พฤติกรรมของผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี

Tuesday, 10 November 2015 02:38 ann
Print

ผกามาศ  ศรีหริ่ง

โรงพยาบาลโนนสะอาด  อำเภอโนนสะอาด

ที่มาและความสำคัญ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) นับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งอาการผิดปกติ ที่บ่งบอกว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองสามารถประเมินได้ตาม FAST (F: Facial palsy, A: Arm drip, S: Speech, T: Time)  คือ อาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง อาการอ่อนแรงของแขนและขาซีกใดซีกหนึ่ง การพูดลำบาก พูดไม่ชัด และรู้เวลาที่เกิดอาการผิดปกติ เป็นต้น (พรพิมล  มาศสกุลพรรณ และคณะ, 2554)  โรคหลอดเลือดสมองยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก พบว่าในปี 2011 มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลกเป็น 6.2 ล้านคนต่อปีและเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยคิดเป็นร้อยละ 10.64 ของอัตราการเสียชีวิตทั้งหมด  ยังมีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือด-สมองทั่วโลกมากกว่า  15 ล้านคน  และพิการถึง 5 ล้านคน  ซึ่ง 2 ใน 3 ของผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา(World Health Organization [WHO], 2011) ประเทศไทยพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่ปี 2551-2554 เป็น20.78, 21.04, 27.53, 30.04 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ  มีอัตราการป่วยตั้งแต่ปี 2551-2553  เป็น  216.58, 277.67, 307.93 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ  และก่อให้เกิดความพิการอีกเป็นจำนวนมาก (สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค, 2556)  จังหวัดอุดรธานี พบอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่ปี 2551-2554  เป็น 13.44, 14.57, 19.2, 16.23 ต่อแสนประชากร  ตามลำดับ และอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง  100.19, 188.90, 230.63, 94.41 ต่อแสนประชากร  ตามลำดับ (สำนักโรคไม่ติดต่อ  กรมควบคุมโรค, 2556) และในอำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี จากสถิติรายงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555-สิงหาคม 2556 พบว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 3 คน และมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่จำนวน 23 คน  จากรายงานอัตราการป่วยเป็นโรคหลอด-เลือดสมองในปี 2555-2556 เป็น 168 คน (เวชระเบียนโรงพยาบาลโนนสะอาด, 2555) จากข้อมูลดังกล่าว พบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในอำเภอโนนสะอาดเป็นอย่างมาก จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นถึงภาวะโรคและความสูญเสียของโรคหลอดเลือดสมองซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ความพิการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และยังก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจของครอบครัว  ชุมชนและประเทศชาติ ซึ่งผู้ดูแลมีส่วนสำคัญอย่างมากในการดูแลผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเป็นผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องมีการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ฉะนั้นหากผู้ดูแลขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง  ไม่มีการรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคหลอดเลือด-สมอง การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและการป้องกันภาวะแทรกซ้อนด้านต่างๆ และขาดความตระหนักในการดูแลผู้ป่วยแล้ว เมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อน อาการแย่ลง พิการ ก็จะทำให้ผู้ดูแลเกิดความเครียดและท้อในการดูแลผู้ป่วยในที่สุด (สำนักที่ปรึกษา กรมอนามัย, 2556) จากปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยจึงเลือกทฤษฎีความสามารถตนเองมาใช้ในงานวิจัยเพื่อศึกษา พฤติกรรมขอผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง  อำเภอโนนสะอาด  จังหวัดอุดรธานี วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี และศึกษาความรู้ การรับรู้ความสามารถของตนเองของผู้ดูแล ความคาดหวังในผลลัพธ์ของการปฏิบัติตนในการดูแลผู้ป่วย การปฏิบัติตนในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในเรื่องการรับประทานยา อนามัยส่วนบุคคล การทำกายภาพบำบัด การรับประทานอาหาร การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การออกกำลังกาย การจัดท่าทางผู้ป่วย การป้องกันภาวะแทรกซ้อน พบแพทย์ตามนัด ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่างประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเป็นประจำทั้งเพศชายและเพศหญิงมีอายุอยู่ระหว่าง 20-50 ปี และอาศัยอยู่ในเขต อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี โดยการสุ่มตัวอย่างแบบเป็นระบบได้ตัวอย่าง จำนวน 54 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2557 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่ามัธยฐาน ค่าต่ำสุด และค่าสูงสุด โดยกำหนดที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 สรุปผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 72.22 เพศชาย ร้อยละ 27.78 มีอายุเฉลี่ย 38.37 ปี (sd.=10.22)  อายุต่ำสุด 20 ปี  อายุสูงสุด 50 ปี การศึกษาส่วนใหญ่คือประถมศึกษา  ร้อยละ 44.44 ดูแลผู้ป่วยมาแล้วเฉลี่ย 38.33 เดือน  เกี่ยวข้องเป็นลูก หลาน หรือญาติ ร้อยละ 77.78 และส่วนใหญ่อยู่บ้านเดียวกันกับผู้ป่วย ร้อยละ 74.07 มีความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 74.07 การรับรู้ความสามารถของผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 61.11 ความคาดหวังในผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตนในการดูแลผู้ป่วยอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 77.78 การปฏิบัติตนในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอยู่ในระดับสูง  ร้อยละ 55.56