Research of Udonthani Provincial Health Office.

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size

ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ทัศนคติ ต่อการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคมือเท้าปากของผู้ปกครองเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเขตพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสุมเส้า อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นางสาวไพลิน  กองแก้ว

รพ.สต.สุมเส้า  อำเภอเพ็ญ

ที่มาและความสำคัญ จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคมือเท้าปาก ผู้ป่วยของจังหวัดอุดรธานีในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 และในระบบเฝ้าระวังเหตุการณ์ 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยของจังหวัดเชียงใหม่  ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 (สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค.2556) และเมื่อพิจารณาการเกิดโรครายจังหวัด พบว่า ทุกจังหวัดยังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยร้อยละ 15.52 เมื่อเปรียบเทียบการเกิดโรคในปี พ.ศ. 2555 โดยกลุ่มอายุที่พบส่วนใหญ่ คือ เด็กเล็กช่วง อายุ 3 ปี ถึง 5 ปี ซึ่งพบได้มากในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล สำหรับจังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่วันที่ 1 เดือนมกราคม พ.ศ. 2556 ถึงวันที่ 17 เดือนกันยายน พ.ศ. 2555 มีผู้ป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก 366 ราย คิดเป็นร้อยละ 23.57 ต่อแสนประชากร และเสียชีวิต 1 ราย (สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. 2556) ในเขตพื้นที่อำเภอเพ็ญมีจำนวนผู้ป่วย 91 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต และในเขตพื้นที่โรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบลสุมเส้า มีผู้ป่วย 4 ราย โดยรายแรกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 อายุ 4 ปี เรียนอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองนาไฮโนนสะอาด รายที่ 2 ก็เรียนอยู่ที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองนาไฮโนนสะอาดเหมือนกัน และยังมีรายที่ต้องเฝ้าระวังอีก 5 ราย ที่อยู่ในข่ายโรค (สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเพ็ญ. 2556)  จากปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ผู้ศึกษาได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้จึงมีความสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ทัศนคติ ต่อการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคมือเท้าปากของผู้ปกครองเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเขตพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลสุมเส้า อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่าง ความรู้ ทัศนคติ ต่อการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคมือเท้าปากของผู้ปกครองเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเขตพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลสุมเส้า อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ปกครองเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบลสุมเส้า อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 157 คน โดยจะศึกษาจากประชากรทั้งหมด วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ความรู้ ทัศนคติ ต่อการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคมือเท้าปากของผู้ปกครองเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ช่วงเวลา เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2557 การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลทั่วไปวิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่และค่าร้อยละ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ โดยใช้สถิติ Pearson correlation ผลการศึกษา พบว่าผู้ปกครองเด็กส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 75.8 เพศชาย ร้อยละ 24.2 อายุผู้ปกครองเด็กอายุระหว่าง 31 – 40 ปี คิดเป็นร้อยละ 27.4 ความสัมพันธ์ของผู้ปกครองกับเด็กพบว่าส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์เป็น ญาติ(ปู่,ย่า,ตา,ยาย,พี่,ป้า,น้า,อา) คิดเป็นร้อยละ 47.8 ระดับการศึกษาของผู้ปกครองเด็กพบว่า ส่วนใหญ่ผู้ปกครองเด็กจบประถมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 51 อาชีพผู้ปกครองเด็ก ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร คิดเป็นร้อยละ 57.3 รายได้ส่วนใหญ่ ระหว่าง 5,000 – 10,000 บาท ต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 49 ส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากวิทยุโทรทัศน์ คิดเป็นร้อยละ 37.6 ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ต่อการปฏิบัติในการป้องกันโรคมือเท้าปาก พบว่า ระดับความรู้เกี่ยวกับโรคมือเท้าปากกับการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคมือเท้าปากของผู้ปกครองเด็กมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (P=0.001) โดยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์(r)มีค่าเท่ากับ 0.268 มีความสัมพันธ์กันในทิศทางเดียวกันและมีความสัมพันธ์กันในระดับต่ำ ความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติต่อการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคมือเท้าปาก พบว่า ระดับทัศนคติเกี่ยวกับโรคมือเท้าปากกับการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคมือเท้าปากของผู้ปกครองเด็กไม่มีความสัมพันธ์กัน

 

การศึกษารูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อควบคุมและป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับและพยาธิตัวตืดตำบลสร้างแป้น อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

เจ้าหน้าที่ รพ.สต.สร้างแป้น  อำเภอเพ็ญ

ที่มาและความสำคัญ จากการศึกษาในระยะแรกที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ส่วนใหญ่เป็นรายงานผู้ป่วย ในช่วงเวลาระหว่าง 2509 – 2532 โดยพบว่า มีอุบัติการณ์ของมะเร็งที่ปรับมาตรฐานตามอายุประชากรเท่ากับ 84.6 ต่อประชากร 1 แสนคนในเพศชายและ 36.8ต่อประชากร 1 แสนคนในเพศหญิง  เมื่อวิเคราะห์ถึงรายละเอียดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับพบว่าในชุมชนที่มีอุบัติการณ์มะเร็งสูง จะมีความหนาแน่นของพยาธิสูง (egg/gram  faeces, epg>10,000)  ในสัดส่วนที่สูงกว่าชุมชนที่มีอุบัติการณ์มะเร็งต่ำกว่า   ในปี 2551 จังหวัดอุดรธานีพบว่าประชาชนเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับร้อยละ 5.63 ตำบลสร้างแป้น อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี เป็นตำบลที่มีบริบทของพื้นที่ติดกับลำห้วย และอ่างเก็บน้ำ ประชาชนบางส่วนใหญ่ยังนิยมรับประทานปลาดิบ ผลตรวจหาพยาธิในอุจจาระปี 2551 พบพยาธิใบไม้ตับร้อยละ. 15.63 จากผู้ส่งอุจจาระตรวจทั้งหมด 796 ราย ผลตรวจหาพยาธิในอุจจาระปี 2552 พบพยาธิใบไม้ตับร้อยละ 13.21 จากผู้ส่งอุจจาระตรวจทั้งหมด 878 ราย ทั้งนี้จากสรุปผลการดำเนินงานสาธารณสุขของสถานีอนามัยสร้างแป้นปี 2552 พบว่า สาเหตุการตายอันดับที่ 1 ของประชากรคือ มะเร็งตับ เท่ากับ 130 ต่อแสนประชากร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสร้างแป้นจึงได้ทำการการศึกษาครั้งนี้เพื่อประเมินผลรูปแบบการควบคุมป้องกันพยาธิใบไม้ในตับ ต่อความชุก ความรู้ เจตคติ การปฏิบัติตน และการมีส่วนร่วม ของประชาชนตำบลสร้างแป้น อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการควบคุมป้องกันพยาธิใบไม้ในตับ ต่อความชุก ความรู้ เจตคติ การปฏิบัติตน และการมีส่วนร่วม ของประชาชนตำบลสร้างแป้น อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ระเบียบวิธีวิจัย รูปแบบการศึกษา การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ประชากรที่ศึกษา คือประชาชนที่มีผลการตรวจอุจจาระพบพยาธิใบไม้ในตับของตำบลสร้างแป้น อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 116 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา 2 ชุดด้วยกันคือ ชุดที่ 1 : เครื่องมือในการประเมินความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งประกอบด้วย กล้องจุลทรรศน์,ชุดอุปกรณ์การตรวจอุจจาระ, ตลับอุจจาระ , แบบบันทึกผลการตรวจอุจจาร, แบบบันทึกผลการตรวจนับไข่พยาธิ ชุดที่ 2 : เครื่องมือในการประเมินความรู้ เจตคติ พฤติกรรมและการมีส่วนร่วม เป็นแบบสัมภาษณ์ การเก็บรวบรวมข้อมูล 1) การเก็บข้อมูลการตรวจอุจจาระ 2) การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ ทัศนคติ การปฏิบัติ และการมีส่วนร่วมของประชาชน 3) การติดตามผลหลังจากการให้ความรู้แล้ว 3 เดือน ระยะเวลาการเก็บข้อมูล ดำเนินการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ ตุลาคม 2554 – มกราคม 2555 การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติพรรณนา ด้วยค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 61.20 มีอายุส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 40-50 ปีคิดเป็นร้อยละ 38.93 และต่ำสุดคืออายุต่ำกว่า 30 ปีคิดเป็นร้อยละ 8.62  สถานภาพส่วนใหญ่คือสถานภาพสมสรคิดเป็นร้อยละ  79.31  และน้อยสุดคือสถานภาพหม้ายคิดเป็นร้อยละ 6.89  ระดับการศึกษาส่วนใหญ่คือระดับประถมศึกษาคิดเป็นร้อย 64.65  และระดับต่ำสุดคืออนุปริญญาคิดเป็นร้อยละ 5.17   อาชีพส่วนใหญ่ประชากรกลุ่มตัวอย่างประกอบอาชีพเกษตรกรรมคิดเป็นร้อย 75  และกรณีว่างงานไม่มีคิดเป็นร้อย 0.00 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำสุดคือ 500  บาทต่อเดือนและคิดว่าเฉลี่ยรายได้ต่ำกว่า 3000 บาทคิดเป็นร้อยละ 76.72 และน้อยสุดคือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 8000 บาทขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 5.17 ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับประทานอาหารแล้วทำให้เสี่ยงต่อโรคพยาธิใบไม้ตับและพยาธิตัวตืด มากที่สุด คือ ลาบเนื้อดิบ/พล่าเนื้อดิบ และก้อยเนื้อดิบซึ่งคิดเป็นร้อยละ 100 ซึ่งรองลงมาได้แก่ ลาบปลาดิบ คิดเป็นร้อยละ 97.41   ลาบหมู/พล่าหมูดิบซึ่งคิดเป็นร้อยละ 95.69  และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิใบไม้ในตับและพยาธิตัวตืดน้อยที่สุดคือ การรับประทานแจ้วปลาร้าบองคิดเป็นร้อยละ 70 ซึ่งแสดงว่าประชากรกลุ่มตัวอย่างมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับประทานและการวิธีการหลีกเลี่ยงอาหารประเภททำให้การเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับและพยาธิตัวตืด

 

พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีของประชาชนตำบลนาบัว

E-mail Print PDF

นางลำพูน  มั่งมูล และนางสาวมาลิณี  พุทธมา

รพ.สต.นาบัว  ตำบลนาบัว  อำเภอเพ็ญ

ที่มาและความสำคัญ จากสถานการณ์การเจ็บป่วยและอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งตับในปัจจุบัน มีความรุนแรงอย่างมาก ซึ่งมีการรายงานข้อมูลด้านโรคมะเร็งจากองค์การอนามัยโลกหรือ World Health Organization (WHO) รายงานว่า ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับทั่วโลกประมาณปีละ 600,000 คน  แหล่งข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์มะเร็งอุดรธานี โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี พบว่าปัจจุบันมีจำนวนประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับเพิ่มมากขึ้นทุกปี  นอกจากนี้ยังมีอัตราผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น  ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย (2552) รายงานอัตราการตายของประชากรไทย พบว่าโรคมะเร็งตับเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 1 ของประเทศพบมากที่สุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีรายงานสูงสุดถึงร้อยละ 16.6 หรือประมาณการ 8.7 ล้านคนทั่วประเทศ อุบัติการณ์ของมะเร็งตับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายงานสูงสุดถึง 113.4 คน และ 49.8 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ในผู้ชายและผู้หญิงตามลำดับ ซึ่งเป็นอุบัติการณ์มะเร็งตับที่สูงที่สุดในโลก โดยเปรียบเทียบกับอุบัติการณ์ในประเทศอเมริกา ซึ่งมีเพียง 0.5-2 ต่อประชากร 1 แสนคน ตามสถิติอัตราความชุกการเป็นมะเร็งตับดังกล่าวยังไม่ได้สะท้อนการเป็นมะเร็งตับที่แท้จริงในชุมชนและพื้นที่เสี่ยง เช่น ชุมชนที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำที่มีโอกาสรับประทานปลาจืดที่มีพยาธิใบไม้  ในตับ อยู่ในชนบทห่างไกลความเจริญ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารแบบสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และ ไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนม ไส้กรอก เบคอน ฯลฯ การดื่มสุราเป็นประจำ การเคี้ยวหมาก สารพิษอัลฟลาทอกซิน ซึ่งเกิดจากเชื้อราบางชนิด พบในถั่วลิสง  ข้าวโพด พริกแห้ง    โดยที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งตับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน   โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี (2548) สรุปสถานการณ์อุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็ง จังหวัดอุดรธานี มะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของจังหวัดอุดรธานี คือ โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี โดยเปรียบเทียบกับประเทศ พบว่า อัตราการตายต่อประชากร 1 แสนคน จังหวัดอุดรธานีสูงกว่าค่าอัตราการตายของประเทศ สำหรับอัตราการตายด้วยมะเร็งตับและท่อน้ำดี ปี 2548 = 43.8 ต่อประชากรแสนคน แยกเป็นเพศชาย ร้อยละ 66 เพศหญิง ร้อยละ 34 จำแนกตามอายุ 40-69 ปี ซึ่งอำเภอที่มีอัตราตายด้วยโรคมะเร็งตับมากที่สุด ได้แก่ อำเภอ หนองหาน อำเภอพิบูลรักษ์ และกิ่งอำเภอกู่แก้ว (อัตราการตายมากกว่า 52.5 ต่อประชากร 1 แสนคน) โรคมะเร็งตับส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจและสังคม ผลกระทบทางร่างกายเกิดจากความเจ็บป่วยจากมะเร็งซึ่งส่งผลให้การทำงานหรือการประกอบกิจวัตรประจำวันลดลง ส่งผลต่อจิตใจทำให้เกิดความเศร้าเสียใจ เกิดความเครียด วิตกกังวล  และยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งตับส่วนใหญ่เป็นเพศชายวัยทำงานและเป็นผู้นำครอบครัวเมื่อเกิดความเจ็บป่วยขึ้นจึงทำให้ครอบครัวขาดผู้นำครอบครัวและกำลังสำคัญในการหารายได้ของครอบครัวไป ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงจึงส่งผลต่อเศรษฐกิจของครอบครัวและส่งผลต่อสังคมเนื่องจากขาดกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ  ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษาจึงต้องการศึกษาถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนป้องกันและส่งเสริมให้บุคคลมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นและลดอัตราการป่วยและอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความรู้และทัศนคติพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีของประชาชนในตำบลนาบัว พ.ศ. 2557 ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่าง ประชาชนในตำบลนาบัว อายุ 15 ปีขึ้นไป โดยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตรของ Yamane ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 400 คน สถานที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาบัว อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ช่วงเวลาในการศึกษา มกราคม 2557 – มิถุนายน 2557 รูปแบบการศึกษา การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบเชิงสำรวจ (survey research) การวิเคราะห์ข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS และโปรแกรม EPIDATA สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ จำนวน ค่าเฉลี่ย ผลการศึกษา ส่วนที่ 1 ข้อมูลส่วนทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 68.50 อายุอยู่ในช่วง 31-40 ปี คิดเป็นร้อยละ37.50 น้ำหนักอยู่ในช่วง 51 - 60 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 60.0 ส่วนสูงอยู่ในช่วง 150 - 160 เซนติเมตร คิดเป็นร้อยละ 78.50 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพ เกษตรกร คิดเป็นร้อยละ 90 สถานภาพสมรสมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 65.0 พักอาศัยอยู่กับครอบครัวของตนเองเป็นส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 90. และพักอาศัยอยู่บ้านของตนเอง คิดเป็นร้อยละ 95.0 นับถือศาสนาพุทธ คิดเป็นร้อยละ 99.5 รายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 75.0 รองลงมารายได้อยู่ที่ 5,001 – 10,000 คิดเป็นร้อยละ 20.0 รายได้อยู่ที่ 10,001 – 20,000 คิดเป็นร้อยละ 5.0 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะเคยได้รับทราบข้อมูลข่าวสารทาง โทรทัศน์ คิดเป็นร้อยละ 58.0 โรงพยาบาล, สถานีอนามัย คิดเป็นร้อยละ 54.0 บุคคล ระบุบุคคลที่ให้ข้อมูล คิดเป็นร้อยละ 48.0 คือ บุคลากรทางการแพทย์/พยาบาล/เจ้าหน้าที่สาธารณสุข คิดเป็นร้อยละ 28.0 อาสาสมัครสาธารณสุข คิดเป็นร้อยละ 27.0 ครูอาจารย์ คิดเป็นร้อยละ 36 เพื่อน คิดเป็นร้อยละ 18.0 คนในครอบครัวหรือญาติ คิดเป็นร้อยละร้อยละ15.0 และเพื่อนบ้าน คิดเป็นร้อยละ 7.0 หนังสือพิมพ์ คิดเป็นร้อยละ 37.0 สื่อสิ่งพิมพ์ (โปสเตอร์/แผ่นพับ/ใบปลิว) และกระทรวงสาธารณสุข คิดเป็นร้อยละ 36.0 วิทยุ คิดเป็นร้อยละ 25.0 แหล่งข้อมูล บอร์ด เสียงตามสาย คิดเป็นร้อยละ 19.0 และ ไม่เคยได้รับข้อมูลข่าวสารเลย คิดเป็นร้อยละ 20.0 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เคยป่วยด้วยโรคพยาธิใบไม้ในตับ คิดเป็นร้อยละ 85.0 เคยป่วย คิดเป็นร้อยละ 1.0 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ คิดเป็นร้อยละ 14.0 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ในรอบ 3-5 ปีที่ผ่านมาเคยตรวจหาไข่พยาธิ ไม่เคยตรวจ คิดเป็นร้อยละ 82.0 เคยตรวจ คิดเป็นร้อยละ 4.0 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ คิดเป็นร้อยละ 4.0 ตรวจพบพยาธิอื่นๆเช่น พยาธิเส้นด้าย ตัวกลม ตัวแบน เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 5.0 และพยาธิใบไม้ในตับ พยาธิตัวจี๊ด คิดเป็นร้อยละ 3.0 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เคยป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ คิดเป็นร้อยละ 82.0 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ คิดเป็นร้อยละ 18.0 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี คิดเป็นร้อยละ 2.0 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีญาติพี่น้องที่ป่วยหรือเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ คิดเป็นร้อยละ 70.0 ระบุ คือ ลุง ตา เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 15.0 และไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ คิดเป็นร้อยละ 14.0 ส่วนที่ 2 ความรู้เรื่องโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากมีความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีมากที่สุด คือ ความรู้เรื่องโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีสามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารอัลฟ่าท๊อกซินและดินประสิวคิดเป็นร้อยละ 72.0 กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีน้อยที่สุด คือ เรื่องการตรวจหามะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี สามารถทำได้โดยการตรวจปัสสาวะ คิดเป็นร้อยละ 10.75 ส่วนที่ 3 ทัศนคติด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งมากที่สุดในเรื่องการรับประทานก้อยดิบแล้วจะทำให้รู้สึกมีกำลัง (ร้อยละ 55.0) กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติเห็นด้วยอย่างยิ่งมากที่สุด คือ เรื่องปลาร้า ปลาส้ม ปลาจ่อม เป็นอาหารที่มีรสชาติอร่อย (ร้อยละ 14.0) ส่วนที่ 4 พฤติกรรมการบริโภคที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี ผลการศึกษาพบว่า พฤติกรรมการบริโภคที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีที่ผู้ตอบสอบถามปฏิบัติเกือบทุกวัน คือ รับประทานพริกแห้ง หอม กระเทียม ที่มีเชื้อราสีดำๆ (ร้อยละ 67.0) สำหรับพฤติกรรมการบริโภคที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีของผู้ตอบสอบถามที่ไม่เคยปฏิบัติเลย คือรับประทานหอม กระเทียม ที่ล้างก่อนบริโภค (ร้อยละ 12.0)

 

Last Updated on Thursday, 29 October 2015 08:29
 

ธรรมนูญสุขภาพกับการจัดการสุขภาพชุมชน

E-mail Print PDF

นางสาวสุดาพร  วงษ์พล

รพ.สต.ท่าสี ตำบลแสงสว่าง อ.หนองแสง

ที่มาและความสำคัญ ธรรมนูญสุขภาพ  หมายถึง   “กฎกติกา  ข้อตกลงร่วมกันของคนในชุมชนโดยชุมชนกำหนดขึ้นเอง  ประเมินกันเองในชุมชน  แล้วนำมาใช้เพื่อให้เกิดความสุขของคนในชุมชนไม่ใช่แค่เรื่องการเจ็บป่วยทางร่างกาย แต่หมายรวมถึงความสุขในทุกๆด้านทั้งร่างกาย  จิตใจ  จิตสังคม  และจิตวิญญาณ” วัตถุประสงค์ เพื่อใช้ธรรมนูญส่งสุขภาพเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการจัดการสุขภาพชุมชน วิธีการดำเนินงาน กระบวนการ ธรรมนูญสุขภาพ ขั้นตอนที่ 1 คือการศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำประเด็นต่างๆกลับมาถอดบทเรียนให้ตัวแทนจากหน่วยงาน กลุ่ม องค์การต่างๆในชุมชนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันเรียนรู้ ปรับแนวคิดในเรื่องธรรมนูญสุขภาพให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ขั้นตอนที่ 2 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญชุมชน กำหนดบาทบาทและแกนนำในแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน ขั้นตอนที่ 3 ประชุมภาคีเครือข่าย (ผู้นำ ผอ.รร. อสม. รพสต. ส.อบต.ฯลฯ) ถอดบทเรียน ปรับแนวคิด สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมนูญสุขภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมลงพื้นที่ปรับความเข้าใจแก่ชุมชน ขั้นตอนที่ 4 ทีมวิชาการร่วมกันออกแบบสอบถามโดยการทบทวนจากหลายๆพื้นที่ ส่งให้ที่ปรึกษาระดับอำเภอและระดับจังหวัดให้ช่วยให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม จากนั้นจัดพิมพ์แบบสอบถามเพื่อลงเก็บข้อมูลในชุมชนทุกหลังคาเรือน ทั้งหมด 4 หมู่บ้าน และ 3 โรงเรียน 600 ชุด โดยให้ อสม.ลงเก็บในครัวเรือนที่ตนเองรับผิดชอบ ขั้นตอนที่ 5 นำแบบสอบถามที่รวบรวมกลับมาเพื่อตรวจสอบความครบถ้วน ถูกต้องของแบบสอบถาม จากนั้นดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดลำดับความสำคัญของปัญหา และคืนข้อมูลให้ชุมชนผ่านเวทีประชุมชาวบ้านของแต่ละหมู่บ้าน ขั้นตอนที่ 6 คณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์จากปัญหา ขั้นตอนที่ 7 จัดทำร่างธรรมนูญสุขภาพฯ 12 หมวด (75 ข้อ) โดยการทบทวนจากพื้นที่อื่น จากการนำปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นแนวทางในการจัดทำร่าง โดยทีมวิชาการได้ทำการยกร่างเพื่อเสนอให้คณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณา จากนั้นส่งร่างให้ที่ปรึกษาระดับอำเภอและระดับจังหวัดอ่านและให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ขั้นตอนที่ 8 จัดเวทีประชาคม ประชาพิจารณ์ แสดงความคิดเห็น รับร่างฯ ขั้นตอนที่ 9 แก้ไขร่างฯให้เป็นฉบับสมบูรณ์ ขั้นตอนที่ 10 ประกาศใช้ธรรมนูญฯ (12 สิงหาคม 2557) ขั้นตอนที่ 11 กำหนดและประกาศมาตรการทางสังคม ขั้นตอนที่ 12 ดำเนินการตามประกาศมาตรการทางสังคม ผลการศึกษา การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพหลังการประกาศใช้ หลังจากประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพชุมชนคน 3ท. คณะกรรมการสำนักธรรมนูญสุขภาพได้ร่วมกันพิจารณา จัดลำดับความสำคัญของปัญหาและกิจกรรม โดยพิจารณาจากความเร่งด่วน ความต้องการของชุมชน และสอดคล้องกับธรรมนูญสุขภาพข้อใด หมวดใด จากนั้นร่วมกันสรุปเพื่อหาแกนนำในการดำเนินกิจกรรมตามหมวดนั้นๆ ออกประชาคมแต่ละหมู่บ้านเพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการทางสังคม ประกาศใช้มาตรการทางสังคมผ่านเวทีประชาคมและหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน จากนั้นแต่ละหมู่บ้านก็ดำเนินกิจกรรมตามมาตรการทางสังคมและกิจกรรมที่สอดคล้องกับธรรมนูญสุขภาพ โดยให้คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นทีมกระตุ้นเตือนการดำเนินกิจกรรมของชุมชน ทีมประเมินสำนักธรรมนูญสุขภาพออกติดตามประเมินผลการดำเนินงาน การเชื่อมประเด็นที่ระบุไว้ในธรรมนูญสุขภาพในพื้นที่ นำไปขับเคลื่อนหรือประยุกต์ใช้ในการพัฒนา กับหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ โรงเรียน วัด รพ.สต. เกษตร ฯลฯ มีประเด็นอะไรบ้าง และมีการดำเนินงานอย่างไร จากการสรุปประเด็นปัญหาเพื่อจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินกิจกรรม ได้มีการเชื่อมประเด็นกับหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานเป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนบูรณาการกับหน่วยงานอื่น/ประเด็นอื่น รวมถึงการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมในประเด็นที่ตนเป็นแกนนำหลัก ซึ่งมีประเด็นในการเชื่อมโยงดังนี้ หมวดที่ 2 การส่งเสริมให้ครอบครัวอบอุ่น แกนนำหลัก ได้แก่ ผู้นำชุมชน/เจ้าอาวาสวัด/ส่วนสาธารณสุข/ส่วนการศึกษา หมวดที่ 3 ชุมชนมีความรักความสามัคคี แกนนำหลัก ได้แก่ ส่วนสวัสดิการสังคม/ผู้นำชุมชน หมวดที่ 4 อยู่ดี กินดี ตามวิถีพอเพียง แกนนำหลัก ได้แก่ ส่วนเกษตร/ส่วนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย/ผู้นำชุมชน หมวดที่ 5 หลีกเลี่ยงอบายมุข แกนนำหลัก ได้แก่ ผู้นำชุมชน/ส่วนสาธารณสุข/รพ.สต. หมวดที่ 6 สาธารณสุขมูลฐาน แกนนำหลัก ได้แก่ รพ.สต./ส่วนสาธารณสุข/อสม. หมวดที่ 7 พัฒนาส่งเสริมการประกอบอาชีพ แกนนำหลัก ได้แก่ ส่วนสวัสดิการสังคม หมวดที่ 8 วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น แกนนำหลัก ได้แก่ ส่วนการศึกษา/สำนักปลัด อบต.แสงสว่าง หมวดที่ 9 เรียนรู้คู่คุณธรรม แกนนำหลัก ได้แก่ โรงเรียน/ส่วนการศึกษา/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หมวดที่ 10 เสียสละเพื่อส่วนรวม แกนนำหลัก ได้แก่ ผู้นำชุมชน หมวดที่ 11 สิ่งแวดล้อม แกนนำหลัก ได้แก่ ผู้นำชุมชน/ส่วนสาธารณสุข การเชื่อมประเด็นที่ระบุไว้ในธรรมนูญสุขภาพในพื้นที่ นำไปขับเคลื่อนหรือประยุกต์ใช้ในการพัฒนา กับ กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น มีประเด็นอะไรบ้าง และมีการดำเนินงานอย่างไร การเชื่อประเด็นกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นกับธรรมนูญสุขภาพ โดยแกนนำหลักในแต่ละหมวดเขียนแผนงาน/โครงการที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาตามธรรมนูญสุขภาพ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น เพื่อเสนอขออนุมัติงบประมาณในการดำเนินกิจกรรม ดังนี้ หมวดที่ 2 การส่งเสริมให้ครอบครัวอบอุ่น โครงการที่สอดคล้อง ได้แก่ โครงการส่งเสริมครอบครัวอบอุ่น หมวดที่ 3 ชุมชนมีความรักความสามัคคี โครงการที่สอดคล้อง ได้แก่ โครงการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุ หมวดที่ 4 อยู่ดี กินดี ตามวิถีพอเพียง โครงการที่สอดคล้อง ได้แก่ โครงการติดตามเกษตรกรกลุ่มเสี่ยงที่ผลตรวจสารเคมีตกค้างในเลือดอยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัย หมวดที่ 5 หลีกเลี่ยงอบายมุข โครงการที่สอดคล้อง ได้แก่ โครงการงานศพงานเศร้าปลอดเหล้าปลอดการพนัน หมวดที่ 6 สาธารณสุขมูลฐาน โครงการที่สอดคล้อง ได้แก่ โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 0-5 ปี โครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โครงการป้องกัน ควบคุมโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โครงการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โครงการส่งเสริมทันตสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียน หมวดที่ 9 เรียนรู้คู่คุณธรรม แกนนำหลัก ได้แก่ โครงการอนามัยดีชีวีมีสุข หมวดที่ 10 เสียสละเพื่อส่วนรวม แกนนำหลัก ได้แก่ โครงการจิตอาสา หมวดที่ 11 สิ่งแวดล้อม แกนนำหลัก ได้แก่ โครงการคัดแยกขยะ โครงการป้องกันโรคไข้เลือดออก สรุปผลการศึกษา รูปธรรมความสำเร็จของการดำเนินงานธรรมนูญสุขภาพ 1. เกิดมาตรการทางสังคมที่มีการบังคับใช้อย่างชัดเจนหลายประเด็น ได้แก่ ประเด็นงานหลีกเลี่ยงอบายมุข การป้องกันโรคไข้เลือดออก การป้องกันการจับสัตว์น้ำ และมาตรการการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน 2. เกิดกิจกรรมการออกกำลังกายโดยการเต้นบาสโลบอย่างต่อเนื่อง โดยมีประชาชนเป็นแกนนำหลักในการเต้น กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้อองถิ่นสนับสนุนเครื่องเสียง อบต.แสงสว่างสนับสนุนงบประมาณสร้างลานกีฬาเพื่อสุขภาพ รพ.สต.สนับสนุนวิทยากรสอนการเต้นบาสโลบและกระตุ้นเตือน อสม.ให้เป็นแกนนำในการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ผู้นำชุมชนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมออกกำลังกายทุกวัน 3. เกิดกิจกรรมงานศพงานเศร้าปลอดเหล้าปลอดอบายมุข โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ มีประชาชนที่เข้าร่วมโครงการและสามารถปฏิบัติตามมาตรการได้สำเร็จจำนวน 5 ครัวเรือน ได้รับเงินสนับสนุนในการจัดทำศพๆละ 5,000 บาท เกิดความต่อเนื่องของโครงการโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัทเอกชนเพื่อดำเนินกิจกรรม 4. เกิดกิจกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง โดยมีผู้นำชุมชนเป็นแกนนำหลักในการเชิญชวนลูกบ้านมาร่วมกันทำความสะอาดที่สาธารณะ ถนน วัด โรงเรียน เดือนละ 1 ครั้ง ครัวเรือนที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมปรับเงินจำนวน 20 บาท/เดือน เกิดกิจกรรมต่อเนื่องทุกเดือน ประชาชนเกิดความสามัคคี ร่วมบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์มากขึ้น 5. ครัวเรือนร่วมดำเนินกิจกรรมจัดการสิ่งแวดล้อมในบ้าน กำจัดลูกน้ำยุงลายตามมาตรการทางสังคมที่ได้ร่วมกันกำหนด จนหมู่บ้านในเขต อบต.แสงสว่างทั้ง 4 หมู่บ้านมีค่าดัชนีลูกน้ำ (HI) = 0 ได้รับการรับรองจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี บทบาทของกองทุนหลักประตำบลในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพ สนับสนุนกรอบการบริหารงานด้านสาธารณสุขที่ขัดเจนขึ้น สนับสนุนงบประมาณ การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานสุขภาพภาคประชน บูรณาการงานธรรมนูญสุขภาพกับงานด้านต่างๆในชุมชน

 


 

การพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงดี ตำบลโนนทอง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นางสาววายุภักดิ์ ธรรมสงฆ์, นายชัยสิทธิ์ นามีผล และนางวัฒนา  นามีผล

รพ.สต.เชียงดี  ตำบลโนนทอง

ที่มา และความสำคัญ การดำเนินงานคลินิกในปีงบประมาณที่ผ่านมาของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงดีจะตรวจรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ถูกส่งต่อมารับการรักษาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงดีและเป็นผู้ป่วยที่สามารถควบคุมความดันโลหิตสูงได้ดีทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง (วันพฤหัสบดี)  ปัญหาที่พบสำหรับเจ้าหน้าที่คือผู้ป่วยขาดนัดมาไม่ตรงกับวันเวลาที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขนัด เนื่องจากมาสัปดาห์ไหนก็สามารถรับยาได้ทำให้ไม่เป็นระเบียบในระบบการให้บริการ  ปีงบประมาณ 2558 เกิดการพัฒนาระบบการให้บริการของเครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรังของอำเภอนายูงคือมีทีมสหวิชาชีพร่วมออกหน่วยเคลื่อนที่คลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งการลดจำนวนการให้บริการคลินิกโรเรื้อรังลงจากทุกสัปดาห์เป็นเดือนละ 1 ครั้ง เหตุผลเนื่องจากการเตรียมอุปกรณ์ , เวชภัณฑ์ ที่ใช้รวมถึงข้อจำกัดด้านบุคลากรของทีมสหวิชาชีพอำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานีมีบุคลากรจำนวนน้อยจำนวนวันและเวลาที่ทีมสหวิชาชีพชีพออกหน่วยตรวจโรคให้บริการจึงมีเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังเดือนละ 1 ครั้ง ทำให้ผู้มาใช้บริการรอนาน คุณภาพการบริการอาจจะลดลงด้วย” ในส่วนของผู้มาใช้บริการในคลินิก พบว่า  “รพ.สต. ให้บริการเดือนละ 1 ครั้ง ทำให้รอนานไม่สะดวกเหมือนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพราะถ้าหากไม่มาตามนัด อีกสัปดาห์ก็สามารถมารับยาได้ หรือไม่เช่นนั้นก็รออีกสัปดาห์ก็ได้” และจากการสังเกต พบว่า เมื่อปรับเปลี่ยนเวลาการให้บริการเป็นเดือนละ 1 ครั้ง ญาติหรือผู้ป่วยบางคนมีความรู้สึกไม่พึงพอใจต่อการให้บริการเพราะรอนาน บางคนรอไม่ได้รับการตรวจวัดความดันโลหิต เบาหวาน ก็กลับบ้านโดยไม่รอพบแพทย์ และร่วมกิจกรรมการให้ความรู้ ในขณะที่ให้บริการสัปดาห์ละ 1 ครั้งผู้รับบริการไม่มีอาการดังกล่าว แต่ผู้รับบริการอยากมาเวลาใดก็มา ไม่เป็นระเบียบ บุคลากรที่ให้บริการไม่สามารถทำงานอื่นได้ ต้องรอให้บริการเท่านั้น แต่ข้อดีของการให้บริการสัปดาห์ละ 1 ครั้ง คือสามารถให้คำแนะนำผู้ป่วย ในการปฏิบัติตน การรับประทานยา หรือการคัดแยกปิงปองจราจรเจ็ดสีได้ง่ายเนื่องจากมีผู้ป่วยมารับบริการจำนวนน้อยคนเจ้าหน้าที่สามารถให้คำแนะนำและดูแลได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นผู้วิจัยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการจึงเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ทำการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งรูปแบบการวิจัยที่นำมาประยุกต์ใช้ในครั้งนี้ คือการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ซึ่งเป็นการวิจัยที่มีกระบวนการปฏิบัติอย่างมีระบบ ผู้วิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการปฏิบัติการ และวิเคราะห์วิจารณ์ผลการปฏิบัติ โดยการใช้วงจร 4 ขั้นตอน คือ การวางแผน การปฏิบัติ การสังเกต การสะท้อนผล เพื่อร่วมกันปรับปรุง แก้ไขในส่วนที่บกพร่องนั้น ต่อจากนั้นนำมาปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการ แล้วศึกษาผลของการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  อันจะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการเพื่อความพึงพอใจของผู้รับบริการในคลินิกและการปฏิบัติงานอย่างมีความสุขในการให้บริการต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ระเบียบวิธีวิจัย เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการแก่ผู้รับบริการในคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีมารับบริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงดี อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี จำนวน 113 คน ในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งมีเกณฑ์ในการคัดเลือกดังนี้ (1) ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ให้ความร่วมมือ วิธีการศึกษา ผู้วิจัยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research : AR) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังก่อนและหลังการพัฒนาระบบ ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขเก็บข้อมูลตามแบบสอบถามประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่ แบบบันทึกระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการให้บริการในแต่ละจุดบริการในคลินิกโรคเรื้อรัง แบบสังเกตพฤติกรรมและความพึงพอใจของผู้รับบริการและผู้ให้บริการ และเก็บข้อมูลจากตั้วชี้วัดการควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตสูงได้ดี ระยะเวลาดำเนินการ ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 ถึงมีนาคม 2558 วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้โรแกรม SPSS หาค่าเฉลี่ย ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเปรียบเทียบก่อนและหลังการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงดี อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี ในช่วงเวลาที่กำหนด ผลการศึกษา การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเชียงดี ตำบลเชียงดี อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research : AR) ซึ่งมีขั้นตอน การดำเนินงาน 4 ขั้นตอน คือ ขั้นการวางแผน ขั้นการปฏิบัติ ขั้นการสังเกต และขั้นการสะท้อนผล โดยได้ข้อค้นพบจากการวิจัยดังนี้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงดีพบว่า ระบบการให้บริการในแต่ละจุดบริการทั้ง 4 จุด โดยเริ่มให้บริการเวลา 06.30 น.ได้แก่ จุดบริการที่ 1 (ค้นหาแฟ้มประวัติ, ชั่งน้ำหนัก,วัดส่วนสูง,วัดรอบเอว, วัดความดัน,เจาะเบาหวาน (ในกรณีผู้ป่วยเบาหวาน) จุดบริการที่ 2 (ซักประวัติ,นำเข้าข้อมูลผู้ป่วยที่มารับบริการ) จุดบริการที่ 3 (พบแพทย์) และจุดบริการที่ 4 (รับยา, ให้คำแนะนำ, นัด) มีปัญหาเรื่องของบุคลากรไม่เพียงพอ และการให้บริการยังก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจในประชาชนบางส่วน สิ้นสุดการให้บริการทุกจุดทุกคน เวลา 14.00 น. ดังนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยนจำนวนคนการให้บริการ และปรับเปลี่ยนกลวิธีในจุดบริการที่ 1 และจุดบริการที่ 2 กล่าวคือ ปรับเปลี่ยนเวลาให้บริการโดยเริ่มให้บริการเวลา 05.30 น. จุดบริการที่ 1 (ค้นหาแฟ้มประวัติ, ชั่งน้ำหนัก,วัดส่วนสูง,วัดรอบเอว, วัดความดัน,เจาะเบาหวาน (ในกรณีผู้ป่วยเบาหวาน) และให้ความรู้คัดแยกปิงปองจราจรเจ็ดสีผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตและเบาหวานปกติ สามารถนำเข้าข้อมูลที่จุดรับบริการผู้ป่วยจุด 2 และรับยา ให้คำแนะนำรับยา วันนัดกลับบ้านได้ ส่วนผู้ป่วยที่ไม่สามรถควบคุมความดันโลหิตและเบาหวานได้ให้รอพบแพทย์ที่ จุดบริการที่ 3 และรับยาที่จุดบริการ 4 ตามลำดับโดยสิ้นสุดการให้บริการหลังพัฒนาระบบเวลา 11.30 น. ลดระยะเวลาลงจากจากการก่อนการพัฒนาระบบเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง สรุปผลการศึกษา ระยะเวลาที่ใช้ในการให้บริการและการรอคอยแต่ละจุดบริการ พบว่า จุดบริการที่ 1 ก่อนการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคใช้เวลาเฉลี่ย=52.54, S.D.= 39.41 รวมใช้เวลาเกือบ 160 นาที หลังการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังใช้เวลาเฉลี่ย=29.91, S.D.= 22.66 รวมใช้เวลา 120 นาที ลดลง 40 นาที จุดบริการที่ 2 ก่อนการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังใช้เวลาเฉลี่ย=13.6, S.D.= 7.19 ใช้เวลามากประมาณ 33 นาที หลังการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังใช้เวลาเฉลี่ย=2.28, S.D.= 0.96 ใช้ระยะเวลาไม่มากนักโดยผู้ที่มากสุดประมาณ 5 นาทีมีไม่กี่คนเท่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของเวลาก่อนและหลังพัฒนาระบบลดลงอย่างเห็นได้ชัด จุดบริการที่ 3 (พบแพทย์) ก่อนการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังเมื่อพิจารณาระยะเวลาที่ใช้เฉลี่ย=7.33, S.D.= 5.75 โดยใช้ระยะเวลามากสุดประมาณ 30 นาที หลังการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังใช้เวลาเฉลี่ย=9.42, S.D.= 4.31 โดยผู้ที่มากสุดประมาณ 20 นาที จุดบริการที่ 4 ก่อนการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังเมื่อพิจารณาระยะเวลาที่ใช้เฉลี่ย=8.08, S.D.= 5.42 โดยใช้ระยะเวลามากสุดประมาณ 33 นาที หลังการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังใช้เวลา เฉลี่ย=6.44, S.D.= 4.36 รวมใช้เวลามากสุด 20 นาที ซึ่งความแตกต่างของการรอคอยค่อนข้างน้อยหรือพอ ๆ กับก่อนการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผลการศึกษาความพึงพอใจ พบว่า ผู้รับบริการคลินิกโรคเรื้อรังก่อนการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากร้อยละ 63.5 รองลงมาระดับมากที่สุด ร้อยละ 23.8 และระดับปานกลาง ร้อยละ 12.7 และหลังการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดร้อยละ 88.4 รองลงมาระดับมาก ร้อยละ 11.6 ผลทางด้านตัวชี้วัดผู้ป่วยมีระดับการควบคุมความดันโลหิตได้ดีเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.18 ระดับการควบคุมน้ำตาลได้ดีเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.75

 
More Articles...


Page 7 of 26
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday16
mod_vvisit_counterYesterday23
mod_vvisit_counterThis week16
mod_vvisit_counterLast week368
mod_vvisit_counterThis month364
mod_vvisit_counterLast month311
mod_vvisit_counterAll days249115

We have: 4 guests online
Your IP: : 3.22.248.208
Mozilla 5.0, 
Today: May 05, 2024

Polls

Who's Online

We have 4 guests online

Advertisement

Featured Links:
Joomla! Extensions
Joomla! Components, Modules, Plugins and Languages by the bucket load.

Popular