ปฏิกิริยาหลังรับเลือดของผู้รับบริการในโรงพยาบาลเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี

Tuesday, 10 November 2015 03:01 ann
Print

วิกานดา  ปะนัดเต   และ วรรณิศา เพียรพิมาย

กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลเพ็ญ

ที่มาและความสำคัญ ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า การรักษาผู้ป่วยโดยการให้เลือดและส่วนประกอบของเลือด (Blood component) มีประโยชน์เพื่อใช้ทดแทนส่วนที่ร่างกายขาด อันเนื่องมาจากมีการสูญเสียหรือทำลายมากหรือร่างกายสร้างได้น้อยลง จนเกิดภาวะผิดปกติขึ้น เป็นการให้เพื่อทดแทน (replacement therapy)  แม้เลือดจะมีประโยชน์มากในหลายๆ ภาวะหรือโรค และเป็นการช่วยชีวิตในบางกรณี แต่หากปฏิบัติไม่ถูกต้องอาจมีผลแทรกซ้อนทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ผลเสียจากการให้โลหิตและความรุนแรงของปัญหาขึ้นอยู่กับชนิดขอส่วนประกอบเลือดที่ให้แก่ผู้ป่วยผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ผลที่เกิดจากปฏิกิริยาอิมมูนและไม่ได้เกิดจากปฏิกิริยาอิมมูน นอกจากนั้นยังสามารถแบ่งได้ตามระยะเวลาที่เกิดภาวะแทรกซ้อนแบบ immediate และ delayed type ความรุนแรงมีหลายระดับ ตั้งแต่ไม่มีอาการจนถึงเสียชีวิตได้  อันตรายจากการให้เลือดที่พบบ่อย ได้แก่  ไข้ขึ้น หนาวสั่น และ allergic reaction ซึ่งไม่ใช่ปฏิกิริยาที่รุนแรง ส่วนปฏิกิริยาที่รุนแรงที่สุดที่ทำให้ผู้ป่วยรับเลือดที่มีการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีการเกิด Febrile non hemolytic transfusion reaction (FNHTR) 1-2 % , Allergic reaction 1-2%, Immediate hemolytic transfusion reaction(IHTR) 1:25,000 และ Delayed hemolytic transfusion reaction 1:25,000 สำหรับในประเทศไทย พบว่ามีการเกิด Febrile non hemolytic transfusion reaction (FNHTR) 1:1,000, Allergic reaction 4:10,000, Immediate hemolytic transfusion reaction(IHTR) 3:1,000,000 และ Delayed hemolytic transfusion reaction 5:10,000 ซึ่งปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์จากการรับเลือดจะเกิดขึ้นทันทีหลังรับเลือดไปจนถึงได้รับเลือดครั้งต่อไป ซึ่งปฏิกิริยาที่รุนแรงจะปรากฏในระยะเวลาประมาณ 15 นาทีหลังจากเริ่มต้นให้เลือด และประวัติการเกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์จากการรับเลือดยังเป็นประโยชน์ในการพิจารณาให้เลือดครั้งต่อไป ดังนั้นการติดตามดูแลผู้ป่วยที่ได้รับเลือดจึงมีความสำคัญมากบุคลากรทางการแพทย์จึงควรมีการบันทึกอาการ อาการแสดง และภาวะทางคลินิกพื้นฐานของผู้ป่วยเมื่อเริ่มให้โลหิต และจะต้องติดตามดูการเปลี่ยนแปลง ผลข้างเคียง และภาวะแทรกซ้อนต่างๆเพื่อให้สามารถป้องกัน แก้ไขอันตรายที่อาจเกิดแก่ผู้ป่วยได้ทันที วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปฏิกิริยาที่เกิดกับผู้ป่วยหลังจากการรับเลือดในโรงพยาบาลเพ็ญ ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่าง ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดแล้วเกิดปฏิกิริยาหลังรับเลือดตั้งแต่ เม.ย. 2555 - มี.ค. 2556 วิธีการศึกษา การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive Research) เพื่อศึกษาปฏิกิริยาหลังรับเลือดของผู้ป่วยที่ได้รับเลือด ของผู้ป่วยที่ได้รับเลือดในโรงพยาบาลเพ็ญ สถานที่ โรงพยาบาลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ระยะเวลาในการศึกษา เมษายน 2555 – มีนาคม 2556 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลคือ เก็บข้อมูลจากแบบบันทึกปฏิกิริยาจากการรับเลือด แบ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลหมู่เลือด การได้รับเลือด ชนิดของเลือด และปฏิกิริยาหลังรับเลือด การวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิเคราะห์ข้อมูล นำเข้าและบันทึกข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป วิเคราะห์โดยใช้สถิติพรรณนา (Descriptive Statistic)สถิติ ร้อยละและสถิติ Chi - square test และในกรณีที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงเบื้องต้น ใช้ Fisher Exact Test ผลการศึกษาและสรุปผลการศึกษา 1. ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ในการรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยที่ได้รับเลือดในตึกผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพ็ญ ตั้งแต่ เม.ย. 2555 - มี.ค. 2556 จำนวน 674 units พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 58.9 (397/674) หมู่เลือดส่วนใหญ่เป็นหมู่เลือดกรุ๊ป B ร้อยละ 39.3 (265/674) กรุ๊ป O ร้อยละ 32.5 (219/674) กรุ๊ป A ร้อยละ 20.6 (139/674) และ กรุ๊ป AB ร้อยละ 7.6 (51/674) และชนิดของเลือดที่ได้รับส่วนมากคือ Pack red cell ร้อยละ 67.8 (457/674) และ Leukocyte poor packed red cell ร้อยละ 32.2 (217/674) 2. ข้อมูลการเกิดปฏิกิริยาหลังรับเลือด จากการรวบรวมข้อมูลการเกิดปฏิกิริยาหลังรับเลือดของผู้ป่วย พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เกิดปฏิกิริยา คิดเป็นร้อยละ 98.1 (661/674) และปฏิกิริยาที่เกิดส่วนใหญ่คือผู้ป่วยมีไข้ คิดเป็นร้อยละ 0.6 (4/674) รองลงมาคือผู้ป่วยที่ได้รับเลือดมีอาการหนาวสั่น คิดเป็นร้อยละ 0.4 (3/674), มีผื่นคัน คิดเป็นร้อยละ 0.4 (3/674), ความดันเปลี่ยนแปลง คิดเป็นร้อยละ 0.3 (2/674) และมีอาการเหนื่อยหอบ คิดเป็น ร้อยละ 0.1 (1/674) ตามลำดับ และจากการศึกษาข้อมูลพบว่าหมู่เลือดที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาหลังการรับเลือดมากที่สุดคือหมู่เลือดโอ (O) คิดเป็นร้อยละ 46.15 (6/13) รองลงมาคือหมู่เลือด บี (B) คิดเป็นร้อยละ 30.77 (4/13), เอบี (AB) คิดเป็นร้อยละ 15.38 (2/13) และเอ (A) คิดเป็นร้อยละ 7.70 (1/13) ตามลำดับ จากการศึกษาพบว่าชนิดของเลือดที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาหลังการรับเลือดมากที่สุดคือ Pack red cell ทั้งหมด 12 ราย คิดเป็นร้อยละ 92.31 ส่วน Leukocyte poor pack red cell ทำให้เกิดปฏิกิริยาหลังการรับเลือดเพียง 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.69