Research of Udonthani Provincial Health Office.

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size

การพัฒนาระบบการบริหารยา (Drug Administration) แผนกผู้ป่วยใน ปี 2557 โรงพยาบาลไชยวาน

E-mail Print PDF

นางกุสุมาลย์ธนัญญา  เสียงเลิศและคณะ

งานผู้ป่วยใน โรงพยาบาลไชยวาน

ที่มาและความสำคัญ Administration Error หมายถึง ความคลาดเคลื่อนที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาที่ผิดจากความตั้งใจการสั่งยาของผู้สั่งใช้ยา ได้แก่ ไม่ได้ให้ยาผู้ป่วย ขนาดยาหรือความแรงของยามากไปหรือน้อยไปจากที่ผู้สั่งใช้ยา ให้ยาผิดชนิด เทคนิคการให้ยาผิด ให้ยาผิดเวลา ให้ยาผิดคน เก็บรักษายาไม่ถูกต้อง จากรายงานอุบัติการณ์ความเสี่ยงแผนกผู้ป่วยในพบว่า ความคลาดเคลื่อนในการบริหารยา (Administration Error) มีปริมาณมาก และจัดเป็นความเสี่ยงสำคัญ 5 อันดับแรกของหน่วยงาน ข้อมูล ปีงบประมาณ 2551 – 2553 Administration Error มีจำนวน 36, 40 และ 33 ครั้ง ตามลำดับ คิดเป็น อัตรา: 1,000 วันนอน ดังนี้ 2.74, 8.43 และ 11.02 ตามลำดับ ซึ่งความคลาดเคลื่อนดังกล่าวมีผลกระทบต่อผู้ป่วยแม้ไม่รุนแรงแต่ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาตามแผนการรักษาของแพทย์ อาจส่งผลให้เกิดการหายเจ็บป่วย ล่าช้า หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมา หน่วยงานผู้ป่วยในจึงได้ทบทวน และพัฒนาระบบการบริหารยาเพื่อลดความคลาดเคลื่อนจากการให้ยาผู้ป่วยวัตถุประสงค์ 1. เพื่อลดความคลาดเคลื่อนจากการบริหารยา (Administration Error) 2. เพื่อได้รูปแบบการบริหารยาแผนกผู้ป่วยในที่เหมาะสม ระเบียบวิธีวิจัย รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยกึ่งทดลอง พื้นที่ทำการศึกษาแผนกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลไชยวาน กลุ่มที่ศึกษาเป็นผู้ป่วยในทุกราย ที่ได้รับยากิน ยาฉีด ยาพ่น และสารน้ำ เริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ 1ตุลาคม 2553-30 กันยายน 2557 โดยวิเคราะห์สถานการณ์ความคลาดเคลื่อนในการบริหารยาปี 2551-2553 ประชุมระดมสมองสหวิชาชีพได้แก่ แพทย์ เภสัชกร พยาบาล หารูปแบบการบริหารยาเพื่อลดความคลาดเคลื่อน นำรูปแบบที่ได้เป็นแนวทางการปฏิบัติงาน เก็บรวบรวมข้อมูลและประเมินผล การวัดผล (Outcome measures) วัดอัตราความคลาดเคลื่อนในการบริหารยา (Administration Error) เป้าหมายไม่เกิน 5: 1,000 วันนอน โดยเก็บจากรายงานความเสี่ยงความคลาดเคลื่อนในการบริหารยาแผนกผู้ป่วยในและรายงานเครื่องชี้วัดประจำเดือน ผลการศึกษา ปีงบประมาณ 2554 ปรับแนวทางการบันทึกเวลาการให้ยาใน Med sheet อย่างเป็น Real time และทำสัญลักษณ์ (Marking) โดยใช้ปากกาเน้นคำให้เห็นชัดเจนในยาฉีด ยากินก่อนอาหารและก่อนนอน ผลลัพธ์ความผิดพลาดในการบริหารยาลดลงเล็กน้อย เกิดทั้งหมด 29 ครั้ง คิดเป็นอัตรา 10.30: 1,000 วันนอน แต่จากการวิเคราะห์ยังพบว่ามีการให้ยาไม่ครบ หรือลืมให้ยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาก่อนนอน และยาไม่ประจำเวลา ปีงบประมาณ 2555 ได้พัฒนาต่อยอดโดยจัดทำนวัตกรรมหัวใจขี้ลืมโดยทำป้ายรูปหัวใจเล็กๆ “ห้ามลืม! ยาก่อนนอน” แขวนไว้ที่ล็อกยาของผู้ป่วยที่มียาก่อนนอน และเพิ่มการตั้งนาฬิกาปลุก เพื่อเตือนเวลาในการให้ยาที่ Station Nurse นอกจากนั้นยังกำหนดให้ Inchart เช็คใบ Med sheet อีกครั้งหลัง Member แจกยาก่อนนอนแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยได้รับยาครบถ้วนตามจริง ผลลัพธ์ปี 2555 ความผิดพลาดในการบริหารยาเกิดขึ้นทั้งหมดจำนวน 25 ครั้ง คิดเป็นอัตรา 6.81: 1,000 วันนอน ปีงบประมาณ 2556 ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลปีที่ผ่านมาพบว่ามีความคลาดเคลื่อนในเรื่องของยาฉีดเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ลืมฉีด ฉีดเกินขนาด ฉีดผิดเวลา ฉีดผิดชนิดและฉีดผิดคน เป็นต้น จึงได้มีการนำสติกเกอร์ยาฉีดราย dose ที่ปริ๊นซ์มาจากห้องยามาใช้ประโยชน์เพื่อระบุตัวผู้ป่วยให้ชัดเจนมากขึ้น โดยติดสติกเกอร์ที่ Syring ยาฉีดทุกตัวหลังเตรียมยาเสร็จ และปฏิบัติตามแนวทางการระบุตัวผู้ป่วยก่อนฉีดทุกครั้ง ผลลัพธ์ความผิดพลาดในการบริหารยาเกิดลดลงมาก โดยมีจำนวนทั้งหมด 15 ครั้ง คิดเป็นอัตรา 4.42: 1,000 วันนอน ปีงบประมาณ 2557 ปรับเปลี่ยน Doctor Order Sheet แบบเดิม มาใช้แบบ Copy Order เพื่อความสะดวกและลดการคัดลอกคำสั่งการรักษาต่างๆ ป้องกันการคัดลอกผิดพลาด ผลลัพธ์ปี 2557 ความผิดพลาดในการบริหารยาเกิดขึ้นทั้งหมด 11 ครั้ง คิดเป็นอัตรา 2.82: 1,000 วันนอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Human error ซึ่งเกิดจาการไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด

 


 

ปฏิกิริยาหลังรับเลือดของผู้รับบริการในโรงพยาบาลเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

วิกานดา  ปะนัดเต   และ วรรณิศา เพียรพิมาย

กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลเพ็ญ

ที่มาและความสำคัญ ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า การรักษาผู้ป่วยโดยการให้เลือดและส่วนประกอบของเลือด (Blood component) มีประโยชน์เพื่อใช้ทดแทนส่วนที่ร่างกายขาด อันเนื่องมาจากมีการสูญเสียหรือทำลายมากหรือร่างกายสร้างได้น้อยลง จนเกิดภาวะผิดปกติขึ้น เป็นการให้เพื่อทดแทน (replacement therapy)  แม้เลือดจะมีประโยชน์มากในหลายๆ ภาวะหรือโรค และเป็นการช่วยชีวิตในบางกรณี แต่หากปฏิบัติไม่ถูกต้องอาจมีผลแทรกซ้อนทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ผลเสียจากการให้โลหิตและความรุนแรงของปัญหาขึ้นอยู่กับชนิดขอส่วนประกอบเลือดที่ให้แก่ผู้ป่วยผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ผลที่เกิดจากปฏิกิริยาอิมมูนและไม่ได้เกิดจากปฏิกิริยาอิมมูน นอกจากนั้นยังสามารถแบ่งได้ตามระยะเวลาที่เกิดภาวะแทรกซ้อนแบบ immediate และ delayed type ความรุนแรงมีหลายระดับ ตั้งแต่ไม่มีอาการจนถึงเสียชีวิตได้  อันตรายจากการให้เลือดที่พบบ่อย ได้แก่  ไข้ขึ้น หนาวสั่น และ allergic reaction ซึ่งไม่ใช่ปฏิกิริยาที่รุนแรง ส่วนปฏิกิริยาที่รุนแรงที่สุดที่ทำให้ผู้ป่วยรับเลือดที่มีการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีการเกิด Febrile non hemolytic transfusion reaction (FNHTR) 1-2 % , Allergic reaction 1-2%, Immediate hemolytic transfusion reaction(IHTR) 1:25,000 และ Delayed hemolytic transfusion reaction 1:25,000 สำหรับในประเทศไทย พบว่ามีการเกิด Febrile non hemolytic transfusion reaction (FNHTR) 1:1,000, Allergic reaction 4:10,000, Immediate hemolytic transfusion reaction(IHTR) 3:1,000,000 และ Delayed hemolytic transfusion reaction 5:10,000 ซึ่งปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์จากการรับเลือดจะเกิดขึ้นทันทีหลังรับเลือดไปจนถึงได้รับเลือดครั้งต่อไป ซึ่งปฏิกิริยาที่รุนแรงจะปรากฏในระยะเวลาประมาณ 15 นาทีหลังจากเริ่มต้นให้เลือด และประวัติการเกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์จากการรับเลือดยังเป็นประโยชน์ในการพิจารณาให้เลือดครั้งต่อไป ดังนั้นการติดตามดูแลผู้ป่วยที่ได้รับเลือดจึงมีความสำคัญมากบุคลากรทางการแพทย์จึงควรมีการบันทึกอาการ อาการแสดง และภาวะทางคลินิกพื้นฐานของผู้ป่วยเมื่อเริ่มให้โลหิต และจะต้องติดตามดูการเปลี่ยนแปลง ผลข้างเคียง และภาวะแทรกซ้อนต่างๆเพื่อให้สามารถป้องกัน แก้ไขอันตรายที่อาจเกิดแก่ผู้ป่วยได้ทันที วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปฏิกิริยาที่เกิดกับผู้ป่วยหลังจากการรับเลือดในโรงพยาบาลเพ็ญ ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่าง ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดแล้วเกิดปฏิกิริยาหลังรับเลือดตั้งแต่ เม.ย. 2555 - มี.ค. 2556 วิธีการศึกษา การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive Research) เพื่อศึกษาปฏิกิริยาหลังรับเลือดของผู้ป่วยที่ได้รับเลือด ของผู้ป่วยที่ได้รับเลือดในโรงพยาบาลเพ็ญ สถานที่ โรงพยาบาลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ระยะเวลาในการศึกษา เมษายน 2555 – มีนาคม 2556 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลคือ เก็บข้อมูลจากแบบบันทึกปฏิกิริยาจากการรับเลือด แบ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลหมู่เลือด การได้รับเลือด ชนิดของเลือด และปฏิกิริยาหลังรับเลือด การวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิเคราะห์ข้อมูล นำเข้าและบันทึกข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป วิเคราะห์โดยใช้สถิติพรรณนา (Descriptive Statistic)สถิติ ร้อยละและสถิติ Chi - square test และในกรณีที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงเบื้องต้น ใช้ Fisher Exact Test ผลการศึกษาและสรุปผลการศึกษา 1. ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ในการรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยที่ได้รับเลือดในตึกผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพ็ญ ตั้งแต่ เม.ย. 2555 - มี.ค. 2556 จำนวน 674 units พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 58.9 (397/674) หมู่เลือดส่วนใหญ่เป็นหมู่เลือดกรุ๊ป B ร้อยละ 39.3 (265/674) กรุ๊ป O ร้อยละ 32.5 (219/674) กรุ๊ป A ร้อยละ 20.6 (139/674) และ กรุ๊ป AB ร้อยละ 7.6 (51/674) และชนิดของเลือดที่ได้รับส่วนมากคือ Pack red cell ร้อยละ 67.8 (457/674) และ Leukocyte poor packed red cell ร้อยละ 32.2 (217/674) 2. ข้อมูลการเกิดปฏิกิริยาหลังรับเลือด จากการรวบรวมข้อมูลการเกิดปฏิกิริยาหลังรับเลือดของผู้ป่วย พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เกิดปฏิกิริยา คิดเป็นร้อยละ 98.1 (661/674) และปฏิกิริยาที่เกิดส่วนใหญ่คือผู้ป่วยมีไข้ คิดเป็นร้อยละ 0.6 (4/674) รองลงมาคือผู้ป่วยที่ได้รับเลือดมีอาการหนาวสั่น คิดเป็นร้อยละ 0.4 (3/674), มีผื่นคัน คิดเป็นร้อยละ 0.4 (3/674), ความดันเปลี่ยนแปลง คิดเป็นร้อยละ 0.3 (2/674) และมีอาการเหนื่อยหอบ คิดเป็น ร้อยละ 0.1 (1/674) ตามลำดับ และจากการศึกษาข้อมูลพบว่าหมู่เลือดที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาหลังการรับเลือดมากที่สุดคือหมู่เลือดโอ (O) คิดเป็นร้อยละ 46.15 (6/13) รองลงมาคือหมู่เลือด บี (B) คิดเป็นร้อยละ 30.77 (4/13), เอบี (AB) คิดเป็นร้อยละ 15.38 (2/13) และเอ (A) คิดเป็นร้อยละ 7.70 (1/13) ตามลำดับ จากการศึกษาพบว่าชนิดของเลือดที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาหลังการรับเลือดมากที่สุดคือ Pack red cell ทั้งหมด 12 ราย คิดเป็นร้อยละ 92.31 ส่วน Leukocyte poor pack red cell ทำให้เกิดปฏิกิริยาหลังการรับเลือดเพียง 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.69

 

การประเมินผลกระบวนการจัดการเรียนรู้สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

E-mail Print PDF

นางโสพรรณ   เรืองเจริญ และคณะ

โรงพยาบาลหนองหาน  อำเภอหนองหาน

ที่มา เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ส่งผลต่อภาวะสุขภาพของมารดา เช่น การติดเชื้อ ความดันโลหิตสูง ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง-ต่ำ คลอดยากจากเด็กตัวโต และส่งผลต่อภาวะสุขภาพของทารก เช่น ทารกตัวโต ตายในครรภ์ พิการแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนด ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง - ต่ำ การดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นงานที่ต้องอาศัยกระบวนการในการดูแลเป็นรายบุคคลเพราะ หญิงตั้งครรภ์แต่ละคนมีพฤติกรรมในการรับประทานอาหารและพฤติกรรมในชีวิตประวัติวันที่แตกต่างกัน กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัวและบริการด้านปฐมภูมิ โรงพยาบาลหนองหานรับผิดชอบ คลินิกครรภ์เสี่ยงสูง ได้เห็นความสำคัญของการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จึงได้วิเคราะห์ถึงปัญหาในการปฏิบัติตัว พบว่ามีปัญหาในเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมอาหาร  หมวดข้าว แป้ง น้ำตาลได้ ซึ่งเป็นเพราะไม่ทราบว่าควรรับประทานอาหารชนิดใดและในปริมาณเท่าไร  ในแต่ละวัน จึงได้คิดนวตกรรม  คือ “มหัศจรรย์วงล้อ เท่าไรดีหนอ ข้าว แป้ง น้ำตาล สำหรับหญิงตั้งครรภ์” เพื่อใช้ในการคำนวณปริมาณอาหาร หมวด ข้าว แป้ง น้ำตาล  ที่เหมาะสมกับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานแต่ละราย โดยใช้ส่วนสูง ค่า BMI พฤติกรรมการออกแรงการทำงานในแต่ละวัน มาเป็นฐานในการคำนวณ  โดยผ่านกระบวนการโรงเรียนพ่อแม่และการติดตามให้ความรู้ในแต่ละครั้งที่มารับบริการ จนเกิดเป็นกระบวนการการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 จึงมีความสนใจที่จะประเมินผลของกระบวนการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลกระบวนการจัดการเรียนรู้ของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา กลุ่มตัวอย่าง หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ชนิด GDM A1 GDM A2 ที่มาฝากครรภ์ที่คลินิกครรภ์เสี่ยงสูง โรงพยาบาลหนองหาน ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ตั้งแต่ปี 2556–2558 วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาเชิงพรรณา โดยมีขั้นตอนดังนี้ 1. ศึกษาข้อมูลของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่ผ่านกระบวนการโรงเรียนพ่อแม่และกระบวนการเรียนรู้ในคลินิกครรภ์เสี่ยงสูงในเรื่อง 1.1 คำนวณส่วนของอาหารหมวดข้าว แป้ง น้ำตาล ที่เหมาะสมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานแต่ละราย 1.2 อธิบายส่วนของอาหารหมวดข้าว แป้ง น้ำตาล ที่รับประทานในชีวิตประจำวัน 1.3 อธิบายและสาธิตการบันทึกอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน และวิเคราะห์ว่าเหมาะสมหรือไม่ 2. แจงนับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ - กลุ่มที่ 1 ควบคุมอาหาร หมวด ข้าว แป้ง น้ำตาลได้ดี และมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดดี - กลุ่มที่ 2 ควบคุมอาหาร หมวด ข้าว แป้ง น้ำตาลได้ดี และมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี - กลุ่มที่ 3 ควบคุมอาหาร หมวด ข้าว แป้ง น้ำตาลไม่ดี แต่มีค่าระดับน้ำตาลในเลือดดี - กลุ่มที่ 4 ควบคุมอาหาร หมวด ข้าว แป้ง น้ำตาลไม่ดี และมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี 3. นำมาคำนวณค่าทางสถิติโดยใช้ Diagnostic Test วิเคราะห์ แปลผล สรุปผลการศึกษา สถานที่ คลินิกครรภ์เสี่ยงสูง กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัวและบริการด้านปฐมภูมิ โรงพยาบาลหนองหาน ระยะเวลา ปีงบประมาณ 2556 - 2558 ผลการศึกษา หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่สามารถควบคุมค่าระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี และอยู่ในกลุ่มผู้ที่สามารถปฏิบัติตามกระบวนการควบคุมอาหาร หมวดข้าว แป้ง น้ำตาลได้ดี คิดเป็นร้อยละ 84.70 ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่มีค่าระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี และอยู่ในกลุ่มผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามกระบวนการควบคุมอาหาร หมวดข้าว แป้ง น้ำตาลได้ คิดเป็นร้อยละ 93.54 สรุปผลการศึกษา หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ต้องมีกระบวนการในการควบคุมอาหารหมวดข้าว แป้ง น้ำตาลให้ได้ตามเกณฑ์ เพราะ ถ้าควบคุมไม่ได้ดีจะมีโอกาสที่ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดีถึงร้อยละ 93.54และในกลุ่มที่ควบคุมอาหารได้ดีจะมีโอกาสที่ระดับน้ำตาลในเลือดจะดีร้อยละ 84.70

 

ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน คปสอ.บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นางสาววรรษมล โศกสี

งาน NCD clinic โรงพยาบาลบ้านผือ

ที่มาและความสำคัญ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถรักษาด้วยการใช้ยาลดน้ำตาลชนิดกินควบคู่กับการควบคุมอาหารและน้ำหนักตัวหากปล่อยปละละเลยแม้จะไม่มีอาการก็สามารถเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาในระยะยาว (5-10 ปีต่อมา) (สุรเกียรติอาชานานุภาพ, 2552) โดยเฉพาะทางตาคือเบาหวาน เข้าจอประสาทตาเฉลี่ยประมาณร้อยละ 25.0 ของผู้ป่วยเบาหวาน (ประมาณ 8 แสนคน) ผู้นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่นได้แก่โรคหัวใจเส้นเลือดสมองตีบโรคไตเรื้อรังเป็นแผลเรื้อรังบริเวณเท้าต้องตัดเท้าหรือขาทำให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานต้องได้รับการดูแลและรักษาอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพชีวิตที่ลดลง (สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์, 2550) จากอัตราป่วยด้วยโรคเบาหวานเขตอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานีปี 2554-2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ อัตรา 3.57 , 3.55 และ 3.66 คนต่อแสนประชากรตามลำดับ การตรวจ HbA1C ในผู้ป่วยเบาหวาน พบว่า ปี 2554-2556 พบว่า HbA1C <7 มีแนวโน้มขึ้นๆ ลงๆ ร้อยละ 48.46, 58.68 และ 48.69 ตามลำดับ ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดภาวะแทรกซ้อนทาง ตา ไต หัวใจ เท้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการความคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน คปสอ.บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เนื่องจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง อยูเปนระยะเวลานานทําให้เกิดโรคแทรกซอนของอวัยวะตางๆ เชน ตา ไต ระบบประสาท โรคหลอดเลือดหัวใจได้ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องดูแลตนเองในการควบคุมระดับน้ำตาลในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการความคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน คปสอ.บ้านผือ จ.อุดรธานี วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน คปสอ.บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี 2. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน คปสอ.บ้านผือ จังหวัดอุดรธานีประกอบด้วย พฤติกรรมภายใน และพฤติกรรมภายนอก 3. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านพฤติกรรมภายใน และปัจจัยด้านพฤติกรรมภายนอกกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน คปสอ.บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ระเบียบวิธีวิจัย ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง : ใช้วิธีการสุ่มแบบMultistage sampling 336 คน จำนวนประชากรทั้งหมด 4,010 คน วิธีศึกษา วิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive research) สถานที่ พื้นที่เขตรับผิดชอบ คปสอ.บ้านผือจำนวน 21 แห่ง ช่วงเวลา เดือน ตุลาคม 2556 - สิงหาคม 2557 ระยะเวลา 6 เดือน การวิเคราะห์ข้อมูล 1. สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานค่าต่ำสุด และค่าสูงสุด 2. สถิติเชิงอนุมานหาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมภายในและภายนอกโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation coefficient)กับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผลการศึกษา พบว่า มีข้อมูลส่วนบุคคลดังนี้ กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 16.65 (S.D= 0.939) ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 83.33 พบกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำไร่/ทำนา/ทำสวนร้อยละ 45.54 รองลงมาประกอบอาชีพค้าขาย ร้อยละ 33.33 จบการศึกษาผู้ป่วยจบระดับประถมศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.40 ส่วนใหญ่แล้วมีระยะเวลาป่วยเฉลี่ยป่วย 9.62 ปี (S.D= 6.998) กลุ่มตัวอย่างมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,374.11 บาท (SD.=4.980)  HbA1C ครั้งล่าสุดพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มี HbA1c เฉลี่ย 8.32 mg% กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 77.68 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับบุตร ร้อยละ 83.93 และการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคเบาหวานพบว่าส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากบุคลากรทางการแพทย์(แพทย์/พยาบาล) ร้อยละ 94.40 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีทัศนคติต่อการดูแลตนเองอยู่ในระดับต่ำ ร้อยละ 84.52 ความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ร้อยละ 59.82 จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านพฤติกรรมภายในด้านความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน พบว่า มีความสัมพันธ์กันทางสถิติ ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ p<0.05 ด้านทัศนคติพบว่า ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านพฤติกรรมภายในด้านทัศนคติต่อการดูแลตนเองกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กันทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ p<0.05พฤติกรรมภายนอกด้านพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และพฤติกรรมการออกกำลังกายกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดพบว่ามีความสัมพันธ์กันทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ p0.05 พฤติกรรมภายนอกด้านพฤติกรรมการจัดการความเครียด และพฤติกรรมการใช้ยา พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กันทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ p<0.05

 

พฤติกรรมของผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

ผกามาศ  ศรีหริ่ง

โรงพยาบาลโนนสะอาด  อำเภอโนนสะอาด

ที่มาและความสำคัญ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) นับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งอาการผิดปกติ ที่บ่งบอกว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองสามารถประเมินได้ตาม FAST (F: Facial palsy, A: Arm drip, S: Speech, T: Time)  คือ อาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง อาการอ่อนแรงของแขนและขาซีกใดซีกหนึ่ง การพูดลำบาก พูดไม่ชัด และรู้เวลาที่เกิดอาการผิดปกติ เป็นต้น (พรพิมล  มาศสกุลพรรณ และคณะ, 2554)  โรคหลอดเลือดสมองยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก พบว่าในปี 2011 มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลกเป็น 6.2 ล้านคนต่อปีและเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยคิดเป็นร้อยละ 10.64 ของอัตราการเสียชีวิตทั้งหมด  ยังมีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือด-สมองทั่วโลกมากกว่า  15 ล้านคน  และพิการถึง 5 ล้านคน  ซึ่ง 2 ใน 3 ของผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา(World Health Organization [WHO], 2011) ประเทศไทยพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่ปี 2551-2554 เป็น20.78, 21.04, 27.53, 30.04 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ  มีอัตราการป่วยตั้งแต่ปี 2551-2553  เป็น  216.58, 277.67, 307.93 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ  และก่อให้เกิดความพิการอีกเป็นจำนวนมาก (สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค, 2556)  จังหวัดอุดรธานี พบอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่ปี 2551-2554  เป็น 13.44, 14.57, 19.2, 16.23 ต่อแสนประชากร  ตามลำดับ และอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง  100.19, 188.90, 230.63, 94.41 ต่อแสนประชากร  ตามลำดับ (สำนักโรคไม่ติดต่อ  กรมควบคุมโรค, 2556) และในอำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี จากสถิติรายงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555-สิงหาคม 2556 พบว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 3 คน และมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่จำนวน 23 คน  จากรายงานอัตราการป่วยเป็นโรคหลอด-เลือดสมองในปี 2555-2556 เป็น 168 คน (เวชระเบียนโรงพยาบาลโนนสะอาด, 2555) จากข้อมูลดังกล่าว พบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในอำเภอโนนสะอาดเป็นอย่างมาก จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นถึงภาวะโรคและความสูญเสียของโรคหลอดเลือดสมองซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ความพิการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และยังก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจของครอบครัว  ชุมชนและประเทศชาติ ซึ่งผู้ดูแลมีส่วนสำคัญอย่างมากในการดูแลผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเป็นผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องมีการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ฉะนั้นหากผู้ดูแลขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง  ไม่มีการรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคหลอดเลือด-สมอง การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและการป้องกันภาวะแทรกซ้อนด้านต่างๆ และขาดความตระหนักในการดูแลผู้ป่วยแล้ว เมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อน อาการแย่ลง พิการ ก็จะทำให้ผู้ดูแลเกิดความเครียดและท้อในการดูแลผู้ป่วยในที่สุด (สำนักที่ปรึกษา กรมอนามัย, 2556) จากปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยจึงเลือกทฤษฎีความสามารถตนเองมาใช้ในงานวิจัยเพื่อศึกษา พฤติกรรมขอผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง  อำเภอโนนสะอาด  จังหวัดอุดรธานี วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี และศึกษาความรู้ การรับรู้ความสามารถของตนเองของผู้ดูแล ความคาดหวังในผลลัพธ์ของการปฏิบัติตนในการดูแลผู้ป่วย การปฏิบัติตนในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในเรื่องการรับประทานยา อนามัยส่วนบุคคล การทำกายภาพบำบัด การรับประทานอาหาร การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การออกกำลังกาย การจัดท่าทางผู้ป่วย การป้องกันภาวะแทรกซ้อน พบแพทย์ตามนัด ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่างประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเป็นประจำทั้งเพศชายและเพศหญิงมีอายุอยู่ระหว่าง 20-50 ปี และอาศัยอยู่ในเขต อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี โดยการสุ่มตัวอย่างแบบเป็นระบบได้ตัวอย่าง จำนวน 54 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2557 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่ามัธยฐาน ค่าต่ำสุด และค่าสูงสุด โดยกำหนดที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 สรุปผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 72.22 เพศชาย ร้อยละ 27.78 มีอายุเฉลี่ย 38.37 ปี (sd.=10.22)  อายุต่ำสุด 20 ปี  อายุสูงสุด 50 ปี การศึกษาส่วนใหญ่คือประถมศึกษา  ร้อยละ 44.44 ดูแลผู้ป่วยมาแล้วเฉลี่ย 38.33 เดือน  เกี่ยวข้องเป็นลูก หลาน หรือญาติ ร้อยละ 77.78 และส่วนใหญ่อยู่บ้านเดียวกันกับผู้ป่วย ร้อยละ 74.07 มีความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 74.07 การรับรู้ความสามารถของผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 61.11 ความคาดหวังในผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตนในการดูแลผู้ป่วยอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 77.78 การปฏิบัติตนในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอยู่ในระดับสูง  ร้อยละ 55.56

 
More Articles...


Page 3 of 26
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday23
mod_vvisit_counterYesterday20
mod_vvisit_counterThis week23
mod_vvisit_counterLast week348
mod_vvisit_counterThis month348
mod_vvisit_counterLast month311
mod_vvisit_counterAll days249099

We have: 1 guests online
Your IP: : 3.147.104.248
Mozilla 5.0, 
Today: May 04, 2024

Polls

Who's Online

We have 1 guest online

Advertisement

Featured Links:
Joomla! Extensions
Joomla! Components, Modules, Plugins and Languages by the bucket load.

Popular