Research of Udonthani Provincial Health Office.

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size

การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไต โดยใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง Chronic Care Model ด้วยกระบวนการ PDCA ศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลทุ่งฝน อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นางมลทา  ทายิดา และ คณะ

ศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลทุ่งฝน อำเภอทุ่งฝน

ที่มาและความสำคัญภาวะแทรกซ้อนทางไตอวัยวะที่สำคัญของผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นปัญหาที่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทย มีผู้ป่วยไตวายเรื้อระยะสุดท้ายต้องได้รับการรักษาโดยวิธีฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไต คาดการณ์ว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าหากไม่มีการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้วิธีป้องกันโรคไตอย่างเหมาะสม อาจจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น   รัฐบาลได้มีการสำรองงบประมาณสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคไตราว 4,500 ล้านบาท และคาดว่าหากมีผู้ป่วยสะสมมากขึ้นในระยะเวลา 5-10 ปี อาจพุ่งถึง 10,000 ล้านบาทต่อปี  ทั้งนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคเบาหวาน ซึ่งมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายประมาณ 20,000 คน นอกจากนี้จากรายงานการเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ยังพบผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 29,433 คน ที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไต จึงมีความจำเป็นที่ต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไต เพื่อป้องกันหรือชะลอไม่ให้เข้าสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้าย ต้นปี 2556 ในเขตรับผิดชอบศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลทุ่งฝน มีผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 492 ราย มีภาวะแทรกซ้อนไต ระดับ 3 จำนวน 185 ราย คิดเป็นร้อยละ 37.60 ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่ภาวะไตวายจะพัฒนาไปสู่ระยะรุนแรงมากขึ้นหากไม่ได้รับการดูแลที่มีคุณภาพ ศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลทุ่งฝน มีแนวทางการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนโรคไตใช้การเสริมพลังอำนาจผ่านชมรมทุ่งฝนรักษ์ไต ทำให้ชะลอภาวะไตวายไม่ให้เข้าสู่ระยะรุนแรงได้ระดับหนึ่ง  อย่างไรก็ดี ข้อมูลเชิงลึก พบว่าผู้ที่มีภาวะแรกซ้อนทางไตมีการดูแลตนเองต่างกันออกไป แม้จะมีนโยบายลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลโดยส่งผู้ป่วยเบาหวานกลับสู่หน่วยบริการระดับปฐมภูมิ แต่ตามนโยบายดังกล่าวยังเป็นข้อจำกัดสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิในโรงพยาบาลทุ่งฝน  ที่สำคัญรูปแบบการดูแลยังไม่เอื้อต่อการดูแลที่เป็นระบบครบวงจรต่อเนื่องอย่างไร้รอยต่อ ทั้งในโรงพยาบาลและในชุมชน ส่งผลให้ขาดความยั่งยืนในการดำเนินกิจกรรมการดูแลผู้ป่วยไม่มีประสิทธิภาพ จึงยังมีแนวโน้มที่อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางไตจะสูงขึ้นตามมา  จากการวิเคราะห์ของผู้ศึกษาแล้วพบว่า ด้านบริการเป็นการตั้งรับอยู่ในโรงพยาบาล และเป็นบริการเฉพาะบุคลากรในหน่วยปฐมภูมิ ด้านผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีข้อจำกัดหลายด้านในการเข้าถึงบริการ มีพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสมในการควบคุมสภาวะของโรค เช่น รับประทานอาหารรสเค็ม  การใช้ยาแก้ปวด ขาดการออกกำลังกาย ขาดการรับบริการตามนัด ด้านผู้ดูแลและชุมชน ขาดรูปธรรมการมีส่วนร่วมในการดูแลและสนับสนุนผู้ป่วย  เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์และการศึกษาเอกสาร ผู้ศึกษาและคณะได้ร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และสามารถปฏิบัติได้จริงจากเหตุผลดังกล่าว โดยใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้ง  6  องค์ประกอบ Chronic Care Model (CCM) ด้วยกระบวนการ PDCA   ในการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไต วัตถุประสงค์ 1. เพื่อพัฒนารูปแบบใหม่ของงานบริการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไตที่เหมาะสมกับบริบท ของศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลทุ่งฝนจังหวัดอุดรธานี 2. เพื่อประเมินผลระดับความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนไตวายในผู้ป่วยเบาหวาน 3. เพื่อนำการพัฒนาแบบใหม่ไปดำเนินการการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไตในเขตพื้นที่ศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี ระเบียบวิธีวิจัย การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแรกซ้อนทางไตนี้ เป็นวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) ในการพัฒนารูปแบบใหม่ของงานการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไต โดยเลือกเฉพาะเจาะจงพื้นที่ เขตรับผิดชอบศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลทุ่งฝน ศึกษานำร่อง 4 ชุมชน ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ 1) ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไตระดับ 3 ที่สมัครใจ จำนวน 45 คน 2)ผู้นำชุมชนและ อาสาสมัครสาธารณสุขเชี่ยวชาญด้านโรคเรื้อรัง จำนวน 15 คน และ 3) ทีมสหสาขาวิชาชีพผู้ให้บริการ จำนวน 10 คน ระยะเวลา ระหว่าง มกราคม 2556 – กันยายน 2557 เครื่องมือในการศึกษา เป็นแบบสอบถาม แนวคำถามการสัมภาษณ์เชิงลึก และ การเสวนากลุ่ม (Group Dialogue) และสังเกตอย่างมีส่วนร่วม การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลโดยการตรวจสอบสามเส้า (triangulation) เวลา สถานที่ และบุคคล วิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และวิเคราะห์ในเชิงเนื้อหา (Content Analysis) ผลการศึกษา การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไต ได้รูปแบบประกอบด้วย 1. ปรับรูปแบบการบริการ จากตั้งรับเป็นบริการเชิงรุกสู่ชุมชนทุกหมู่บ้าน ทุกวันพฤหัสบดี บ้านคู่เดือนคู่ บ้านคี่เดือนคี่ ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้สะดวกรวดเร็ว 2. การบริหารจัดการยาโดยพยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ตรวจสอบสั่งใช้ยาและมีเภสัชกรรับผิดชอบจัดยาบรรจุในซองสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน ก่อนจ่ายแก่ผู้ป่วยพยาบาลตรวจสอบอีกครั้งเพื่อให้ได้รับยาที่ถูกต้องเพียงพอ 3. ทีมสหสาขาซึ่งประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ กายภาพบำบัด เภสัชกร แพทย์แผนไทย นักวิชาการสาธารณสุข จิตอาสา ร่วมดูแล สอน/สาธิตการออกกำลังกายที่เหมาะสมตามวัย สอนการทำลูกประคบและนวดแก้ปวดเฉพาะจุด 4. พัฒนาคู่มือ/แนวทางดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไต 5. แกนนำชุมชนร่วมให้บริการนัดหมายผู้ป่วย บริการคัดกรองเบื้องต้น ติดตามผู้ป่วยไม่มาตามนัด รับ-ส่งผู้รับบริการ รวมทั้ง ปรุง/สาธิตอาหารเบาหวาน 6.สร้างนวัตกรรมแบบบันทึกการดูแลเพื่อเสริมพลังอำนาจทั้งรายบุคคล 7.มีห้องเรียนอ่อนหวานโดยคนต้นแบบ เป็นแกนนำแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลตนเองทีถูกต้อง 8. ติดตามดูแลต่อเนื่องที่บ้านทันทีเมื่อขาดนัด และเยี่ยมดูแลและเรียนรู้อาหารเค็มถึงครัว รูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไตที่พัฒนาขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถชะลอไตไม่ให้พัฒนาไปเป็นระดับรุนแรงได้ โดยพบว่า มีอัตราการกรองของไต(GFR) คงเดิม ร้อยละ 48.88 อัตราการกรองของไตดีขึ้น ร้อยละ 35.55 และมีอัตราการกรองของไตลดลง ร้อยละ 13.33 มีผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไต เพียงร้อยละ 2.22 มีพัฒนาการไปสู่ระดับรุนแรง ระดับความพึงพอใจของผู้ป่วยเบาหวาน ร้อยละ 91.11 ผู้นำชุมชน และอสม. ร้อยละ 93.33 และผู้ให้บริการ ร้อยละ 90 สรุปผล การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไตนี้ เป็นการออกแบบบริการที่สอดคล้องกับปัญหาที่มาจากข้อมูลของผู้ป่วยรายบุคคล ภายใต้กลวิธีการปรับปรุงและวางแผนบนทุนทางสังคมและรูปแบบเดิมที่มีอยู่ ซึ่งมีผลต่อการปรับพฤติกรรมของทีมผู้ให้บริการ ทีมชุมชน และผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างสอดคล้องกับบริบทของแต่ละบุคคล ครอบครัว ชุมชน จนได้รูปแบบที่เหมาะสมนำมาใช้ในพื้นที่ได้อย่างลงตัว

 

การพัฒนารูปแบบใหม่ในการให้บริการการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต้อง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

สุดาภรณ์ บูรณสรรค์, ณัฐิยา วงษ์ปัญญา และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. บ้านต้อง

รพ.สต.บ้านต้อง อำเภอหนองหาน

ที่มาและความสำคัญ โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เป็นโรคเรื้อรังที่มีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคเพิ่มมากขึ้นในระยะแรกของโรค มีการดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ปรากฏอาการให้ผู้ป่วยหรือแพทย์ทราบได้ การวินิจฉัยล่าช้า ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสในการควบคุม ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ซึ่งอาจมีผลต่อการลดภาวะแทรกซ้อนได้อย่างมาก ข้อมูลสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation :IDF) ได้รายงานจำนวนผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก จำนวน 285 ล้านคน  และจำนวนผู้ป่วยความดันโลหิตสูง  1.5 พันล้านคน (นิตยา พันธุเวทย์, 2553) ส่วนในประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง จากรายงานสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค พบว่า ปี 2557 อัตราป่วยด้วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง 1,230.16 และ 879.58 คนต่อแสนประชากร ตามลำดับ จังหวัดอุดรธานีพบอัตราป่วยด้วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง  934.31 และ 883.77 คนต่อแสนประชากร และในพื้นที่ตำบลหนองสระปลา ปี 2557 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน 166 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 2,661.20 คนต่อแสนประชากร  และความดันโลหิตสูง  66 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 1,058.37 คนต่อแสนประชากร  จากข้อมูลอัตราป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ดังที่กล่าวมา พบว่ามีอัตราป่วยสูง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น และเป็นปัญหาสุขภาพของประชาชนระดับโลก ระดับประเทศ และระดับพื้นที่ ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพอนามัยคนไทย ครั้งที่ 5 ปี 2554-2555 พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเบาหวานไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคเบาหวานมาก่อน งานคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง จึงเป็นงานที่สำคัญ เนื่องจากการคัดกรองความเสี่ยงฯ จะเป็นการค้นหาผู้ป่วยได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค ช่วยลดและยืดเวลาการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงได้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานเป็นบริการการป้องกันโรคในชุดสิทธิประโยชน์ตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  เป้าหมายประชากรที่มีอายุ  35 ปีขึ้นไปทุกราย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต้อง ได้ดำเนินงานคัดกรองความเสี่ยงฯ ตามนโยบายในระยะแรกการบริการคัดกรองความเสี่ยงฯ ยังไม่สามารถดำเนินการให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากมีอุปสรรคด้านจำนวนบุคลากร ข้อจำกัดของเวลาที่ปฏิบัติงาน ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ห่างไกล รพ.สต.บ้านต้อง มารับบริการคัดกรองน้อย จึงได้มีการพัฒนารูปแบบการบริการ โดยการอบรม อสม. เชิงปฏิบัติการเรื่องการคัดกรองความเสี่ยงฯ  เพื่อให้ อสม. ส่วนร่วมในการคัดกรองความเสี่ยงฯ ในพื้นที่รับผิดชอบได้ วัตถุประสงค์ 1. เพื่อการพัฒนารูปแบบใหม่ในการให้บริการการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต้อง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี 2. เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงรูปแบบใหม่และรูปแบบเก่า ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ( Action Research ) โดยนำกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงของประชาชน โดยได้ทำการอบรมความรู้ และการฝึกปฏิบัติการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงให้แก่ อสม. ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านต้อง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งการวิจัยครั้งนี้มีระยะเวลา ตั้งแต่ เดือนตุลาคม พ.ศ.2557 ถึง เดือนมกราคม พ.ศ. 2558 ประชากร คือ ประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป ตำบลหนองสระปลา จำนวน 1,507 คน ขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการดังนี้ 1. อบรมความรู้เรื่องโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทั้งหมด จำนวน 120 คน 2. อบรม อสม. และฝึกปฏิบัติการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง 3. วางแผน และกำหนดวันการคัดกรองความเสี่ยง ของแต่ละหมู่บ้าน ทั้งหมด 9 หมู่บ้าน 4.ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายเข้ารับบริการการคัดกรองความเสี่ยง ทางหอกระจายข่าวหมู่บ้าน และการประชาสัมพันธ์ของ อสม. ในเขตรับผิดชอบ ของแต่ละคน 5. ดำเนินการคัดกรองความเสี่ยง โดย อสม. ในพื้นที่แต่ละหมู่บ้าน 6. บันทึกผลการคัดกรองความเสี่ยงฯ ลงในแบบฟอร์ม Verbal Screening และการคัดกรองความเสี่ยง ฯ 7.แจ้งผลการคัดกรองแก่ผู้รับบริการทุกคน และนัดหมายการตรวจคัดกรองในรายที่มีระดับน้ำตาลมากกว่า 110 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) หรือ ความดันโลหิต มีค่ามากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) 8. อสม. สรุปผลการคัดกรองความเสี่ยงฯ ในพื้นที่ และหมู่บ้าน ที่รับผิดชอบารวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัย ใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) โดยใช้จำนวน และร้อยละ ในการอธิบายคุณลักษณะๆ ของข้อมูล ผลการศึกษา จากการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ ( Action Research ) ในการพัฒนารูปแบบใหม่ในการให้บริการการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านต้อง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี พบว่า ในการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ที่ อสม. เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดกรองความเสี่ยงสามารถเพิ่มอัตราของการคัดกรองได้เพิ่มสูงขึ้น สรุปและอภิปรายผลการศึกษา จากผลการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ ( Action Research ) ในการพัฒนารูปแบบใหม่ในการให้บริการการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านต้อง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี พบว่า การที่นำ อสม. เข้ามามีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในการคัดกรองความเสี่ยงความดันโลหิตสูง และเบาหวาน นั่นสามารถช่วยเพิ่มอัตราของการคัดกรองความเสี่ยงได้มากขึ้นและยังเกิดความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน และเกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกับ อสม. อีกทั้งยังสามารถเพิ่มความรู้ ความสามารถให้กับ อสม. พร้อมทั้งยังช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต้อง เพื่อที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต้องสามารถปฏิบัติงาน และพัฒนาโครงการการให้บริการสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ สังเกตได้จากจำนวนโครงการที่เกิดขึ้นของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต้องในปีงบประมาณพ.ศ. 2557 มีโครงการที่เกิดขึ้นเพียง 10 โครงการ และเมื่อมีการพัฒนารูปแบบในการให้บริการการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เข้ามามีส่วนร่วมในงาน จำนวนโครงการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต้อง ได้จัดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 มีจำนวน 16 โครงการ นั่นแสดงให้เห็นว่า รูปแบบการให้บริการการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงโดยมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เป็นอย่างดี และยังสามารถให้บริการสาธารณสุขกับประชาชนได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

 

การพัฒนารูปแบบการออกคัดกรองเบาหวานโดยชุมชนมีส่วนร่วม ตำบลหนองเม็ก อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ปี 2558

E-mail Print PDF

เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองเม็ก

ที่มาและความสำคัญ กระทรวงสาธารณสุข เผย 4 อันดับ ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด หลังพบว่าในปีเดียวตายร่วม 1.3 แสนคน พร้อมตั้งเป้าอีก 10 ปี ข้างหน้า คนไทยส่วนใหญ่ต้องมีอายุยืนถึง 80 ปี เทียบเท่ากับประเทศที่เจริญแล้ว โดยจากการศึกษา พบว่า ในปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุเหล่านี้ รวม 138,027 ราย คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตจากทุกสาเหตุที่มีจำนวน 414,670 ราย ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นการรณรงค์ตรวจสุขภาพ และเผยแพร่ความรู้ในการการดูแลสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งเรื่องการออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร และการหลีกเลี่ยงการบริโภคสิ่งที่ทำลายสุขภาพ จะเห็นได้ว่าคนไทยป่วยด้วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงมากขึ้น มาจากพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย ที่ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลทั่วประเทศ ในปี 2550 ที่มีจำนวน 9 ล้านคนพบว่า ร้อยละ 67 หรือประมาณ 6 ล้านคนไม่ออกกำลังกาย และหากดูภาพรวมทั้งประเทศ คนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป ซึ่งมี 55 ล้านคน เป็นผู้ที่ไม่ออกกำลังกายถึง 39 ล้านคน นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2552 ได้สำรวจพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป พบว่า ร้อยละ 90 กินอาหารที่มีไขมัน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-14 ปี นิยมทานขนมกรุบกรอบ อาหารฟาสต์ฟู้ดส์ และดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน ซึ่ง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า ต้องปลูกฝังให้ประชาชนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน ทานอาหารรสไม่จัด ลดอาหารเค็ม ลดอาหารหวาน อาหารไขมันสูง และเพิ่มการทานผักผลไม้ให้มากขึ้น เช่น มะละกอ ฝรั่ง ทานรวมกันให้ได้วันละไม่ต่ำกว่า 400 กรัมตามมาตรฐานโลก เพราะในผักผลไม้มีกากใย ช่วยให้ระบบขับถ่ายดี และดูดซับไขมัน นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย จากสถานการณ์โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองเม็ก พบว่าในปี 2557 ประชาชนกลุ่มเสี่ยงมีทั้งหมดจำนวน 2,851 คน ได้รับการคัดกรองทั้งสิ้น 2,736 คน คิดเป็นร้อยละ 95.96 ซึ่งพบว่าเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงรายใหม่ จำนวน 27 คน คิดเป็นร้อยละ 11.25 ในปีงบประมาณ 2558 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพหนองเม็ก จึงได้เห็นความสำคัญและพัฒนารูปแบบการออกตรวจคัดกรองเบาหวานเป็นแบบเชิงรุก เพื่อให้ครอบคลุมร้อยละ 100 ของกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด วัตถุประสงค์ 1. เพื่อพัฒนารูปแบบการออกคัดกรองเบาหวาน 2. เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน ระหว่างรูปแบบใหม่ กับ รูปแบบเดิม 3. เพื่อคัดกรองภาวะเสี่ยงของโรคเบาหวานแก่ประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไปในเขตตำบลหนองเม็ก เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 100 ระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยพัฒนาแบบทดลอง กลุ่มเดียววัด ก่อน หลัง ระยะเวลา 1 ปี ( 1 ต.ค. 57- 30 ก.ย. 58 ) ประชากรกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานในปีงบประมาณ 2558 ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่จริง ใน เขตตำบลหนองเม็ก จำนวนทั้งสิ้น 2,792 คน รูปแบบการสำรวจกลุ่มเสี่ยงโดยเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองเม็ก ออกคัดกรองเบาหวานและความดันโลหิตสูง ร่วมกับ อสม. ผู้นำชุมชน และกรรมการกองทุนสุขภาพ เครื่องมือที่ใช้ 1.แบบคัดกรองเบาหวาน ความดันโลหิตสูง 2.เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด และอุปกรณ์สำหรับเจาะเลือด 3.เครื่องชั่งน้ำหนัก 4.เครื่องวัดความดันโลหิต 5.กล้องถ่ายรูป การวิเคราะห์ข้อมูล สถิติพรรณนาแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละเกี่ยวกับ เพศ อายุ ลักษณะทางพันธุกรรม และการเปรียบเทียบค่าร้อยละที่เพิ่มขึ้น ระหว่างปีงบประมาณ 2557 และปีงบประมาณ 2558 สรุปผลการดำเนินงาน ดังนี้ ปี 2558 มีกลุ่มเป้าหมาย 2,792 คน คัดกรองได้ 2,709 คิดเป็นร้อยละ 97 กลุ่มที่ 1 กลุ่มปกติค่าระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จำนวน 2,638 คน คิดเป็นร้อยละ 94 กลุ่มที่ 2 กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ค่าระดับน้ำตาล 100 125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จำนวน 47 คน คิดเป็นร้อยละ 2 กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีค่าระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จำนวน 24 คน คิดเป็นร้อยละ 1 ข้อแตกต่างระหว่างรูปแบบการออกตรวจคัดกรองเบาหวานปี 2557 และ ปี 2558 พบว่า ปี 2557 1.กลุ่มเป้าหมายได้รับการคัดกรองร้อยละ 95 2.กลุ่มเป้าหมายมารับการตรวจคัดกรองที่ รพ.สต 3.เจ้าหน้าที่ตั้งรับการตรวจคัดกรองเบาหวานที่ รพ.สต. 4.ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการออกคัดกรองเบาหวาน 5.กลุ่มเป้าหมายเสียเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาตรวจ สำหรับปี 2558 พบว่า 1.กลุ่มเป้าหมายได้รับการคัดกรองร้อยละ 97 2.กลุ่มเป้าหมายได้รับการตรวจคัดกรองที่หมู่บ้าน 3.เจ้าหน้าที่ ร่วมกับ อสม. และคณะกรรมการกองทุน 4. ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกคัดกรองเบาหวานมากขึ้น 5.ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาตรวจคัดกรองเบาหวานของกลุ่มเป้าหมาย ฉะนั้น การออกคัดกรองเบาหวานโดยชุมชนมี ส่วนร่วมทุกภาคส่วนแบบเชิงรุก ในปีงบประมาณ 2558 ดีกว่า รูปแบบเดิมในปี 2557

 

การพัฒนารูปแบบการเพิ่มอัตราหญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์โดยวิธีจิตอาสา อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

จารุณี   ลี้ปิติกุลชัย และคณะ

รพ.สต.ดงบาก อำเภอหนองหาน

การฝากครรภ์คุณภาพเป็นเป้าหมายหลักของงานฝากครรภ์ในทุกหน่วยงานสาธารณสุข คือ ต้องการให้หญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ (3 เดือน) การได้รับการดูแลตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จะช่วยให้สามารถค้นหาความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เพื่อให้การดูแลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ผลที่ตามมาคือ ครรภ์คุณภาพ ปลอดภัยทั้งมารดาและทารกในครรภ์ เนื่องจากการฝากครรภ์เมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ สามารถป้องกันโรคที่ถ่ายทอดทาง พันธุกรรม เช่น ธาลาสซีเมียได้ หรือป้องกันการถ่ายทอดเชื้อ เอช ไอ วี จากแม่สู่ลูกได้  ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้ทำวิจัยเพื่อการพัฒนารูปแบบงานฝากครรภ์ การเพิ่มอัตราหญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์  12 สัปดาห์ โดยวิธีจิตอาสา เป็นการวิจัยพัฒนาเชิงทดลอง แบบกลุ่มเดียววัดก่อน-หลัง ดำเนินการระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2557–31 มีนาคม 2558 ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ในเขต รพ.สต.ดงบาก จำนวน 14 คน เปรียบเทียบความแตกต่างของผลการดำเนินงานก่อนกับหลังการการใช้รูปแบบใหม่โดยใช้สถิติพรรณนา คือ จำนวน ร้อยละ จากการวิจัยได้มีการพัฒนารูปแบบงานฝากครรภ์ การเพิ่มอัตราหญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ โดยวิธีจิตอาสา มาประยุกต์ได้เป็นรูปแบบใหม่ที่ผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้นมีกระบวนการหลักในการพัฒนาอยู่ 3 กระบวนการ คือ ปรับปรุงระบบบริการ, พัฒนาจิตอาสา, เพิ่มแรงกระตุ้น และเมื่อนำผลการดำเนินงานมาเปรียบเทียบผลการรับบริการฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ระหว่างรูปแบบเดิม ในปีงบประมาณ 2555 2556 และ2557 กับรูปแบบใหม่ ในปีงบประมาณ 2558 พบว่า กลุ่มเป้าหมายได้รับบริการการฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เพิ่มมากขึ้นจากเดิมในปีงบประมาณ 2555, 2556 และ2557  ร้อยละ 52.27, 53.83 และ57.14 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วพบว่า ปี 2558 อัตราการฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เพิ่มมากขึ้นคิดเป็นร้อยละ 64.28 จากการวิเคราะห์พบว่าการปรับเปลี่ยนระบบให้บริการ การพัฒนาจิตอาสา การเพิ่มแรงกระตุ้น ทำให้รูปแบบที่ใหม่ที่ได้มานี้มีความเหมาะสมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดงบากและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับบริการ ข้อเสนอแนะ 1. ข้อเสนอแนะสำหรับพื้นที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดงบาก 1.1 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ควรมีการพัฒนาศักยภาพ ฟื้นฟูและค้นหากลุ่มบุคคล ขึ้นเป็นเครือข่ายจิตอาสาเพิ่มให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ประจำในทุกปี ควรมีการแลกเปลี่ยนความเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายจิตอาสา ในหมู่บ้านอื่นที่อยู่ในเขตรับผิดชอบ เพื่อทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน และค้นหาวิธีในการขจัดปัญหาเหล่านั้น ต่อไป 1.2 ควรนำประสบการณ์ที่ได้จากการสร้างและพัฒนารูปแบบนี้ ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานอื่นๆของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดงบาก 2. ข้อเสนอแนะสำหรับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอหนองหานและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี 2.1 องค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากงานวิจัยนี้ สามารถนำไปเผยแพร่และถ่ายทอดเพื่อให้เป็นแนวทาง ความรู้และประสบการณ์กับสถานบริการสาธารณสุขอื่นๆและนำไปประยุกต์พัฒนาให้เหมาะสมกับบริการให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ 2.2 ควรนำแนวคิดรูปแบบการดำเนินงาน และวิธีการที่ได้มาจากงานวิจัย ไปเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมของงานอื่นๆ 3. ข้อเสนอแนะสำหรับการทำวิจัยครั้งต่อไป ในการทำวิจัยเรื่องเดิมครั้งต่อไป ควรทำเป็นการวิจัยเพื่อพัฒนางานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และควรทำการศึกษาให้ครอบคลุมรายละเอียดต่างๆทุกๆด้าน อย่างครบถ้วนตามหลักวิชาการที่เกี่ยวข้องและตามบริบทของพื้นที่วิจัย

 

Last Updated on Monday, 02 November 2015 07:35
 

พฤติกรรมการออกกำลังกายและบริโภคอาหารของผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง

E-mail Print PDF

นายมนตรี  มูลมะนัส

รพ.สต.บ้านโคก อำเภอหนองหาน

การศึกษา ความรู้ พฤติกรรมและ ทัศนคติการบริโภคอาหารและออกกำลังกาย ในกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน เส้นเลือดในสมองและภาวะอ้วน ฉบับนี้เป็นการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับความรู้ พฤติกรรม ทัศนคติการบริโภคอาหารและออกกำลังกาย ของกลุ่มเสี่ยงในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโคก ในเขตรับผิดชอบ 10 หมู่บ้าน ( 2,3,4,5,6,10,14,17,18,20) กลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มบุคคลที่ผ่านการคัดกรองความเสี่ยงโดยแบบคัดกรองความเสี่ยงของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีผลการตรวจคัดกรองที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวและได้รับการบันทึกผ่านระบบบริการออนไลน์ (PPIS ) ปีงบประมาณ 2556 จำนวน 103 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์ที่ผู้ศึกษาได้สร้างขึ้นเองวิเคราะห์และประมวลผลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS (Statistical package for the social sciences) ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวน 103 คน ในภาพรวมมีความรู้ที่ถูกต้อง คิดเป็นร้อยละ 89.30 และยังมีบางส่วนที่มีความรู้แบบผิดคิดเป็นร้อยละ 10.70 ทางด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายในภาพรวมกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมอยู่ในระดับดี(x =3.70) โดยด้านที่ดีที่สุด ( x=4.50) คือ การกินอาหารหลากหลายไม่ซ้ำซาก และ การดื่มสุรา เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และด้านที่อยู่ในระดับน้อยการกินอาหารประเภททอดและผัด ( =2.20) และ การออกกำลังกายโดยการวิ่งหรือเดินเต้นแอร์โรบิค (x =1.70) ส่วนทางด้านของทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างในภาพรวมมีระดับทัศนคติที่น้อย (x =2.20) โดยมีระดับทัศนคติที่มากในเรื่องของความจำเป็นในการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่( =3.30) และระดับทัศนคติที่น้อยในเรื่องต่อไปนี้ การเติมเครื่องปรุงในอาหารทำให้รสชาติอาหารดีขึ้น เนื้อสัตว์ติดมันเมื่อนำมาทำอาหารจะอร่อยกว่าเนื้อไม่ติดมัน (x =1.70) ผลไม้จำพวก เงาะ ทุเรียน ลองกอง สามารถกินเยอะๆได้ ( x=2.40) และการทำงานก็เหมือนกับการออกกำลังกาย (x =1.70)

 
More Articles...


Page 4 of 26
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday10
mod_vvisit_counterYesterday23
mod_vvisit_counterThis week10
mod_vvisit_counterLast week368
mod_vvisit_counterThis month358
mod_vvisit_counterLast month311
mod_vvisit_counterAll days249109

We have: 1 guests online
Your IP: : 18.223.159.195
Mozilla 5.0, 
Today: May 05, 2024

Polls

Who's Online

We have 1 guest online

Advertisement

Featured Links:
Joomla! Extensions
Joomla! Components, Modules, Plugins and Languages by the bucket load.

Popular