Research of Udonthani Provincial Health Office.

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size

นวัตกรรม สามใบเถาจับเข่าดูแลกันในหมู่บ้านต้นแบบเบาหวาน บ้านนาชุมแสง หมูที่ 6 ปี 2557 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาชุมแสง อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

รพ.สต.นาชุมแสง  อำเภอทุ่งฝน

ที่มาและความสำคัญ ปัญหาโรคเบาหวานเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวานจะก่อให้เกิดปัญหาทางด้านครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ เพราะโรคเบาหวานเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลให้เกิดความพิการทางด้านร่างกายและส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ รายได้ของผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งประชากรไทยทุกๆ 100 คนจะมีผู้เป็นเบาหวานถึง 6 คน และประมาณว่าร้อยละ 9.6 ของประชากรที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปในประเทศไทยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ร้อยละ 95 จากรายงานของสำนักนโยบายและแผนสาธารณสุขในปี 2542-2546 พบสาเหตุการตายด้วยโรคเบาหวานมีอัตราร้อยละ 11.4 ,12.2,13.2,11.8 และ 10.4 ตามลำดับ  โรคแทรกซ้อนของเบาหวานมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของการเป็นโรคเบาหวาน กล่าวคือ ยิ่งเป็นเบาหวานนานเท่าใดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนก็จะมากขึ้นเท่านั้น ผู้ที่เป็นเบาหวานนาน 12 ปี และ 20 ปี มีโอกาสเกิดโรคสมองตีบมากกว่าคนปกติ 2 และ 2.2 เท่าตามลำดับ และจากการศึกษาภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานของสมาคมโรคเบาหวานในประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 1999 พบว่า โรคเบาหวานเป็นสาเหตุการตายมากถึงร้อยละ 2.3 และเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ เช่นร้อยละ 19 การเกิดภาวะแทรกซ้อนทางตา ร้อยละ 48 เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม ร้อยละ 34 เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและร้อยละ 32 เกิดโรคหลอดเลือดส่วนปลาย และพบว่า โรคเบาหวานทำให้สิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากกว่าคนปกติถึง 3 เท่า จากการดำเนินงานคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาชุมแสงพบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งในปี 2556 มีผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.72 ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาชุมแสง ได้ดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาโดยตลอด จึงทำให้ในปีงบประมาณ 2557 พบผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ร้อยละ 3.87 ซึ่งลดลง จากข้อมูลการประชาคมและวิเคราะห์ข้อมูลบ้านนาชุมแสง หมู่ที่ 6 เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโรคเบาหวาน โดยมีข้อมูลกลุ่มเสี่ยงเบาหวานจำนวน 35 ราย และผู้ป่วยจำนวน 33 คน ดังนั้นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาชุมแสง จึงได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย คือ นวัตกรรม ”สามใบเถาจับเข่าดูแลกัน ในหมู่บ้านต้นแบบเบาหวาน หมู่บ้านนาชุมแสง หมู่ที่ 6” โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย อสม.นักจัดการสุขภาพ กลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยเบาหวาน ดูแลกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวัตถุประสงค์ 1.เพื่อลดกลุ่มเสี่ยงไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ 2.เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน กลุ่มเป้าหมาย 1.อสม.นักจัดการสุขภาพ จำนวน 24 คน 2.กลุ่มเสี่ยงเบาหวาน จำนวน 35 คน 3.ผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 33 คน ระยะะเวลาการดำเนินงาน ตุลาคม 2556 กันยายน 2557 วิธีการดำเนินงาน ขั้นเตรียมการ 1.ประชุมชี้แจงผู้ที่เกี่ยวข้อง 2.จัดประชาคมหมู่บ้านเพื่อหาปัญหาในชุมชนและจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย 3.เลือกหมู่บ้านต้นแบบในการแก้ไขปัญหา โดยเลือกจากการสมัครใจของผู้เข้าร่วมโครงการ กลวิธีดำเนินการ 1.อบรม อสม.นักจัดการสุขภาพ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วยเบาหวาน โดยจัดกลุ่มเป็นสามใบเถาจับเข่าดูแลกัน 2.จัดอบรม จิตอาสาในการนวดเท้าผู้ป่วยเบาหวาน หมู่บ้านละ 2 คนโดยจัดอบรมที่รพ.ทุ่งฝน 3.จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สู้ภัยเบาหวานขึ้นเพื่อดำเนินงานเดือนละ 1 ครั้ง โดยมีกิจกรรมดังนี้ - แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มคือ อสม. กลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยเบาหวาน - จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการโรคเบาหวานและอาการแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องโดยเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ร่วมกับจิตอาสา - จัดกิจกรรมบริหารร่างกายโดยการแพทย์แผนไทย เช่น ท่าฤาษีดัดตน การนวดเท้าด้วยตนเอง - จัดกิจกรรมนวดเท้าเบาหวานโดย จิตอาสาที่ได้รับการอบรมนวดแผนไทย 4. สรุปผลการดำเนินงานตามโครงการ สรุปผลการดำเนินงาน พบผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.86 กลุ่มเสี่ยงมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงค่าปกติคือ ต่ำกว่า 100 mg% จำนวน 25 ราย คิดเป็นร้อยละ 71.42 กลุ่มเสี่ยงมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงแต่ไม่ถึงค่าปกติ จำนวน 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 และกลุ่มเสี่ยงที่มีระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากเดิม จำนวน 3 คน คิดเป็นร้อยละ 8.57 เข้ารับการรักษาที่คลินิกปฏิเสธการรักษาที่โรงพยาบาล ผลการดำเนินงานติดตามภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานระหว่างเดือนมิถุนายน -กันยายน 2557 พบว่าผู้ป่วยเบาหวานมีระดับการทำงานของไตคงที่ คือ ระดับ 1 จำนวน 3 คน ระดับที่ 2 จำนวน 14 คน ระดับที่ 3 จำนวน 8 คน ระดับที่ 4 จำนวน 1 คน และระดับที่ 5 ไม่มี ผลการตรวจเท้าพบว่า ระดับต่ำ จำนวน 28 คน ระดับกลาง จำนวน 4 คน ระดับสูง จำนวน 1 คน และระดับสูงมากไม่มี ผลการตรวจตาพบว่า ปกติจำนวน 29 คน ผิดปกติ จำนวน 4 คนซึ่งได้รับการส่งต่อร้อยละ 100

 


Last Updated on Thursday, 29 October 2015 03:22
 

ความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคพยาธิใบใม้ตับของประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นายไสว  ชัยประโคม

รพ.สต.หนองแวง  อ.บ้านผือ

ที่มา และความสำคัญ อำเภอบ้านผือ ประกอบด้วย 13 ตำบล ในปี 2556 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับสำนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ 6 จังหวัดขอนแก่น กำหนดพื้นที่นำร่อง 2 ตำบล คือตำบลหนองแวง และตำบลกลางใหญ่ ตามโครงการสำรวจความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขตรับผิดชอบของ สปสช.เขต 8 อุดรธานี (เกษร แถวโนนงิ้ว และคณะ , 2556) ผลการสำรวจพบว่า อัตราชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับ พื้นที่ตำบลหนองแวง เท่ากับ 24.49 ( พื้นที่ สีแดง: ระบาดรุนแรง) พื้นที่ตำบลกลางใหญ่ เท่ากับ 8.33 (พื้นที่ สีเหลือง: ระบาดปานกลาง) ตำบลหนองแวง เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอบ้านผือ พื้นที่ติดกับอำเภอสุวรรณ คูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นพื้นที่ชนบทติดกับแนวเทือกเขาภูพาน มีลำห้วยงาวไหลผ่าน และมีแหล่งน้ำในการจับปลาน้ำจืดเป็นจำนวนมาก ทั้งพื้นที่ตำบล อำเภอ จังหวัดที่ใกล้เคียง ชุมชนตำบลหนองแวงเป็นชุมชนอีสาน มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และพฤติกรรมการบริโภคแบบไทเลยโบราณ จากข้อมูลการสำภาษณ์เชิงลึกและการจัดเวทีระดมสมองของ ดร.เกษร แถวโนนงิ้ว และคณะ ตามโครงการสำรวจความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขตรับผิดชอบของ สปสช.เขต 8 อุดรธานี (เกษร แถวโนนงิ้ว และคณะ, 2556)  สรุปผลพบว่า พฤติกรรมการบริโภคปลาและผลิตภัณฑ์จากปลาน้ำจืดแบบมีเกล็ด แบบดิบและหรือแบบสุกๆดิบๆ ของประชาชนเขตตำบลหนองแวง ยังพบจำนวนมาก และเป็นปัญหาทางสุขภาพอนามัยที่ต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมการบริโภค อย่างเร่งด่วนที่สุด วัตถุประสงค์ 1) ความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับของประชาชนกลุ่มเสี่ยงอายุ 40 ปีขึ้นไป 2) ความรู้ การรับรู้ด้านสุขภาพ และพฤติกรรมการป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี 3) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์และความเสี่ยงกับพฤติกรรมการการรับประทานปลาน้ำจืดมีเกล็ดแบบดิบ 4) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์และความเสี่ยงกับการติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ตับ ระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง วิเคราะห์แบบตัดขวาง ( Analytic Cross-sectional Descriptive Study) ประชากรที่ศึกษา คือประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่อาศัยในพื้นที่รับผิดชอบของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแวง ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ประกอบด้วย 10 หมู่บ้าน เป็นชุมชนเขตชนบท ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง ทำการเลือกกลุ่มตัวอย่าง เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูล โดยการคัดกรองด้วยวาจา (Verbal Screenning) ด้วยคำถาม 4 คำถามได้แก่ 1. เป็นคนอีสานโดยกำเนิดหรือมาอยู่อาศัยในพื้นที่ภาคอีสานและอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป 2. รับประทานปลาน้ำจืดหรือผลิตภัณฑ์จากปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดแบบดิบหรือสุกๆดิบๆ 3. มีประวัติเคยติดเชื้อและ/หรือตรวจพบไข่พยาธิใบไม้ตับในอุจจาระ 4. เคยกินยาฆ่าพยาธิใบไม้ตับ(ยาพราซิควอนเทล) เกณฑ์ในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง คือ ประชาชนที่เข้าเกณฑ์คำถามข้อที่ 1 และ ตอบคำถามว่า มี และ/หรือ ใช่ 1 ข้อขึ้นไป จากคำถามข้อที่ 2 ข้อที่ 3 และข้อที่ 4 เพียง 1 คำถาม ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มตัวอย่าง จากนั้นจะทำการขึ้นทะเบียนกลุ่มเสี่ยงด้วยแบบขึ้นทะเบียนกลุ่มเสี่ยง และบันทึกข้อมูลด้วยระบบฐานข้อมูลออนไลน์ อ้างอิงตาม กรอบการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันโรคมะเร็งท่อน้ำดี กลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี และ ตามโครงการพัฒนากระบวนการแก้ไขปัญหามะเร็งท่อน้ำดีแบบมีส่วนร่วม จังหวัดอุดรธานี ปีงบประมาณ 2557 ประชากรที่ศึกษา คือประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแวง จำนวน 3,830 คน คำนวณและเลือกกลุ่มตัวอย่าง แบบเลือกคลัสเตอร์ (Clusters Sampling Technique ) จำนวน 160 คน รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ สำรวจความชุกโดยการตรวจอุจจาระใช้วิธีการตรวจแบบ Modified Kato Katz จำนวน 1,500 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าp-value, ค่าPearson‘s Correlation Coefficient :Chi-square, ค่า Odds ratios : OR, ค่า 95%CI,ค่า Multiple Logistic Regression ระยะเวลาการวิจัยโดยเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่าง เดือน พฤศจิกายน 2556เดือน กรกฎาคม .. 2557 ผลการศึกษา พบว่า ความชุกของโรคเท่ากับร้อยละ 7.4 ลดลงจาก ร้อยละ24.49 ในปี 2556 และมีค่าใกล้เคียงกับพื้นที่อื่นๆในจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ มีความเสี่ยงและส่งผลต่อพฤติกรรมการควบคุมป้องกันโรคโรคพยาธิใบไม้ตับได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล เพศชายมีความเสี่ยงสูงกว่าเพศหญิง 3 เท่า(AOR=3.06,95% CI=2.20-4.26) กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ 4.4 เท่า (AOR=4.40,95%CI=2.15-9.01) ปัจจัยด้านความรู้มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(AOR=0.85 ,95%CI=0.56-1.29) ปัจจัยความเชื่อด้านสุขภาพมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับในเชิงป้องกัน (AOR=1.07,95%CI=0.46-2.47) ปัจจัยพฤติกรรมการบริโภคอาหารกลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 90 ยังคงรับประทานอาหารเสี่ยงตามวิถีชาวบ้านและไม่มีแนวโน้มที่คิดจะเลิกเลยเช่นปลาร้าดิบ แจ่วบอง ส้มตำใส่ปลาร้าดิบฯลฯ ส่วนปัจจัยระดับการศึกษา กลุ่มอาชีพ การอยู่อาศัยในพื้นที่ การอยู่ใกล้แหล่งน้ำ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าไม่มีความสัมพันธ์และส่งผลต่อการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ

 

การพัฒนาบริการในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางไตในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

E-mail Print PDF

นางปิยะนุช  ไชยสาส์น

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี

ที่มาและความสำคัญ ในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงแหว มีจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวนมาก โดยแยกเป็นผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 154 คน อัตราความชุกคิดเป็น 32.35 ต่อประชากรพันคนของประชากรอายุ 35 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจำนวน 300 คน อัตราความชุกคิดเป็น 63.01 ต่อประชากรพันคนของประชากรอายุ 35 ปีขึ้นไป และเป็นผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง จำนวน 325 คน อัตราความชุกคิดเป็น 68.26 ต่อประชากรพันคนของประชากรอายุ 35 ปีขึ้นไป ( ทะเบียนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงแหว, 2558 ) ซึ่งในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวจะพบโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา ในปีงบประมาณ 2558 พบว่าในผู้ป่วยโรคเบาหวานเกิดภาวะแทรกซ้อนทางตา จำนวน 8 ราย ร้อยละ 1.67, เกิดภาวะแทรกซ้อนทางไต จำนวน 39 ราย ร้อยละ 8.14, มีแผลที่เท้า จำนวน 1 ราย ร้อยละ 0.21 , มีโรคหลอดเลือดหัวใจ จำนวน 5 ราย ร้อยละ 1.04 และโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 3 ราย ร้อยละ 0.62ส่วนโรคความดันโลหิตสูง  พบว่า ภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดสมอง จำนวน 5 ราย ร้อยละ 1.67 และหลอดเลือดหัวใจ จำนวน 1 ราย  ร้อยละ 0.33 (ทะเบียนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงแหว, 2558 ) จากปัญหาดังกล่าว จะพบว่าภาวะแทรกซ้อนที่พบมากที่สุด คือ ภาวะแทรกซ้อนทางไต ซึ่งมีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Diabetes Nephropathy จำนวน 39 ราย โดยมีภาวะไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ( End stage renal Disease, ESRD ) จำนวน 13 ราย ได้รับการรักษาโดยการฟอกไตผ่านหน้าท้อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis ) จำนวน 6 ราย ได้รับการรักษาโดยการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) จำนวน 1 ราย ปฏิเสธการรักษาทั้งสองแบบเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จำนวน 6 ราย เมื่อการดำเนินของโรคเข้าสู่ระยะสุดท้าย จะส่งผลกระทบหลายอย่าง ทั้งภาวการณ์เจ็บป่วยของตนเอง ความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ จากข้อมูลของสำนักงานหลัก ประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ผู้ป่วยไตเรื้อรังแต่ละคนต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละกว่า 30,000 บาทต่อเดือน และหากไม่มีการแก้ไข เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2560 อาจต้องใช้งบประมาณถึงกว่า 17,000 ล้านบาท (สปสช., 2555) ดังนั้น ทีมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงแหว จึงได้เกิดแนวคิดในการพัฒนาบริการในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางไต โดยอาศัยการทำงานเป็นทีม การทำงานเชิงรุกในชุมชน กระบวนการจัดการที่ดีในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เน้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการ  ผู้ป่วยและครอบครัว และชุมชน จนสามารถดูแลตนเองได้ เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นทั้งระยะสั้นและระยะยาวและลดภาวะแทรกซ้อนทางไตลงได้ วัตถุประสงค์1.เพื่อให้พัฒนาแนวทางการจัดบริการเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางไตในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 2. เพื่อส่งเสริมให้บุคคล ครอบครัว และชุมชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคไตเรื้อรังในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ระเบียบวิธีวิจัย การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษา โดยการใช้กระบวนการพัฒนาคุณภาพ (Deming’s model) และแนวคิด Chronic care model มาพัฒนา ในการป้องกันโรคไตเรื้อรังในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ มีการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวน 150 คน ที่ยังไม่ได้รับวินิจฉัยว่าเป็น Diabetes nephropathy และรับบริการการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงแหว อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 163 คน ผู้นำชุมชน 26 คน ที่อาศัยอยู่ตำบลเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ทีมสหวิชาขีพ จากโรงพยาบาลกุมภวาปี จำนวน 3 คน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงแหว จำนวน 7 คน ระยะเวลาในการศึกษาครั้งนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 – มีนาคม 2558 การศึกษาครั้งนี้โดยเครื่องมือที่ใช้คือ แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ การสนทนาและการสังเกต ใช้สถิติเชิงพรรณนาในการบรรยายคุณลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพได้นำมาวิเคราะห์สภาพการณ์การจัดบริการสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การสนทนากลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ดูแลหลัก วางแผนจัดบริการการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง ตามปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยเบาหวาน มีการสะท้อนข้อมูลคืนแก่ผู้เกี่ยวข้อง นำข้อมูลที่ได้มาจัดทำแผนการจัดบริการการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังตามแผนและติดตามผลการจัดบริการอย่างต่อเนื่อง การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ประเมินผลการพัฒนาการบริการในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางไตอย่างต่อเนื่องในชุมชน ผลการศึกษาและสรุปผลการศึกษา ระดับบุคคล - ผู้ป่วยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง มีแนวโน้มดีขึ้นก่อนการดำเนินการ โดยพบว่าร้อยละผู้ป่วยเบาหวานที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ (>130 mg/dl) ปี 2556 , 2557 และ 2558 คือ 54.2, 51.04 และ 64.10 - จากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยพบว่ามีพฤติกรรมดังต่อไปนี้ 1) ผู้ป่วยส่วนใหญ่ดูแลเรื่องการรับประทานยาด้วยตนเอง หากผู้ป่วยลืมก็จะรับประทานยาทันทีเมื่อนึกได้ มีผู้ป่วยเพียง 2 คนที่ญาติเป็นผู้ดูแลกำกับในการรับประทานยา และจะไปตรวจตามนัดทุกครั้ง 2) ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ออกแรงกายโดยการทำนา ทำไร่มีการออกกำลังกายโดยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อโดยผ้าขาวม้า และไม้พอง สัปดาห์ละ 2-3 วัน ครั้งละประมาณ 15 -20 นาทีมีผู้ป่วย 2 คน ที่ไม่ได้ออกแรงและออกกำลังกายเนื่องจากมีข้อจำกัดในการออกกำลังกาย 3) ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการจัดการความเครียด โดยการพูดคุยกับลูกหลาน ญาติ และเพื่อนบ้าน หรือบางครั้งในช่วงเข้าพรรษาจะมาจำวัดถือศีล ที่วัด ไม่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ นอนหลับประมาณวันละ 5-6 ชั่วโมง ไม่ชอบนอนกลางวัน เพราะทำให้กลางคืนนอนลำบาก 4) เมื่อมีการเจ็บป่วยส่วนใหญ่รับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ไม่ซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากกลัวเป็นโรคไตวาย มีผู้ป่วยเพียง 4 คน ที่เคยรับประทานยาสมุนไพร และน้ำหมัก ระยะเวลาการใช้ 1 ปี โดยหาซื้อจากร้านค้าในตัวอำเภอและมีตัวแทนจำหน่ายในหมู่บ้าน ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว เนื่องจากมีผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง จำนวน 3 คน เสียชีวิตด้วยโรคไตวายเฉียบพลัน หลังใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 ปี จึงตัดสินใจหยุดใช้เพราะกลัวผลข้างเคียงของยา 5) พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ / สูบบุหรี่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์ มีผู้ป่วย 3 คน ที่เลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์แล้ว ยังมีผู้ป่วยเพียง 2 คน ที่ยังดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เฉลี่ยในช่วง 1 สัปดาห์ ดื่มเบียร์ประมาณ 3 – 4 ขวด ส่วนสุราจะดื่มในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เป็นต้น สูบบุหรี่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สูบบุหรี่ มีผู้ป่วย 3 คน ที่เคยมีพฤติกรรมสูบบุหรี่แต่ปัจจุบันเลิกสูบแล้ว เลิกสูบมาประมาณ 10 – 15 ปี และมีผู้ป่วยเพียง 2 คน ที่ยังมีพฤติกรรมสูบบุหรี่อยู่ โดยสูบวันละ 10 – 15 มวนต่อวัน ระดับครอบครัว ผู้ดูแลเห็นความสำคัญและทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชน จึงให้ความร่วมมือในการร่วมกิจกรรมต่างๆ ระดับชุมชน มีการพัฒนาศักยภาพของอสม.และผู้นำชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการวางแผนในการติดตามเยี่ยมดูแล และร่วมวางแผนแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งให้คำแนะนำและเสริมกำลังใจซึ่งกันและกันในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมควรมีการจัดกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่สม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ระดับทีมสุขภาพ 1) มีการวางแผนร่วมกันเพื่อจัดบริการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการ 2) มีการนำใช้และวิเคราะห์ข้อมูลเสมอ 3)มีแนวทางในการส่งต่อผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนไปยังโรงพยาบาลกุมภวาปี และการวางแผนในการดูแลอย่างเหมาะสม

Last Updated on Thursday, 29 October 2015 03:05
 

ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินในคลินิกเบาหวานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสำราญ ตำบลบุ่งแก้ว อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นางงธมลวรรณ   พงษ์พิสิฏฐ์

รพ.สต.โนนสำราญ อ.โนนสะอาด

ที่มาและความสำคัญ โรคเบาหวานซึ่งเป็นโรคเรื้อรังเกิดจากความผิดปกติในการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน  มีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ และเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่สามารถป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน ความชุกของเบาหวานเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ประเทศกำลังพัฒนาต้องแบกรับภาระการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ที่เป็นเบาหวานในกลุ่มคนที่อายุน้อยและกำลังอยู่ในวัยทำงาน (35-64 ปี) สำหรับประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.3553มีผู้เป็นเบาหวานในประเทศไทย 3.5 ล้านคน จากผลรายงานประจำปี การเฝ้าระวังโรคจากพฤติกรรมเสี่ยงของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี พ.ศ.3547 มีผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น โดยพบอัตราความชุกในเพศชาย ร้อยละ 6.4  เพศหญิง ร้อยละ 7.3 และอัตราการป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นจาก 1,415.5 ต่อประชากรแสนคน ในปี พ.ศ.3541 เป็น 1,511.3 และ 3,131.4 ต่อประชากรแสนคน ในปี พ.ศ.3544 และ พ.ศ.3547 ตามลำดับ นอกจากนี้จากรายงานการเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี พบว่า สถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้องรังที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุข มีอัตราป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น จาก 493.39 ในปี 3554 เป็น 1,076.06 ในปี 3555 และ ในปี 3556 เป็น 1,143.96 ต่อแสนประชากร (http://social.nesdb.go.th) จากรายงานผู้ป่วยโรคเบาหวานของอำเภอโนนสะอาด  จังหวัดอุดรธานี  ก็พบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีโดยใน ปี พ.ศ. 3557 จำนวน  3,186  คน (ทะเบียนผู้ป่วยเรื้อรังโรงพยาบาลโนนสะอาด, 3557)  และผู้ป่วยเบาหวานในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสำราญ ตำบลบุ่งแก้ว  อำเภอโนนสะอาด  จังหวัดอุดรธานี พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน  โดยมีผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานในปี พ.ศ. 3555  จำนวน 390 คน ปี พ.ศ. 3556 จำนวน 393 คน และในปี พ.ศ. 3557 จำนวน 333 คน เป็นผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่คลินิกเบาหวานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสำราญ จำนวน  45  คน  เป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน  จำนวน 45  คน  ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ (ทะเบียนผู้ป่วยเบาหวานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสำราญ, 3557)จากปัญหาและความสำคัญดังกล่าว  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสำราญ  จึงพิจารณาจึงการศึกษา เกี่ยวกับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน  โดยศึกษาปัจจัยที่เกิดจากลักษณะด้านประชากร และปัจจัยด้านการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการให้คำแนะที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยเบาหวาน  วางแผนในการพัฒนาและส่งเสริมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสำราญ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และลดความรุนแรงของโรคลงอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานมีชีวิตอยู่ในครอบครัว และสังคมอย่างเป็นปกติสุขเช่นบุคคลทั่วไป วัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาลักษณะของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินที่รักษาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนสำราญ ตำบลบุ่งแก้ว อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ระเบียบวิธีวิจัย  กลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ใช้เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เป็นผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด ที่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ป่วยเบาหวานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสำราญ ตำบลบุ่งแก้ว อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 3556 - 30 เมษายน 3557 และมารับบริการรักษาโรคเบาหวานที่คลินิกเบาหวานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสำราญ ตำบลบุ่งแก้ว อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี จำนวน 45 คน วิธีการศึกษา การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์ (Analytical study)เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสำราญ ตำบลบุ่งแก้ว อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี สถานที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสำราญ ตำบลบุ่งแก้ว อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี ระยะเวลา ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 3556 - 30 เมษายน 3547 การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล โดยการแจกแจงความถี่ และร้อยละของลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง และหาค่าอัตราความเสี่ยงสัมพันธ์ (Odds Ratio, OR) ตัวแปรปัจจัยทางประชากร อายุ เพศ ระดับการศึกษา ระยะเวลาการรักษา ดัชนีมวลกาย ความสม่ำเสมอของการมารับยา ความรู้ และการปฏิบัติตัวที่มีความสัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือดโดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งมีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 140 mg% และกลุ่มที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ซึ่งมีระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 140 mg% ขึ้นไป ผลการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 83.33 มีอายุส่วนใหญ่ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 53.33 มีสถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 68.89 และมีอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 88.89 ระยะเวลาที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากกว่า 3 ปี ร้อยละ 66.67 ระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ย 133.06 mg% และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้อยละ 71.11 ส่วนปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มนี้ได้แก่ การปฏิบัติตัวที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของตัวเองทั้งในด้านการรับประทานอาหาร ผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินส่วนใหญ่มีการปฏิบัติตัวอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 60.00 อยู่ในระดับดี ร้อยละ 31.11 และอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ร้อยละ 8.89 ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ไม่ออกกำลังกายเป็นประจำร้อยละ 43.33 ปัจจัยที่เกี่ยวกับการใช้ยา การติดตามการรักษาและการดูแลสุขภาพอนามัยทั่วไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการปฏิบัติตัวอยู่ในระดับดี ร้อยละ 55.56 อยู่ในเกณฑ์ระดับปานกลาง ร้อยละ 44.44 โดยสรุปผลการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยทุกด้านส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 63.33 และระดับดี ร้อยละ 37.78 ส่วนผลการทดสอบความสัมพันธ์เกี่ยวกับตัวแปรปัจจัยต่างๆ ด้านเพศ อายุ อาชีพ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา การออกกำลังกาย ระยะเวลาที่ป่วย ค่าดัชนีมวลกายและรายได้เฉลี่ยต่อเดือน กับระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ในการศึกษาพบว่าไม่มีความสัมพันธ์กันที่นัยสำคัญทางสถิติ ที่ p-value=0.05 สรุปผลการศึกษา ลักษณะของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินที่รักษาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนสำราญ ตำบลบุ่งแก้ว อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 4 เท่า เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ (ค่าเฉลี่ย 60.69 ปี) โดยส่วนใหญ่มีสภาพสมรส มีอาชีพเกษตรกรรม รายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวต่ำกว่า 3,000 บาท มีการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวานมาก่อนมากกว่า 3 ปี ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 140 mg% หนึ่งในสามส่วนของผู้ป่วยทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินอยู่ในกลุ่มที่อาศัยอยู่ในภาวะพึ่งพิงมีภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดีและมีแนวโน้มควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ซึ่งพบว่าลักษณะทางประชากรและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยด้านอาหาร การออกกกำลังกายและการใช้ยา การติดตามรักษาไม่มีความสัมพันธ์กันที่นัยสำคัญทางสถิติ ที่ p-value=0.05 แสดงว่ายังมีปัจจัยอื่นๆที่มีความสัมพันธ์กับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ยังต้องค้นหาและทำการศึกษาในพื้นที่ต่อไป แต่การรับประทานอาหารที่ถูกต้อง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และปัจจัยด้านการใช้ยา การติดตามผลการักษา ยังเป็นวิธีการที่ดีในการป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานได้ไม่มากก็น้อย การนำผลงานไปใช้ประโยชน์ จากลักษณะทางประชากรของผู้ป่วยหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด หรือแม้แต่ในระดับประเทศสามารถนำไปวางแผนการปฏิบัติงานควบคุมป้องกันโรคเบาหวานในกลุ่มประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มป่วย และส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ป่วยเบาหวานได้มีกิจกรรมที่หลายหลายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและค้นหาปัจจัยเสี่ยงในชุมชนเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ารมีส่วนร่วมของผู้ป่วยในการให้ข้อมูลและนโยบายที่เข้าถึงกลุ่มประชากรกลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย ทำให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่มีคุณภาพ

 

Last Updated on Thursday, 29 October 2015 03:06
 

การพัฒนารูปแบบการบริการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานด้วยกลวิธีพัฒนาทักษะความสามารถของ อสม. ในการบริการเจาะเลือดจากปลายนิ้ว รพ.สต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ปีงบประมาณ 2557

E-mail Print PDF

นายวชิระ รัตนเพชร

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเชียง

ที่มาและความสำคัญ ประเทศไทยในปัจจุบันพบว่า มีผู้ป่วยโรคเบาหวานถึง 3ล้านคนและเมื่อเป็นโรคเบาหวานแล้วมักจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย ความพิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อำเภอหนองหานมีผู้ป่วยเบาหวานที่ขึ้นทะเบียน 3,353 คน ตำบลบ้านเชียง มีผู้ป่วยเบาหวาน 398 คน โดยมีกลุ่มเป้าหมายการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานด้วยวิธีการเจาะเลือดฝอยจากปลายนิ้วทั้งสิ้น จำนวน 7,341 คน ซึ่งต้องดำเนินการเจาะเลือดฝอยเฝ้าจากปลายนิ้วเฝ้าระวังทุกๆปีเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนร้อยละ 90 งานบริการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานจึงเป็นงานที่สำคัญ เพราะถือได้ว่าการเจาะเลือดฝอยจากปลายนิ้วจะเป็นการค้นหาผู้ป่วยได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะช่วยทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค โดยรูปแบบเดิมของการดำเนินงานคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานของประชาชนในพื้นที่ตำบลบ้านเชียง จะเป็นเจ้าหน้าที่ประจำรพ.สต.จะเป็นผู้เจาะเลือดตรวจคัดกรองโรคเบาหวานแก่ประชาชนที่มารับการตรวจคัดกรอง แต่เนื่องจากการไม่สามารถเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ทั่วถึง ทำให้ผลงานการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานของตำบลบ้านเชียงในปีงบประมาณ 2555 และ 2556ได้ผลงานเพียงร้อยละ 35.26 และร้อยละ 48.72 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งไว้ คณะผู้วิจัยจึงตั้งใจที่จะพัฒนางานนี้ให้ดียิ่งๆขึ้น ด้วยแนวคิดพัฒนาทักษะความสามารถของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านให้มีทักษะในการบริการเจาะเลือดฝอยจากปลายนิ้วคัดกรองโรคเบาหวาน เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายและเพิ่มจำนวนผู้ได้รับการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป วัตถุประสงค์ 1. เพื่อพัฒนารูปแบบใหม่ของการบริการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ที่เหมาะสมกับ รพ.สต.บ้านเชียง โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสมและเต็มประสิทธิภาพ 2. เพื่อเปรียบเทียบผลการคัดกรองโรคเบาหวาน ระหว่างก่อน กับ หลัง การนำรูปแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นไปดำเนินการ ระเบียบวิจัย การวิจัยนี้เป็นวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-Experimental Research ) แบบกลุ่มเดียว วัดก่อน-หลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างหลักคือ อสม.ที่จะผ่านการเจาะปลายนิ้ว ส่วนกลุ่มเป้าหมายรองคือ ประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไปในพื้นที่รับผิดชอบ ระหว่างวันที่1 ตุลาคม 2556 ถึง 31 มกราคม 2557 เปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างก่อนและหลังการนำรูปแบบใหม่มาดำเนินการ โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติทดสอบPaired t-test ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%CI ผลการศึกษา รูปแบบใหม่ของงานบริการเจาะเลือดฝอยจากปลายนิ้วเพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน ที่พัฒนาขึ้น โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสมกับพื้นที่ปฏิบัติงาน คือการเพิ่มทักษะความสามารถของอาสาสมัคร โดยใช้กระบวนการฝึกอบรมให้ความรู้ และจัดให้มีการสอบภาคปฏิบัติภายใต้การกำกับและดูแลของฝ่ายเทคนิคการแพทย์ จากโรงพยาบาลหนองหาน โดยเริ่มจากการคัดเลือกตัวแทน อสม.ของแต่ละหมู่บ้านของตำบลบ้านเชียง จำนวน 60 คน จาก 187 คน เข้ามารับการฝีกอบรมให้ความรู้เรื่องการเจาะเลือดฝอยจากปลายนิ้วเพื่อตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน และหลังจาก อสม.ผ่านการอบรมแล้ว ได้มีการประสานหน่วยงานองค์การปกครองในพื้นที่เพื่อให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ แก่ อสม.ผู้ปฏิบัติงาน ก่อให้เกิดเครือข่าย อสม.เจาะปลายนิ้วที่เข้มแข็งและมีความพร้อมปฏิบัติงานในพื้นที่ตลอดเวลา พบว่า อสม.ที่ผ่านการอบรมการเจาะปลายนิ้วมีความรู้ความเข้าใจอก่อนการอบรมคิดเป็น ร้อยละ 46 หลังการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ90อสม.ที่ผ่านการอบรมสามารถผ่านการทดสอบภาคปฏิบัติทุกคน โดยการพัฒนารูปแบบใหม่ของงานบริการ เจาะเลือดฝอยจากปลายนิ้วเพื่อคัดกรองเบาหวานนี้ ใช้การประยุกต์กระบวนการ PDCA แบบบูรณาการ โดยใช้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลางทำให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับบริการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานที่เพิ่มขึ้น จากร้อยละ48.72 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 90.17 ในปี 2557 การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ 1. กระบวนการพัฒนา งานบริการเจาะเลือดฝอยจากปลายนิ้ว รูปแบบใหม่ที่ใช้ในการวิจัยนี้ ช่วยให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวกและง่ายขึ้น และยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการอย่างแท้จริง 2. รพ.สต.บ้านเชียง ได้จัดให้มีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพฟื้นฟูทักษะ และขยายเครือข่ายอสม.เจาะปลายนิ้วให้ครอบคลุมกับจำนวน อสม. และสอดคล้องกับจำนวนหลังคาเรือนที่ อสม.ต้องรับผิดชอบ และจะจัดเป็นประจำทุกปี โดยให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกระบวนการจัดความรู้ (KM)เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน 3. งานวิจัยชิ้นนี้ รพ.สต.บ้านเชียง ได้นำไปเผยแพร่และเสนอต่อ ที่ประชุม กองทุนหลักประกันสุขภาพส่วนท้องถิ่นเทศบาลตำบลบ้านเชียง และ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเชียง ในวันที่ 4 มีนาคม 2557 ณ เทศบาลตำบลบ้านเชียง เพื่อคืนข้อมูลและสรุปผลการดำเนินงาน ตามที่ได้รับการสนับชุดตรวจน้ำตาล และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จากทั้ง 2 กองทุน บทเรียนที่ได้รับ การทำงานทุกอย่างไม่ได้มีความราบรื่นเสมอไป ล้วนแต่มีปัญหาให้เรานั้นได้แก้ไขเสมอ แต่อยู่ที่ว่าการแก้ไขปัญหานั้นจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร ตามบริบทในพื้นที่นั้นๆ และการทำงานเป็นทีมที่ดีและสมบูรณ์แบบที่สุดนั้น คือการทำงานที่มีความสามัคคี มองทุกคนเป็นองค์รวม มองทุกคนเป็นเพื่อนร่วมงานที่มีประสิทธิภาพและศักยภาพในการทำงานเท่ากันทุกคน ปัจจัยแห่งความสำเร็จ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ตำบลบ้านเชียง มีความร่วมมือ ร่วมใจและจับมือก้าวเดินด้วยความมั่นคง มี อสม.ที่น่ารัก มีความเข้มแข็ง มีจิตใจที่เสียสละในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และสามารถเข้าถึงได้ทุกๆหลังคาเรือนที่รับผิดชอบ มีผู้บริหารชุมชน มีผู้นำท้องถิ่นที่มีความเมตตาเข้าใจถึงความเสียสละ เข้าใจถึงบทบาทและภาระหน้าที่ของทั้ง อสม.และ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ก่อให้เกิดฟันเฟืองของการขับเคลื่อนสุขภาพ เกิดความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการ และเหนือสิ่งอื่นใด คือ ทุกภาคส่วนมีเป้าหมายเดียวกันในการที่จะแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน

Last Updated on Thursday, 29 October 2015 03:05
 
More Articles...


Page 8 of 26
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday6
mod_vvisit_counterYesterday23
mod_vvisit_counterThis week6
mod_vvisit_counterLast week368
mod_vvisit_counterThis month354
mod_vvisit_counterLast month311
mod_vvisit_counterAll days249105

We have: 2 guests online
Your IP: : 3.138.138.144
Mozilla 5.0, 
Today: May 05, 2024

Polls

Who's Online

We have 2 guests online

Advertisement

Featured Links:
Joomla! Extensions
Joomla! Components, Modules, Plugins and Languages by the bucket load.

Popular