Research of Udonthani Provincial Health Office.

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size

ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการรับประทานยาของผู้ป่วยจิตเภทที่มารับบริการ โรงพยาบาลอุดรธานี

E-mail Print PDF

มัลลิกา สิงหสุริยะ. 2553. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการรับประทานยาของผู้ป่วยจิตเภทที่มารับบริการ โรงพยาบาลอุดรธานี

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับประทานยาและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการรับประทานยาของผู้ป่วยจิตเภท กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วย          โรคจิตเภท ที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกจิตเวช แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลอุดรธานี โดยการสุ่มแบบเจาะจง จำนวน 100 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามประกอบด้วย 5 ส่วน คือ ข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินความรู้เรื่องโรคจิตเภท แบบประเมินเจตคติต่อการรักษาด้วยยาทางจิตเวช แบบประเมินการสนับสนุนทางครอบครัว และแบบประเมินพฤติกรรมการรับประทานยา ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ และทดสอบความเชื่อมั่นโดยวิธีอัลฟาของครอนบาค มีค่าเท่ากับ 0.72 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างระหว่าง วันที่ 1 มีนาคม 2552 ถึง 30 เมษายน 2552 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณา ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติวิเคราะห์ ได้แก่ ไคลสแคว์

ผลการวิจัย พบว่า ผู้ป่วยโรคจิตเภท ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุระหว่าง 20-40 ปี ผู้ป่วย จิตเภทมีการรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง ร้อยละ 33.0 ระดับการศึกษามีความสัมพันธ์กับการรับประทานยา ส่วนตัวแปรอื่นๆ ได้แก่ เพศ อายุ อาชีพ รายได้ ระยะเวลาการเจ็บป่วย ความรู้ ทัศนคติ การสนับสนุนจากครอบครัว พฤติกรรมการรับประทานยา ไม่มีความสัมพันธ์กับการรับประทานยา

จากการศึกษาดังกล่าว พยาบาลควรมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับผู้ป่วย ญาติและผู้ดูแล ให้ครอบคลุมในเรื่อง สาเหตุการเกิดโรค อาการ และการรักษาด้วยยา โดยเฉพาะในเรื่อง ผลข้างเคียงของยา การปฏิบัติตัวเมื่อมีพบอาการข้างเคียงจากการใช้ยาทางจิตเวช ติดตามต่อเนื่องผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านเพื่อประเมินพฤติกรรมการรับประทานยา การสนับสนุนของครอบครัวและให้กำลังใจแก่ญาติและผู้ดูแล ส่งเสริมการรับประทานยาต่อเนื่อง

 

การพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิก เรื่อง การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ในแผนกผู้ป่วยในโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์

E-mail Print PDF

มณีนุช สุทธสนธิ์. 2553. การพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิก เรื่อง การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ในแผนกผู้ป่วยในโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิก เรื่อง การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในแผนกผู้ป่วยในโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย ทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ แพทย์ เภสัชกร นักโภชนากรจำนวน 35 ราย และผู้ป่วยโรคเบาหวาน จำนวน 40 ราย ดำเนินการวิจัยระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 เครื่องมือที่ใช้ ประกอบด้วย แนวปฏิบัติทางคลินิกฯ และแบบสอบถามเพื่อใช้ในการประเมินผลการวิจัย ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงของเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน และความเที่ยงของเครื่องมือจากการคำนวณหาสัมประสิทธิอัลฟาของครอนบาค เก็บข้อมูลเชิงปริมาณโดยการใช้แบบสอบถามและแบบบันทึกเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์ การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและแบบไม่มีส่วนร่วม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้เทคนิค การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1.ได้แนวปฏิบัติทางคลินิกฯ สำหรับใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ในแผนกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลค่ายประจักษ์          ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี

2. ระดับความพึงพอใจของทีมสหสาขาวิชาชีพและผู้ป่วยหลังใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกฯ อยู่ในระดับมากที่สุด

3. อัตราการกลับเข้ามารักษาซ้ำภายใน 28 วัน ภายหลังการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ด้วยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร้อยละ 2.5 ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้คือ ร้อยละ 5

การพัฒนาแนวปฏิบัติทางคลินิก ในรูปแบบการปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมส่งผลให้เกิดแนวปฏิบัติทางคลินิกที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งจะนำสู่การดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

ประสิทธิผลของการนวดเท้าด้วยวิธีหัตถบำบัดแบบแพทย์แผนไทยเพื่อลดอาการเท้าชาในผู้ป่วยเบาหวาน โรงพยาบาลอุดรธานี พ.ศ. 2552

E-mail Print PDF

ศศินี อภิชนกิจ และจารุวรรณ พาณิชย์พันธุ์. 2552. ประสิทธิผลของการนวดเท้าด้วยวิธีหัตถบำบัดแบบแพทย์แผนไทยเพื่อลดอาการเท้าชาในผู้ป่วยเบาหวาน โรงพยาบาลอุดรธานี พ.ศ. 2552

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่องประสิทธิผลของการนวดเท้าด้วยวิธีหัตถบำบัดแบบแพทย์แผนไทยเพื่อลดอาการเท้าชาในผู้ป่วยเบาหวาน โรงพยาบาลอุดรธานี พ.ศ.2552 เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบ One group pre – post test โดยเป็นการศึกษาประสิทธิผลของการนวดด้วยวิธีหัตถบำบัดแบบแพทย์แผนไทยในผู้ป่วยเบาหวานที่ตรวจพบว่าเท้าชาอย่างน้อย 1 จุด โดยใช้อุปกรณ์ตรวจคือ Semmes-Weinstein monofilament ทั้งก่อนและหลังการนวดด้วยวิธีหัตถบำบัดแบบแพทย์แผนไทย กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับการตรวจประเมินเท้า และพบว่าเท้ามีจุดที่ไม่รู้สึกอย่างน้อย 1 จุด และได้รับการนวดด้วยวิธีหัตถบำบัดแบบแพทย์แผนไทย ครั้งละ 30 นาที จำนวน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ต่อเนื่องกัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 คน ซึ่งใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ การตรวจความรู้สึกในการป้องกันอันตรายของเท้าก่อนและหลังการรับการนวดด้วยวิธีหัตถบำบัดแบบแพทย์แผนไทย ด้วยอุปกรณ์ Semmes-Weinstein monofilament และแบบตรวจประเมินสุขภาพเท้าผู้ป่วยเบาหวาน กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลอุดรธานี (ประยุกต์จากโรงพยาบาลเทพธารินทร์ กรุงเทพมหานคร) เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2552 ถึง 30 เมษายน 2552 วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติวิเคราะห์ใช้ Dependent t-test ผลการวิจัยมีดังต่อไปนี้

เมื่อให้การบำบัดด้วยการนวดเท้าด้วยวิธีหัตถบำบัดแบบแพทย์แผนไทยครบ 8 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการเท้าชาทุกระดับความเสี่ยง มีอาการเท้าชาลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

จากการศึกษาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ควรจะมีการตรวจเท้าผู้ป่วยเบาหวานเป็นระยะๆ เพื่อที่จะได้คัดกรองภาวะเสี่ยงของเท้า และให้การดูแล รักษาตามความเหมาะสม การดูแลเท้าผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการเท้าชา โดยพิจารณานำการนวดเท้าด้วยวิธีหัตถบำบัดแบบแพทย์แผนไทยมาใช้ผสมผสานกับการดูแลด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันและอาจนำมาสอนให้ผู้ป่วยดูแลตนเองดยหัดนวดเท้าด้วยตนเองที่บ้านได้ซึ่งเป็นการบำบัดด้วยตนเองอย่างง่าย และทำได้สม่ำเสมอ เป็นการลดความเสี่ยงของเท้าเบาหวานที่อาจช่วยลดการสูญเสียต้องถูกตัดเท้าหรือนิ้วเท้าในอนาคตได้

 

งานบริบาลเภสัชกรรมเพื่อค้นหาและแก้ไขปัญหาด้านความไม่ร่วมในการใช้ยาในผู้ป่วยเบาหวาน บนหอผู้ป่วยอายุรกรรม โรงพยาบาลอุดรธานี

E-mail Print PDF

วินัดดา ชุตินารา และเสาวภา ทองสอดแสง. 2552. งานบริบาลเภสัชกรรมเพื่อค้นหาและแก้ไขปัญหาด้านความไม่ร่วมในการใช้ยาในผู้ป่วยเบาหวาน บนหอผู้ป่วยอายุรกรรม โรงพยาบาลอุดรธานี

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ : เพื่อค้นหาปัจจัยร่วม ลักษณะและความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาจากความไม่สามารถใช้ยาได้ตามสั่งของผู้ป่วยกับการที่ผู้ป่วยมานอนโรงพยาบาลด้วยภาวะ Hyperglycemia หรือ Hypoglycemia และศึกษาความรู้ และความร่วมมือในการใช้ยาของกลุ่มผู้ป่วยก่อนและหลังการบริบาลทางเภสัชกรรม

วิธีวิจัย : แบบ prospective analytical-observation research design สถิติวิเคราะห์ chi-square test และ pair t-test ในผู้ป่วยเบาหวานที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล       เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2552 จำนวน 99 ราย

ผลการวิจัย : 1) ปัจจัยร่วมในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ได้แก่ ภาวะเครียด นอนไม่หลับ (46.5%), กินอาหารได้น้อยลง (44.4%), มีไข้ ไม่สบาย (43.4%) ตามลำดับ และบความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่มาด้วยภาวะ Hypoglycemia ได้แก่ ภาวะการกินอาหารได้น้อยลง ( P=0.041) ในกลุ่มผู้ป่วยที่มาด้วยภาวะ Hyperglycemia พบปัจจัยการใช้ยาต้ม ยาหม้อหรือสมุนไพรร่วม (P=0.014) 2) ปัญหาความไม่ร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย ได้แก่ การลืมกินยา (32.3%), ขาดยา ใช้ยาไม่สม่ำเสมอ (30.3%), วิธีการใช้ยาไม่ถูกต้อง (24 %) และพบความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุการมานอนโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานโดยตรง (hyperglycemia และ hypoglycemia ) และภาวะโรคอื่นๆ ด้านการใช้ยาโดยเวลาใช้ยาไม่ถูกต้อง (P=0.027) และในกลุ่มผู้ป่วยที่มาด้วยภาวะ Hyperglycemia พบปัญหาการขาดยาหรือใช้ยาไม่สม่ำเสมอ (P=0.000) การลืมกินยา (P=0.009) และวิธีการใช้ยาไม่ถูกต้อง (P=0.036) 3) การประเมินความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาของผู้ป่วย พบขาดความรู้ในด้านการปฏิบัติที่ถูกต้อง เมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (61.6%), เมื่อมียาเหลือจากครั้งก่อน (67.6%) และเมื่อผู้ป่วยลืมรับประทานยา (68.7%) ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบความรู้ของผู้ป่วยที่ได้รับบริบาลเภสัชกรรม โดยเภสัชกรบนหอผู้ป่วย พบว่า คะแนนความรู้ของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( P<0.05 )

บทสรุปและข้อเสนอแนะ : จากการวิจัยพบปัจจัยร่วมและความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาจากความไม่สามารถใช้ยาได้ตามสั่งของผู้ป่วยกับการที่ผู้ป่วยมานอนโรงพยาบาลด้วยภาวะ Hyperglycemia หรือ Hypoglycemia และพบว่าความรู้ และความร่วมมือในการใช้ยาของกลุ่มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลังได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยเบาหวาน รพ.อุดรธานี

 

ผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วยที่ได้ยาละลายลิ่มเลือดในวาร์ฟารินคลินิก (Warfarin Clinic) ในโรงพยาบาลกุมภวาปี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

สุนันทา เส็งมังสา. 2553. ผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วยที่ได้ยาละลายลิ่มเลือดในวาร์ฟารินคลินิก (Warfarin Clinic) ในโรงพยาบาลกุมภวาปี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

 

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาการใช้ยาและผลการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟาริน

วิธีการศึกษา : เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาโดยเก็บข้อมูลไปข้างหน้า (Prospective Descriptive Study) ระยะเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 – 30 พฤศจิกายน 2552

ผลการศึกษา :

ผู้ป่วยได้รับยาวาร์ฟารินทั้งหมด 83 ราย จำหน่ายจากการบริการ 10 ราย (ร้อยละ 12.05) เสียชีวิต 8 ราย (ร้อยละ 9.64) จำหน่ายเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงในการรักษา 2 ราย (ร้อยละ 2.41) คงเหลือให้บริการ 73 ราย เพศชาย 25 ราย (ร้อยละ 34.25) เพศหญิง 48ราย (ร้อยละ 65.75) อายุเฉลี่ย 58.74 +11.99 ปี ระดับการศึกษา ประถมศึกษา 66 ราย (ร้อยละ 90.41) มัธยมศึกษาตอนต้น 2 ราย (ร้อยละ 2.74) มัธยมศึกษาตอนปลาย 2 ราย (ร้อยละ 2.74) ปริญญาตรี 3 ราย (ร้อยละ 4.11) ข้อบ่งใช้ของการใช้ยา คือ Atrial fibrillation with VHD 35 ราย (ร้อยละ 47.95), Atrial fibrillation with VHD with embolic stroke 12 ราย (ร้อยละ 16.44), Atrial fibrillation with embolic stroke 9 ราย (ร้อยละ 12.33), Atrial fibrillation 8 ราย(ร้อยละ 10.96), Atrial fibrillation with VHD with heart valve prosthesis 4 ราย (ร้อยละ 5.48), Venous thrombosis 2 ราย (ร้อยละ 2.74), VHD with heart valve prosthesis with embolic stroke 1 ราย (ร้อยละ 1.37), Atrial fibrillation with VHD with Venous thrombosis 1 ราย (ร้อยละ 1.37), VHD with embolic stroke 1 ราย (ร้อยละ 1.37)

มีภาวะโรคร่วม 1 โรคจำนวน 20 ราย (ร้อยละ 27.40) มีโรคร่วมตั้งแต่ 2 โรคขึ้นไป 9 ราย (ร้อยละ 12.33) ส่วนใหญ่เป็นความดันโลหิตสูงและเบาหวาน           ไม่มีโรคร่วม 44 ราย (ร้อยละ 60.27) ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในคลินิกทั้งหมด 846 ครั้ง ค่าเฉลี่ยการนัดผู้ป่วยเข้ารับบริการ 5.53 1.88 สัปดาห์/ครั้ง

ผลการรักษามีดังนี้ ค่า INR (International normalized ratio) ที่อยู่ในเป้าหมายของการรักษา (INR 2-3) ร้อยละ 47.06 โดยร้อยละของผู้ป่วยที่มีค่า INR แปรปรวนต่ำเมื่อ INR 2-3 คิดเป็นร้อยละ 16.18 ถ้าค่า INR ที่อยู่ในช่วงเป้าหมายการรักษา INR 1.8-3 คิดเป็นร้อยละ 59.74 โดยร้อยละของผู้ป่วยที่มีค่า INR แปรปรวนต่ำเมื่อ INR 1.8-3 คิดเป็นร้อยละ 45.59

ข้อเสนอแนะ

1. การจัดตั้งคลินิกพิเศษ (Warfarin Clinic) และดูแลผู้ป่วย โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม รู้บทบาทหน้าที่และสามารถดึงศักยภาพของ แต่ละบุคคลออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ และเหนือสิ่งอื่นใด ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด

2. การพัฒนาการจัดบริการผู้ป่วยที่ได้รับยา Warfarin ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสในการเข้าถึงบริการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 


Page 22 of 26
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday21
mod_vvisit_counterYesterday7
mod_vvisit_counterThis week66
mod_vvisit_counterLast week68
mod_vvisit_counterThis month482
mod_vvisit_counterLast month311
mod_vvisit_counterAll days249233

We have: 1 guests online
Your IP: : 3.22.61.73
Mozilla 5.0, 
Today: May 18, 2024

Polls

Who's Online

We have 1 guest online

Advertisement

Featured Links:
Joomla! Extensions
Joomla! Components, Modules, Plugins and Languages by the bucket load.

Popular