การพัฒนารูปแบบการเพิ่มอัตราหญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์โดยวิธีจิตอาสา อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

Monday, 02 November 2015 07:26 ann
Print

จารุณี   ลี้ปิติกุลชัย และคณะ

รพ.สต.ดงบาก อำเภอหนองหาน

การฝากครรภ์คุณภาพเป็นเป้าหมายหลักของงานฝากครรภ์ในทุกหน่วยงานสาธารณสุข คือ ต้องการให้หญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ (3 เดือน) การได้รับการดูแลตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จะช่วยให้สามารถค้นหาความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เพื่อให้การดูแลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ผลที่ตามมาคือ ครรภ์คุณภาพ ปลอดภัยทั้งมารดาและทารกในครรภ์ เนื่องจากการฝากครรภ์เมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ สามารถป้องกันโรคที่ถ่ายทอดทาง พันธุกรรม เช่น ธาลาสซีเมียได้ หรือป้องกันการถ่ายทอดเชื้อ เอช ไอ วี จากแม่สู่ลูกได้  ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้ทำวิจัยเพื่อการพัฒนารูปแบบงานฝากครรภ์ การเพิ่มอัตราหญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์  12 สัปดาห์ โดยวิธีจิตอาสา เป็นการวิจัยพัฒนาเชิงทดลอง แบบกลุ่มเดียววัดก่อน-หลัง ดำเนินการระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2557–31 มีนาคม 2558 ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ในเขต รพ.สต.ดงบาก จำนวน 14 คน เปรียบเทียบความแตกต่างของผลการดำเนินงานก่อนกับหลังการการใช้รูปแบบใหม่โดยใช้สถิติพรรณนา คือ จำนวน ร้อยละ จากการวิจัยได้มีการพัฒนารูปแบบงานฝากครรภ์ การเพิ่มอัตราหญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ โดยวิธีจิตอาสา มาประยุกต์ได้เป็นรูปแบบใหม่ที่ผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้นมีกระบวนการหลักในการพัฒนาอยู่ 3 กระบวนการ คือ ปรับปรุงระบบบริการ, พัฒนาจิตอาสา, เพิ่มแรงกระตุ้น และเมื่อนำผลการดำเนินงานมาเปรียบเทียบผลการรับบริการฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ระหว่างรูปแบบเดิม ในปีงบประมาณ 2555 2556 และ2557 กับรูปแบบใหม่ ในปีงบประมาณ 2558 พบว่า กลุ่มเป้าหมายได้รับบริการการฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เพิ่มมากขึ้นจากเดิมในปีงบประมาณ 2555, 2556 และ2557  ร้อยละ 52.27, 53.83 และ57.14 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วพบว่า ปี 2558 อัตราการฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เพิ่มมากขึ้นคิดเป็นร้อยละ 64.28 จากการวิเคราะห์พบว่าการปรับเปลี่ยนระบบให้บริการ การพัฒนาจิตอาสา การเพิ่มแรงกระตุ้น ทำให้รูปแบบที่ใหม่ที่ได้มานี้มีความเหมาะสมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดงบากและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับบริการ ข้อเสนอแนะ 1. ข้อเสนอแนะสำหรับพื้นที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดงบาก 1.1 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ควรมีการพัฒนาศักยภาพ ฟื้นฟูและค้นหากลุ่มบุคคล ขึ้นเป็นเครือข่ายจิตอาสาเพิ่มให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ประจำในทุกปี ควรมีการแลกเปลี่ยนความเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายจิตอาสา ในหมู่บ้านอื่นที่อยู่ในเขตรับผิดชอบ เพื่อทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน และค้นหาวิธีในการขจัดปัญหาเหล่านั้น ต่อไป 1.2 ควรนำประสบการณ์ที่ได้จากการสร้างและพัฒนารูปแบบนี้ ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานอื่นๆของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดงบาก 2. ข้อเสนอแนะสำหรับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอหนองหานและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี 2.1 องค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากงานวิจัยนี้ สามารถนำไปเผยแพร่และถ่ายทอดเพื่อให้เป็นแนวทาง ความรู้และประสบการณ์กับสถานบริการสาธารณสุขอื่นๆและนำไปประยุกต์พัฒนาให้เหมาะสมกับบริการให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ 2.2 ควรนำแนวคิดรูปแบบการดำเนินงาน และวิธีการที่ได้มาจากงานวิจัย ไปเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมของงานอื่นๆ 3. ข้อเสนอแนะสำหรับการทำวิจัยครั้งต่อไป ในการทำวิจัยเรื่องเดิมครั้งต่อไป ควรทำเป็นการวิจัยเพื่อพัฒนางานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และควรทำการศึกษาให้ครอบคลุมรายละเอียดต่างๆทุกๆด้าน อย่างครบถ้วนตามหลักวิชาการที่เกี่ยวข้องและตามบริบทของพื้นที่วิจัย

 

Last Updated on Monday, 02 November 2015 07:35