ประสิทธิผลของโปรแกรมออกกำลังกายต่อการทรงตัวของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการหกล้ม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองใส อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

Friday, 25 November 2016 08:43 ann
Print
นางอุไรลักษณ์ หมัดคง1 และ นางวชิราภรณ์  สินเจริญเลิศ
กลุ่มงานเวชกรรมสังคม1 , รพ.สต.หนองใส อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี2

ที่มา  ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การหกล้มเป็นอุบัติเหตุที่พบบ่อยมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ภาวการณ์หกล้มแม้จะเป็นภาวะที่ไม่จำเพาะเจาะจงในผู้สูงอายุแต่จะเป็นการเตือนถึงพยาธิสภาพที่รุนแรงและนำมาซึ่งโรคแทรกซ้อนอื่นๆ และเพิ่มภาระแก่ผู้ดูแลสมควรได้รับการป้องกันอย่างรีบด่วนในปี 2558  จังหวัดอุดรธานีได้ประกาศเป็นนโยบาย”จังหวัดอุดรธานีเมืองผู้สูงอายุคุณภาพชีวิตดี”  และสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ได้มีการจัดทำแนวทางการจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุในสถานบริการสุขภาพทุกระดับโดยมอบให้จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดนำร่องในเรื่องระบบการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุและได้ใช้พื้นที่ รพ.สต.หนองใสในการศึกษา จากผลการคัดกรองภาวะสุขภาพผู้สูงอายุจำนวน 152,124 คนพบว่า เสี่ยงต่อการหกล้มร้อยละ 6.04 TUGT มากกว่า 30 วินาที ร้อยละ 8.83 มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 9.13 ข้อเข่าเสื่อม ร้อยละ 14.30 รพ.สต.หนองใสผู้สูงอายุหนองใสได้รับการคัดกรอง 1,001 เคยหกล้ม 0.6% TUGT มากกว่า 30 วินาที 2.3 % มีสิ่งแวดล้อมทีไม่ปลอดภัย 3.6% ข้อเข่าเสื่อม 1.1%
วัตถุประสงค์  เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมออกกำลังกายต่อการทรงตัวของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการหกล้ม
ระเบียบวิธีวิจัย วิจัยกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียววัดผลก่อนหลังใช้เวลาศึกษา4 สัปดาห์ คือ สัปดาห์ที่ 1ตรวจประเมินประสิทธิภาพการทรงตัวและวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ สอนออกกำลังกาย 7 ท่า (ปรับปรุงจากยากันล้ม คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ (มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ) สัปดาห์ที่ 2   ฝึกฉีกหนังสือพิมพ์ด้วยเท้าสอนเรื่องสุขภาพจิต ทบทวนการออกกำลังกาย สัปดาห์ที่ 3 ฝึกฉีกหนังสือพิมพ์ด้วยเท้า สอนอาหารที่เพิ่มแคลเซียมทบทวนการออกกำลังกาย และสัปดาห์ที่ 4 ประเมินการทรงตัวและวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเหมือนสัปดาห์ที่ 1 และมีการติดตาม 3 และ 6 เดือน กลุ่มเป้าหมายคือผู้สูงอายุในชมรมผู้สูงอายุ รพ.สต.หนองใสที่เสี่ยงต่อการหกล้มจำนวน 29 คน (ทฤษฎีขีดจำกัดกลาง)เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ 1)แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล2)โปรแกรมออกกำลังกาย 3)แบบตรวจประเมินการทรงตัวTUGT และ Berg balance scale(BBS)วิเคราะห์ข้อมูลด้วย สถิติพรรณนา และสถิติเชิงอนุมาน Repeated Measure ANOVA งานวิจัยนี้ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาและควบคุมการวิจัยในมนุษย์โรงพยาบาลอุดรธานี
ผลการศึกษา  ทดสอบการทรงตัวด้วย BBS ก่อนและหลังได้รับการสอนตามโปรแกรมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติโดยคะแนนการทรงตัวเพิ่มขึ้นหลังการสอนและจากการติดตามในเดือนที่ 3 และเดือนที่ 6โดยก่อนสอนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 53.65 (2.91)  หลังสอนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน)  เท่ากับ 55.06 ± 1.22 ติดตาม 3 เดือนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 55.10 (1.0) ติดตาม 6 เดือนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 55.51 (0.73) ตามลำดับ  ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่พบว่า ค่าเฉลี่ย การทรงตัวด้วย BBSมีความแตกต่างกันระหว่างก่อนสอนและหลังสอน การทดสอบการเดิน TUGT ดีขึ้นโดยก่อนสอนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน)  เทากับ 12.71 (6.98) หลังการสอน 6 เดือนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 14.34 (2.41) การวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังดีขึ้นโดยก่อนสอนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 41.17 (16.33) หลังการสอน 6 เดือนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 47.82  (15.13) การวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเข่าดีขึ้นโดยก่อนสอนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 52.61 (27.25) หลังการสอน 6 เดือน มีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 54.28 (19.58)
การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เป็นโปรแกรมที่ง่ายออกกำลังกายเพียง 7ท่า ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีทำวันละ 1 รอบ 3 วันต่อสัปดาห์ในระดับที่รู้สึกเหนื่อยเป็นประจำและสามารถนำไปวางแผนป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุได้ จะมีการขยายผลไปยังชุมชน คลินิกผู้สูงอายุ ในรพ.สต.หนองใส และ รพ.สต. เครือข่ายโรงพยาบาลอุดรธานีโดยมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีการเผยแพร่ผลงานโดยการนำเสนอในเวทีจังหวัด ระดับเขต วิชาการกลุ่มงานเวชกรรมสังคม วิชาการชมรมพยาบาลเวชปฏิบัติ เป็นที่ศึกษาดูงานระดับปฐมภูมิของจังหวัดอุดรธานี
บทเรียนที่ได้รับ  นโยบายการดูแลผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการหกล้มที่ชัดเจนขยายผลสู่สถานบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ และผู้บริหารทุกระดับให้ความสำคัญร่วมมือทั้งในด้านโรงพยาบาล สสอ. และ รพ.สต. ในด้านบุคลากรและงบประมาณ การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยชะลอความเสื่อมของระบบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัว ช่วยลดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อรวมถึงช่วยลดอุบัติการณ์การล้มในผู้สูงอายุและช่วยพัฒนาความแข็งแรงและกำลังกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุได้ สอดคล้องกับนโยบาย  จังหวัดอุดรธานีเมืองผู้สูงอายุคุณภาพชีวิตดี
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ การทำงานเป็นทีมของผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุระหว่างโรงพยาบาลอุดรธานีและ               รพ.สต.เครือข่าย  ความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพการให้บริการผู้สูงอายุ ในด้านผู้บริหารมีนโยบายที่ชัดเจนจากระดับจังหวัดและผู้บริหารระดับอำเภอร่วมกันสนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณเพื่อให้เกิดระบบบริการและการจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
การสนับสนุนที่ได้รับ ผู้บริหารระดับจังหวัดและอำเภอมีการติดตามและประเมินผลต่อเนื่อง ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณให้โอกาสทีมงานผู้สูงอายุมีเวทีประชุมแลกเปลี่ยนและการนำเสนอผลงาน คณะกรรมการพัฒนางานวิจัยโรงพยาบาลอุดรธานีสนับสนุนด้านวิชาการ ได้รับความร่วมมือจากสถานบริการในเครือข่าย ความเอาใจใส่จากอาจารย์ที่ปรึกษา หัวหน้ากลุ่มงานและเพื่อนร่วมงานให้การสนับสนุน