บทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลผู้สูงอายุ อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี

Friday, 25 November 2016 08:32 ann
Print

พรพรรณ พิมพ์วาปี  
รพ.สต.หัวนาคำ  อำเภอศรีธาตุ

ที่มา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของระบบสุขภาพ เนื่องจากเป็นบุคคลที่ชุมชนให้ความไว้วางใจ ใกล้ชิดเป็นบุตรหลานในชุมชน และเป็นบุคคลที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสำคัญประการหนึ่งในการดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชน กลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานผู้สูงอายุ ให้มีระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว ทั้งในสถานบริการสุขภาพและในชุมชน จำเป็นต้องมีอาสาสมัครผู้ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนและผู้ที่จะทำหน้าที่ในการดูแลที่เหมาะสม คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญด้านสาธารณสุข และเป็นทรัพยากรบุคคลในชุมชนควรค่าแห่งการดำรงไว้ (คู่มือการปฏิบัติงานการสร้างเสริมและดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ สำหรับอาสาสมัคร .สำนักส่งเสริมสุขภาพ,กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.2551) ในปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยในปี พ.ศ.2552 จะเป็นปีแรกที่ไทยก้าวย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 พบว่า สัดส่วนของประชากรวัยเด็กและวัยแรงงาน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 13.2 ในปี พ.ศ.2553 เป็นร้อยละ 32.1 ใน พ.ศ.2583 และสัดส่วนของผู้สูงอายุวัยปลายจะเพิ่มจากประมาณ ร้อยละ 12.7 ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมดเป็นเกือบ 1ใน5 ของประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุวัยปลายนี้ จะสะท้อนถึงการสูงอายุขึ้นของประชากรสูงอายุ และนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิง ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ (มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยและวิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2556 : 12-13) การดำเนินงานผู้สูงอายุของอำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี ในปี 2557 มีประชากรทั้งหมด 48,525 คน ผู้สูงอายุ จำนวน 5,431 คน คิดเป็นร้อยละ 11.16 จำแนกตามกลุ่มตามช่วงอายุ 60-69 ปี กลุ่มอายุ 70-79 ปี และกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป มีร้อยละ 59, ร้อยละ 30 และร้อยละ 9.96 ตามลำดับ จำแนกตามความสามารถประกอบกิจวัตรประจำวัน ( BADL ) กลุ่มติดสังคม, กลุ่มติดบ้าน และกลุ่มติดเตียง คิดเป็น ร้อยละ 89.4 , ร้อยละ 9.59 และ ร้อยละ 0.9 ตามลำดับ(สำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีธาตุ , 2557. ) บทบาทในการดูแลผู้สูงอายุของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีการปฏิบัติหน้าที่ส่วนใหญ่ เป็นการให้คำแนะนำ ให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของผู้สูงอายุ เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายที่เหมาะสม การให้ความช่วยเหลือทางสังคมเป็นการส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม ในชุชน มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือเป็นครั้งคราวเฉพาะหน้าไม่ต่อเนื่อง และกิจกรรมที่ทำในการออกเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ คือ ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจนับชีพจร การตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพผู้สูงอายุ การประเมินภาวะสมองเสื่อม การประเมินภาวะซึมเศร้า(2Q) การประเมินศักยภาพตามความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (ADL) (สำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีธาตุ, 2557) จะเห็นได้ว่า อาสาสมัคราสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีบทบาทสำคัญในดูแลสุขภาพตามกลุ่มวัย โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน คือ การส่งเสริมสุขภาพด้านร่างกาย ด้านอารมณ์และจิตใจ และด้านสังคม นอกจากการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านยังเป็นผู้ที่มีทัศนคติต่อการดูแลผู้สูงอายุที่ดี บนพื้นฐานแห่งธรรมะตามหลักพุทธศาสนา ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อการปฏิบัติให้การดูแลผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้การได้รับแรงสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ ครอบครัว และชุมชน เช่น การสนับสนุนวัสดุสิ่งของ ข้อมูลข่าวสาร การติดตามประเมินผล การยอมรับนับถือเป็นต้น ( House, 1981 : 202) ทำให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านปฏิบัติการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ประกอบกับสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเอื้ออาทรมีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม การได้แรงสนับสนุนทางสังคมจึงก่อให้เกิดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานจิตอาสา
วัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อศึกษาบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลผู้สูงอายุและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการดูแลผู้สูงอายุของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี
ระเบียบวิธีการวิจัย ใช้การวิจัยเชิงสำรวจแบบภาคตัดขวาง กลุ่มตัวอย่างคืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 300 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามระหว่างวันที่ 15 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบสอบถามโดยผู้วิจัยได้สร้างขึ้นและคัดแปลงจากการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อมูลในส่วนดังกล่าวนี้มาสร้างเป็นแบบสอบถาม โดยแบ่งแบบสอบถามเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป 7 ข้อ ทัศนคติต่อการดูแลผู้สูงอายุ 15ข้อ แรงสนับสนุนทางสังคม 20ข้อ และบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลผู้สูงอายุ 15ข้อ  แล้วนำไปหาความตรงของเนื้อหาให้ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่านเป็นผู้พิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา แล้วหาความเชื่อมั่นของเครื่องมือ โดยนำแบบสอบถามที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขไปทดสอบใช้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี จำนวน 30 คน  ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา โดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค(Cronbach’s Alpha Coefficient)  ได้ค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือด้านการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเท่ากับ 0.94  ด้านทัศนคติต่อการดูแลผู้สูงอายุ เท่ากับ 0.8 ด้านแรงสนับสนุนทางสังคมเท่ากับ 0.87 การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สันและไคสแควร์
ผลการศึกษา
1) ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 73.7 มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 45.6 ปี มีอายุสูงสุด 72 ปี และอายุต่ำสุด 21 ปี สถานภาพสมรสส่วนใหญ่เป็นสถานภาพสมรสคู่ คิดเป็นร้อยละ 89.3 การศึกษาส่วนใหญ่ระดับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า คิดเป็นร้อยละ70 รายได้เฉลี่ยเท่ากับ 10,190.87 บาท รายได้ต่ำสุด 600 บาทและรายได้สูงสุด 60,000 บาท อาชีพเกษตรกรรมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 85.3 ระยะเวลาในการปฏิบัติงานโดยเฉลี่ยเท่ากับ 9.19 ปี ระยะเวลาปฏิบัติงานมากที่สุด 35 ปีและน้อยที่สุด 1 ปี
2) ทัศนคติต่อการดูแลผู้สูงอายุของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านพบว่าอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านประมาณสองในสามมีทัศนคติต่อการดูแลผู้สูงอายุในระดับมากคิดเป็นร้อยละ69 รองลงมาคือระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ30.3 และระดับน้อย คิดเป็นร้อยละ 0.7
3) แรงสนับสนุนทางสังคม พบว่าอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านประมาณครึ่งหนึ่ง ได้รับแรง
สนับสนุนทางสังคมอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 52.0 รองลงมาคือระดับมากคิดเป็นร้อยละ42 และระดับน้อยคิดเป็นร้อยละ6.0  
4) บทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลผู้สูงอายุ พบว่าอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านส่วนใหญ่มีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุ ระดับมากคิดเป็นร้อยละ 71.3 รองลงมาคือระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ 26.7 และระดับน้อยคิดเป็นร้อยละ2.0
การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ 1) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการกำหนดและส่งเสริมบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลผู้สูงอายุ โดยการจัดอบรมหลักสูตรอาสาสมัครผู้ดูแลผู้สูงอายุ (อผส.) 70 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุด้านเศรษฐกิจและ ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยยากไร้ไม่มีผู้ดูแล 2) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกิดกระบวนการทำงานโดยการมีส่วนร่วม  เพิ่มแรงสนับสนุนทางสังคมให้ผู้สูงอายุเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มหรือชมรมผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ตำบล 3) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน สามารถให้การดูแลผู้สูงอายุด้านร่างกายโดยเฉพาะให้การดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือช่วยเหลือตัวเองได้บ้างเล็กน้อย ด้วยการหาคู่หูคู่บัดดี้ในการทำงาน เช่น การอาบน้ำให้ผู้สูงอายุ การสระผม การตัดเล็บ การป้อนอาหาร การเปลี่ยนเสื้อผ้า เป็นต้น
ข้อเสนอแนะ ผลการศึกษาครั้งนี้เสนอแนะให้หน่วยงานสำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีธาตุ สนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการส่งเสริมทัศนคติต่อบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุและสนับสนุนทางสังคมให้มากขึ้น
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ 1) ความร่วมมือของผู้ตอบแบบสอบถามในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการศึกษาวิจัย 2) ผู้บริหารให้การสนับสนุนด้าน บุคลากร  ข้อมูล และสิ่งอำนวยความสะดวกในการศึกษาวิจัย 3) มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญให้ความอนุเคราะห์ตรวจสอบความเที่ยงของเครื่องมือ 4ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ในการทำวิจัยครั้งนี้