การศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนทอง ตำบลโนนทอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

Monday, 02 November 2015 04:18 ann
Print

นายประชิต  ประทุมชาติ

รพ.สต.บ้านโนนทอง อำเภอบ้านผือ

ที่มาและความสำคัญ : โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศมาร่วม 4 ทศวรรษ มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน จากเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นโรคที่มีความรุนแรงทำให้เด็กป่วยและมีการเสียชีวิตปีละมากๆ และมีการระบาดอยู่ทั่วไป โรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่เกิดกับเด็กวัยก่อนเรียนและวัยเรียน โดยเฉพาะในเด็กประถมศึกษาที่มีอายุตั้งแต่ 4 ถึง 12 ปี ยุงลายอาศัยอยู่ตามบ้านเรือนและบริเวณที่มีน้ำขัง ส่วนมากจะออกหากินในเวลากลางวัน โดยยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกจะออกหากินและกัดเด็กในเวลากลางวัน และวางไข่ในที่มีน้ำขัง เช่น ถังน้ำ โอ่งน้ำ ภาชนะที่ไม่ได้ใช้แล้ว เศษวัสดุเหลือใช้ต่างๆ โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกมีหลายวิธี เช่น การควบคุมป้องกันโรคทางกายภาพ เช่น การทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย ให้เด็กนอนกางมุ้ง การควบคุมป้องกันโรคทางเคมี เช่น การพ่นหมอกควัน การใส่สารกำจัดลูกน้ำยุงลายในการควบคุม การควบคุมและป้องกันโรคทางชีวภาพ เช่น การปล่อยปลากินลูกน้ำ เป็นต้น ในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนทุกคนจะต้องให้ความสำคัญและร่วมมือ จังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกติดต่อกันทุกปี พ.ศ. 2555 พบผู้ป่วยจำนวน 1,750 ราย  คิดเป็นอัตราป่วย 186.19 ต่อแสนประชากร ปี พ.ศ. 2556 พบผู้ป่วยจำนวน 494 ราย อัตราป่วย 52.57 ต่อแสนประชากร และในปี พ.ศ. 2557 พบผู้ป่วย จำนวน 214 ราย คิดเป็นอัตราป่วย  16.18 ต่อแสนประชากร อำเภอบ้านผือ เป็นอีกอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุดรธานีที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2556 พบผู้ป่วย จำนวน 20 ราย อัตราป่วย 16.68 ต่อแสนประชากร, ปี พ.ศ. 2557 พบผู้ป่วย จำนวน 7 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 5.81 ต่อแสนประชากร และจากสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของประชาชนเขตอำเภอบ้านผือ ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา มีบางหมู่บ้านไม่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเลย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนทอง เป็นสถานบริการสาธารณสุขในเขตตำบลโนนทองมีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 7 หมู่บ้าน 1,119 หลังคาเรือน ประชากร 5,412 คน สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลบ้านโนนทอง พบว่า มีอัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในปี 2554 คิดเป็น 35.76 ต่อแสนประชากร ปี 2555 – 2557 ไม่พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกติดต่อกันเป็นเวลาถึง 3 ปี ดังนั้นผู้ทำการศึกษาจึงสนใจที่จะศึกษาถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนทอง เพื่อนำผลการศึกษาไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆต่อไป วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนทอง ตำบลโนนทอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ระเบียบวิธีวิจัย : รูปแบบการศึกษา การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ(Survey Study) โดยการสัมภาษณ์ข้อมูลการมีส่วนร่วมของชุมชนในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนทอง ตำบลโนนทอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 7 หมู่บ้าน ในเดือนมกราคม 2557 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นตัวแทนครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนทอง ตำบลโนนทอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ทั้งหมด 7 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ 1 บ้านคู, หมู่ 2 บ้านดง, หมู่ 3 บ้านโพน, หมู่ 4 บ้านโนนแดง, หมู่ 5 บ้านโนนดู่, หมู่ 6 บ้านโนนทอง, หมู่ 11 บ้านโนนหวาย จำนวน 1,119 หลังคาเรือน กลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาค้นคว้าครั้งนี้เป็นหัวหน้าครัวเรือน หรือจากตัวแทนของครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนทอง ในปี พ.. 2557 จำนวน 168 ครัวเรือน ได้จากการแทนค่าในสูตรของแดเนียล( 2010) สถานที่ หมู่บ้านในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนทอง ตำบลโนนทอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ระยะเวลาการเก็บข้อมูล มกราคม 2557 การวิเคราะห์ข้อมูล ในการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 59.40 อายุระหว่าง 42 – 50 ปี ร้อยละ 37.5 สถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 94.5 ระดับการศึกษาสูงสุด จบระดับประถมศึกษา ร้อยละ 69.1 อาชีพหลัก ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 92.1 มีรายได้เฉลี่ย 1,819.20 บาทต่อเดือน ส่วนผลการศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก พบว่า การควบคุมและป้องกันโรคทางกายภาพ ใช้วิธีคว่ำภาชนะที่มีน้ำขังในบริเวณบ้านมากที่สุด ร้อยละ 100 รองลงมาปรับปรุงบริเวณบ้านไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของยุง ร้อยละ 76.40 มีการล้างภาชนะขังน้ำที่ไม่ใช้ประโยชน์และภาชนะบรรจุน้ำที่ไม่มีฝาปิดมิดชิดทุก 1 สัปดาห์ร้อยละ 83.3 และ 86.9 ตามลำดับ ควบคุมลูกน้ำในโอ่งน้ำดื่มโดยการปิดฝาโอ่งให้มิดชิด ร้อยละ 95.2 กำจัดลูกน้ำในยางรถยนต์โดยการใส่น้ำมันเครื่อง ร้อยละ 64.2 การควบคุมและป้องกันโรคทางชีวภาพทั้งหมดใช้วิธีการปล่อยปลากินลูกน้ำ ร้อยละ 100 โดยปลาที่นิยมปล่อยเพื่อกินลูกลูกน้ำคือปลากระดี่ ร้อยละ 52.1 เพราะมีความทนทานและไม่กระโดดออกจากอ่าง โดยแต่ละครัวเรือนส่วนใหญ่จัดหาปลามาเอง ร้อยละ 67.3 การควบคุมและป้องกันโรคทางเคมี ส่วนใหญ่ใส่ทรายอะเบท ร้อยละ 76.4 รองลงมาคือ พ่นหมอกควัน ร้อยละ 64.2 โดยในการรณรงค์ใส่ทรายอะเบทและพ่นหมอกควัน ทุกครัวเรือนจะร่วมกันทำพร้อมกัน คิดเป็นร้อยละ 100 การสำรวจค่าความชุกลูกน้ำยุงลาย ค่า HI 4.76 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด HI < 4.76 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด HI < 10 สรุปผลการศึกษา : สรุปผลการศึกษาครั้งนี้ได้ว่า กลุ่มตัวอย่างมีส่วนร่วมในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยใช้วิธีทางกายภาพและเคมีผสมผสานกัน แต่จะใช้วิธีทางกายภาพและชีวภาพเป็นหลัก เนื่องจากทำได้ง่ายและลงทุนน้อยสามารถป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออกได้ ดังนั้นจึงควรจัดหาสิ่งสนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนดำเนินงานและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวในการกำจัดลูกน้ำยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออกได้อย่างยั่งยืนต่อไป