกในระดับกลาง จำนวนร้อยละ 69.14 โดยกลุ่มตัวอย่าง ข้อตอบถูกมากที่สุด คือ การตรวจแป็ปสเมียร์สามารถค้นพบมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกได้ ร้อยละ 94.4 ซึ่งสอดคล้องกันการศึกษาของ เจษฎา ศรีงาน(2547:75) ที่พบว่า ร้อยละ 93.20 ของกลุ่มตัวอย่างมีความรู้เรื่องการตรวจมะเร็งปากมดลูกสามารถค้นพบมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกได้ ด้านทัศนคติด้านการเกิดโรคมีทัศนคติในระดับปานกลาง ส่วนด้านการป้องกันและการรักษามะเร็งปากมดลูกอยู่ในระดับดี