ปัจจัยเสี่ยงต่อพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำด้วง ตำบลคำด้วง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

Monday, 02 November 2015 04:26 ann
Print

นายเขื่อนเพชร บุญค่ำ

รพ.สต.คำด้วง  อำเภอบ้านผือ

ที่มาและความสำคัญ โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดียังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การศึกษาทางระบาดวิทยาและในสัตว์ทดลอง แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ เป็นปัจจัยที่เสี่ยงสำคัญ และสามารถป้องกันได้โดยการงดรับประทานปลาดิบจากแหล่งที่มีการระบาดของโรค  ปัจจุบันมะเร็งท่อน้ำดียังคงเป็นมะเร็งอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตชาวอีสาน จากฐานข้อมูลมะเร็ง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยใหม่มะเร็งตับและท่อน้ำดีที่เข้ารับการตรวจรักษามากกว่า 1,200 รายต่อปี และแนวโน้มยังไม่ลดลง หากไม่มีการป้องกันควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับแล้ว โรคมะเร็งท่อน้ำดีก็จะยังเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตประชากรอีสานต่อไป พยาธิใบไม้ตับ( Opisthorchis viverrini )  เป็นปรสิตที่อาศัยอยู่ในท่อทางเดินน้ำดีและถุงน้ำดีในตับ การติดต่อสู่คนเกิดจากการได้รับพยาธิระยะติดต่อที่อยู่ในปลาน้ำจืดกลุ่มปลาตะเพียน โดยการกินปลาเหล่านี้ดิบหรือสุกๆดิบๆ เมื่อพยาธิเติบโตเป็นตัวเต็มวัยในตับจะออกไข่และปะปนออกมากับอุจจาระและปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ หากประชาชนขับถ่ายอุจจาระนอกห้องน้ำ ประกอบกับพยาธินี้เป็นปรสิตในสัตว์หลายชนิด อาทิเช่น แมว สุนัข ดังนั้นจึงทำให้วงจรการแพร่เชื้อของโรคเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จำนวนประชากรที่คาดว่าจะติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับของประเทศไทย คือ 8 ล้านคน และส่วนมากอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประชาชนนิยมกินปลาดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ จึงพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งที่มีอุบัติการณ์มะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุดในประเทศไทยและในโลกเช่นกัน จากสถิติสาเหตุการตาย 5 อันดับตำบลคำด้วง อันดับที่ 1 คือ การตายด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี คิดเป็น 213.47 ต่อแสนประชากร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำด้วง จึงได้จัดทำโครงการเฝ้าระวังป้องกันโรคมะเร็งท่อน้ำดี ปีงบประมาณ 2557 ขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้ความเข้าใจ เรื่องการเกิดโรคและมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดโรค บุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ ตลอดจนชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เห็นความสำคัญและร่วมมือดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาในชุมชนของตนเองต่อไป วัตถุประสงค์ การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดี ระเบียบวิธีวิจัย รูปแบบการศึกษาในครั้งนี้ใช้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ ประชากรในการศึกษาครั้งนี้เป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยงจากการคัดกรองของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำด้วง ปี 2557 จำนวน 850 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบสัมภาษณ์โดยผู้ศึกษาได้นำแบบสัมภาษณ์พฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดีและมะเร็งตับ 3 อ. 2 ส. จากกองสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ดำเนินการรวบรวมข้อมูลจากอาสาสมัครประจำหมู่บ้านของ รพ.สต.คำด้วงตั้งแต่วันที่ 1 - 30 พฤษภาคม 2557 จนครบจำนวน 850 คนโดยให้ อสม. เป็นผู้สัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปคอมพิวเตอร์ และแปรผลข้อมูล ส่วนที่ 1 แบบสอบถามเป็นข้อมูลลักษณะทางประชากร จำนวน 6 ข้อวิเคราะห์โดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด ส่วนที่ 2 เป็นพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย อารมณ์ สูบบุหรี่ การดื่มสุรา ที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดี จำนวน 15 ข้อ วิเคราะห์โดยใช้ค่า ร้อยละ ลักษณะคำถามเป็นแบบปลายปิด 2 ตัวเลือก คือ ใช่ ได้ 0 และไม่ใช่ ได้ 1 โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนดังนี้ การแปรความหมายคะแนนระดับความเสี่ยงแบ่งเป็น 3 ระดับโดยคิดค่าคะแนนจาก(คะแนนสูงสุด-คะแนนต่ำสุด) (Best.1977:174;Daniel1995:19 อ้างในวรพจน์ พรหมสัตยพรต,2544-149) คะแนนมากกว่าระดับร้อยละ 80.00 ขึ้นไป (12-15คะแนน) หมายถึง เสี่ยงน้อย คะแนนมากกว่าระดับร้อยละ 60.00-19.90 (9-11คะแนน) หมายถึง เสี่ยงปานกลาง คะแนนมากกว่าระดับร้อยละ 60.00 ลงมา (1-8 คะแนน) หมายถึง เสี่ยงมาก สรุปผลการศึกษา พบว่า ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดีเขต รพ.สต.คำด้วง พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 55.29 ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 48-58 ปี ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 66.47 ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 81.06 ส่วนใหญ่มีรายได้ต่อครอบครัวต่อเดือน 6,501-8,500 บาท กลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดีมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดีในเรื่องอาหารมากที่สุดคือมีพฤติกรรมกินส้มตำใส่ปลาร้าดิบ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ร้อยละ 95.88 มีพฤติกรรมกินส้มหมูดิบสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ร้อยละ 87.76 รองลงมามีพฤติกรรมกินส้มเนื้อวัวดิบสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ร้อยละ 87.05 และมีพฤติกรรมกินปลาเค็ม ปลาตากแห้งสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ร้อยละ69.15 ด้านพฤติกรรมออกกำลังกายพบว่าไม่เคยออกกำลังกายเลย หรือออกกำลังไม่ถึงวันละ 30 นาที ร้อยละ 78.88 อ.อารมณ์พบว่าเคร่งเครียดกับชีวิตและการงานเป็นประจำ ร้อยละ 63.00 ดื่มสุรา และแอลกอฮอล์พบว่ามีพฤติกรรมดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สัปดาห์ละ1 ครั้ง ร้อยละ 50.00 และสูบบุหรี่ พบว่าสูบบุหรี่ทุกวัน ร้อยละ 41.88