Research of Udonthani Provincial Health Office.

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size

การพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะตัวเหลืองจากการได้รับน้ำนมไม่เพียงพอในทารกแรกเกิด โรงพยาบาลกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นางกรองแก้ว  อัคเนตร และคณะ

แผนกผู้ป่วยในสูติ-นรีเวชกรรม รพ.กุมภวาปี

 

ทีมาของปัญหาและวัตถุประสงค์ จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลทารกแรกเกิดของโรงพยาบาลกุมภวาปี พบอุบัติการณ์การเกิดภาวะตัวเหลืองเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ร้อยละ 26.0 , 29.6 ,31.27 และ31.40  ในปี 2551, 2552 ,2553  และ 2554 ตามลำดับ จากการวิเคราะห์สาเหตุของภาวะตัวเหลืองพบว่า ร้อยละ 78.9 เกิดจากทารกแรกเกิดได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ จากการทบทวนกิจกรรมการพยาบาลที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่ามีการพยาบาลที่แตกต่าง การดูแลไม่ครอบคลุม ต่อเนื่อง สอดคล้องกับปัญหาของมารดาและทารกจนส่งผลทำให้ทารกแรกเกิดมีภาวะตัวเหลืองจากการได้รับน้ำนมไม่เพียงพอจานวนมากขึ้นขึ้นจนกระทั่งในปี 2554 เป็นลำดับที่ 2 ใน 5 อันดับโรคผู้ป่วยในโรงพยาบาลกุมภวาปี  ถ้าทารกมีระดับค่าตัวเหลืองที่สูงเกินค่าปกติ ทารกจะมีอาการซึม  ดูดนมได้ไม่ดีและอาจมีภาวะ Kernicterus เกิดขึ้นตามมา ถ้ารอดชีวิตทารกจะปรากฏอาการของรอยโรคให้เห็นได้ เช่น  พัฒนาการช้า  หูหนวก  ชัก  ตัวแข็งเกร็ง  ปัญญาอ่อน ตลอดจนส่งผลต่อจำนวนวันนอนโรงพยาบาลและต้นทุนในการดูแลรักษาที่เพิ่มขึ้น   ดังนั้นทีมบุคลากรตึกสูติ-นรีเวชกรรม จึงได้นำแนวปฏิบัติการพยาบาลที่ได้พัฒนาขึ้นมาใช้ในการดูแลมารดาหลังคลอดและทารกแรกเกิดเพื่อลดจำนวนการเกิดภาวะตัวเหลืองจากการได้รับน้ำนมไม่เพียงพอในทารกแรกเกิด   มารดาหลังคลอดและครอบครัวพึงพอใจต่อการพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะตัวเหลืองจากการได้รับน้ำนมไม่เพียงพอในทารกแรกเกิด ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่างคือมารดาหลังคลอดและทารกแรกเกิด ที่ตึกสูติ-นรีเวชกรรม ในปีงบประมาณ 2555 (1 ตุลาคม -30 กันยายน 2555 ) โดยได้จัดทำแนวทางปฏิบัติการพยาบาลและนำมาใช้ในการบริการหญิงหลังคลอด วิเคราะห์ข้อมูลจากแบบประเมินที่จัดทำขึ้น ประกอบด้วย 1.การประเมินปัจจัยเสี่ยงของทารกแรกเกิดใช้ Modified Risk Index for hyperbilirubinemia 2.การประเมิน Breastfeeding Warning Signs 3.แบบนิเทศติดตาม การพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะตัวเหลืองจากการได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ 4.แบบประเมินภาวะตัวเหลือง จากการได้รับน้ำนมไม่เพียงพอในทารกแรกเกิด 5.แบบความพึงพอใจของมารดาหลังคลอดและครอบครัว ผลการศึกษา เมื่อติดตามผลลัพธ์ พบว่าจำนวนการเกิดภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดลดลงจากร้อยะ 31.40 เหลือเพียงร้อย 10.54 ทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลืองจากการได้น้ำนมไม่เพียงพอลดลงจากร้อยละ78.8 เหลือ ร้อยละ 57.6 และผลการประเมินความพึงพอใจของมารดาหลังคลอดและครอบครัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 79 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 81 ในปี 2555 การนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ 1.วางแผนและเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ก่อนนำแนวปฏิบัติการพยาบาลป้องกันภาวะตัวเหลืองจากการได้รับน้ำนมไม่เพียงพอในทารกแรกเกิด มาใช้ในตึกสูติ-นรีเวชกรรม โดยมีการดำเนินการประชุมให้ความรู้ที่สำคัญและฝึกทักษะปฏิบัติที่กำหนดไว้ในแนวปฏิบัติการพยาบาล 2. การติดตามภาวะผิดปกติที่ต้องเฝ้าระวังของการเกิดภาวะตัวเหลืองจากการได้รับน้ำนมไม่เพียงพอและ ประสานงานกับสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น สูติแพทย์ กุมารแพทย์ เภสัชกร โภชนากร แพทย์แผนไทยในการดำเนินกิจกรรมในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การส่งเสริมการมาเร็วของน้ำนมโดยจัดบริการน้ำสมุนไพรกระตุ้นน้ำนมและการนวดประคบเต้านมด้วยสมุนไพร 3.ประเมินLATCH Score, ระดับปริมาณน้ำนม,น้ำหนักทารกแรกเกิด และสื่อสารผลการประเมินระหว่างทีม สูติแพทย์ กุมารแพทย์ 4. การให้ความรู้และฝึกทักษะปฏิบัติผ่านสื่อเรียนรู้ / การเข้าช่วยเหลือ/เสริมพลังให้มารดาสามารถดูแลทารกดูดนมได้ถูกต้องและมีส่วนร่วมลงข้อมูลในแบบบันทึกลูกน้อยแม่คอยใส่ใจ บทเรียนที่ได้รับ 1. ควรสนับสนุนให้มีการนำแนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการเกิดภาวะตัวเหลืองจากการได้รับน้ำนมไม่เพียงพอในทารกแรกเกิด ไปใช้อย่างต่อเนื่อง 2. การพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในหน่วยงานตอบสนองได้ตรงกับความต้องการทั้งของผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ทุกคนในหน่วยงานตระหนักและเข้าใจประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เกิดการทำงานเป็นทีมในตึกสูติ-นรีเวชกรรม เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมของการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและการมีส่วนร่วมของสหสาขาวิชาชีพ 3.ผู้รับบริการคือมารดาหลังคลอดและญาติมีส่วนร่วม เข้าใจและเห็นความสำคัญของบริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต

 

การป้องกันการตกเลือดหลังคลอดของหญิงตั้งครรภ์ที่มาคลอดที่โรงพยาบาลกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นส.รัศมี  พิริยะสุทธิ์

งานห้องคลอด  โรงพยาบาลกุมภวาปี  จังหวัดอุดรธานี

ที่มาปัญหาและวัตถุประสงค์ จากสถิติปี 2553 พบว่ามีมารดาตกเลือดหลังคลอดจำนวน 15 ราย และสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเศษรกค้าง จำนวน 9 ราย คิดเป็น 60% เนื่องจากในระยะที่ 3 ของการคลอด จะให้ยา Syntocinon 1 amp im เมื่อไหล่หน้าคลอด ร่วมกับการทำคลอดรกแบบ Control cord traction เพื่อช่วยลดการสูญเสียเลือดในระยะที่ 3 ของการคลอด แต่พบว่ายังมีเจ้าหน้าที่ทำคลอดรกโดยไม่รอ Sign ของรกลอกตัว ทำให้มีเศษรกค้างจากการทำคลอดรกโดยไม่ถูกวิธี และพบว่าอัตราการตกเลือดหลังคลอดเพิ่มขึ้น จากเดิมในปี 2552 มีมารดาตกเลือดหลังคลอด 0.77 % และมาในปี 2553 เพิ่มเป็น 1.05 % หน่วยงานจึงปรับกระบวนการทำคลอดรกใหม่ โดยใช้วิธี modified crede manuver โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราตกเลือดหลังคลอด และ มารดาไม่เสียชีวิตจากการตกเลือดหลังคลอด ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่าง คือ มารดาที่มาคลอดที่ห้องคลอดของโรงพยาบาลกุมภวาปีในปีงบประมาณ 2554-2555 โดยได้จัดประชุมทีมงานที่เกี่ยวข้องหาสาเหตุของมารดาตกเลือดหลัง คลอด พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการมีเศษรกค้าง การคลอดเร็วและโลหิตจาง จึงการทบทวนแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง เช่น เกณฑ์การคัดกรองกลุ่มเสี่ยงตกเลือดหลังคลอดของงานฝากครรภ์ การร่วมทบทวน Case High Risk ในการเฝ้าระวังและให้ข้อมูลมารดาตั้งแต่การฝากครรภ์ โดยจัดทำเอกสารให้คำแนะนำ ที่มีความชัดเจนเข้าใจง่าย การใช้บริการปรึกษา ห้องคลอดตลอด 24 ชม. การจัดทำแนวทางปฏิบัติในห้องคลอด เช่น การเบ่งคลอด การให้ยากระตุ้นการคลอด และ ปรับกระบวน การทำคลอดรก ปรับแนวทางการดูแลผู้คลอดและการรายงานแพทย์ หลังดำเนินการได้เก็บข้อมูลจากมารดาที่ภาวะตกเลือดหลังคลอด และวิเคราะห์ข้อมูลตามแบบประเมิน ผลการศึกษา หลังการปรับกระบวนการทำคลอดรก โดยใช้วิธี modified crede manuver ร่วมกับการฉีด Syntocinon 1 amp IM เมื่อไหล่หน้าคลอด พบว่า สถิติจากการตกเลือดหลังคลอดมีแนวโน้มลดลง จากปี 2553 จำนวน 15 ราย เหลือ 11และ 11 ราย คิดเป็นร้อยละร้อยละ 0.77,0.69 ในปี 2554 และ 2555 ตามลำดับและตกเลือดจากเศษรกค้าง มีจำนวนลดลง เหลือ 3 ราย ไม่มีมารดาเสียชีวิตจากการตกเลือดหลังคลอด ผลจากการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ แผนก ANC ได้แนวทางการประเมินและการซักประวัติกลุ่มมารดาที่เสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอด และจัดดูแลในกลุ่ม High risk ให้สุขศึกษารายบุคคลในมารดาครรภ์เสี่ยงต่อการตกเลือด โดยเน้นอาการผิดปกติใน Case ที่มีรกเกาะต่ำ โลหิตจาง ถ้ามีอาการผิดปกติ ต้องรีบมารพ. ทันที สามารถเรียกใช้บริการ 1669 ได้ทันที งาน ANC ส่งต่อข้อมูลมารดากลุ่มเสี่ยงสูง ให้ห้องคลอดทราบ 1 เดือนก่อนคลอด เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแล เช่น บุคลากร การสำรองเลือด แผนกห้องคลอด 1.การประเมินคัดกรองความเสี่ยงที่สมุดฝากครรภ์ การซักประวัติ ตรวจร่างกาย เพื่อวินิจฉัยปัญหาเร่งด่วนในการดูแลและการเตรียมอุปกรณ์หรือเลือดให้พร้อมใช้ 2.ตรวจ Hct แรกรับทุกราย เพื่อประเมินภาวะซีด และมีแนวทางการดูแลมารดาที่เสี่ยงสูงต่อการตกเลือดหลังคลอด เช่น การให้เลือดก่อนคลอดหรือการให้IV 3.มีแนวทางการดูแลในระยะคลอด เช่น การทำคลอดรก และการตรวจสอบรก 4.กรณีมีเจ้าหน้าที่ใหม่ย้ายมา ให้มีการนิเทศ และฝึกทักษะการคลอดรก การดูแลหญิงตั้งครรภ์รอคลอด และปฏิบัติงานภายใต้การดูแลของพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด 5.กรณีที่หลังคลอด เสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอดให้ส่งต่ออาการให้ตึกหลังคลอด เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 6.ปรับปรุงแนวทางการดูแลในระยะคลอดและระยะหลังคลอด ส่งต่อข้อมูลให้ตึกหลังคลอด เฝ้าระวังต่ออย่างใกล้ชิด บทเรียนที่ได้รับ 1.การทบทวนเหตุการณ์สำคัญ กรณีการตกเลือดหลังคลอดมีประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบงาน 2.ควรมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หรืออย่างน้อยตามมาตรฐานที่กำหนดจะทำให้ค้นหาภาวะเสี่ยงได้เร็วขึ้นและแก้ไขได้ทันเวลาสามารถลดความรุนแรงของการตกเลือดหลังคลอดได้ 3.การประสานงานและการให้ร่วมมือหน่วยงานด้านแม่และเด็กในการส่งต่อข้อมูลหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดระหว่างหน่วยงานฝากครรภ์ ห้องคลอดและหลังคลอด ส่งผลให้สามารถวางแผนการดูแลและป้องกันความเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอดได้ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ 1.สมรรถนะของแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้าน Specific Competency 2. ทีมงาน MCH Broad ที่เข้มแข็งซึ่งเป็นการทำงานเป็นทีมของสูติแพทย์ กุมารแพทย์ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานห้องคลอด งานฝากครรภ์ ตึกสูติ- นรีเวชกรรมและหน่วยบริการปฐมภูมิ 3. ความตั้งใจและมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ห้องคลอดในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนจากผู้บริหาร หน่วยงานและองค์กร 1. การดำเนินงานนโยบายสายใยรักแห่งครอบครัวที่ชัดเจน 2. การสนับสนุนให้มีการอบรม การ Conference และแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานอื่นๆ สม่ำเสมอ 3. การมีเวทีนำเสนอผลงานและให้รางวัลหน่วยงานที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง

 

ผลของโปรแกรมการพัฒนาพฤติกรรมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนโรคไต ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โรงพยาบาลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นางจุฬารัตน์  หอมดวง,  นายพัฒนพงษ์  อินเสมียน และ นายสหรัฐ  หมื่นแก้วคราม

โรงพยาบาลบ้านผือ

 

ที่มา โรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข เพราะทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากด้วยโรคไตทั่วโลก 7 ล้านคน   คิดเป็นร้อยละ 1.3  (World Health Organization[WHO], 2008) และมีผู้ป่วยได้รับการล้างไตทั่วโลกปี 1990, ปี 2000 และปี 2010 จำนวน 426,000, 1,490,000 และ 2,500,000 ราย ตามลำดับ ซึ่งใช้เงินในการล้างไตในทศวรรษนี้ จำนวน 1.1 ล้านดอลลาร์ (Lysaght, 2002) จากสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ภาวะไตวายเรื้อรังแทรกซ้อน ร้อยละ 43.8 มาจากโรคเบาหวาน ร้อยละ 26.8 มาจากโรคความดันโลหิตสูง และร้อยละ 17.5 มาจากโรคอื่นๆ  ประเทศไทยพบปัญหาโรคไตเรื้อรังเช่นเดียวกันเป็นโรคที่พบมาก ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 13 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากประเทศ อัฟกานิสถาน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 53.3 และ 36.2 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ และคาดว่าอัตราการเพิ่มขอจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังจะสูงขึ้น นอกจากนี้พบอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคไตจากโรคเบาหวาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546-2550 มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆคิดเป็นอัตราการเสียชีวิตต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 17.7, 17.9, 18.1, 18.3 และ 19.5 ตามลำดับ สถิติผู้ป่วยเบาหวานของศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลบ้านผือ ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี มีผู้ป่วยที่มารับบริการขึ้นทะเบียนผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทั้งสิ้น ในปี พ.ศ.2552-2554 จำนวน 449 คน, 466 คน และ 472 คน ตามลำดับ โดยพบว่าที่มีภาวะไตวายแทรกซ้อน ทั้งสิ้น ในปี พ.ศ.2552-2554 จำนวน 52 คน คิดเป็นร้อยละ 11.58, จำนวน 57 คน คิดเป็นร้อยละ 12.23 และ 60 คน  คิดเป็นร้อยละ 12.71 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2  ดังนั้นผู้วิจัยจึงนำแนวความคิดความเชื่อด้านสุขภาพและแรงสนับสนุนทางสังคม เพื่อมาใช้ปรับพัฒนาพฤติกรรมในผู้ป่วยเบาหวานในการป้องกันภาวะโรคไตวายในผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อให้มีพฤติกรรมในการควบคุมน้ำตาลในเลือด และความดันโลหิตปกติ ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเอง ดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข วัตถุประสงค์ทั่วไป เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมพัฒนาพฤติกรรมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนโรคไต ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี วัตถุประสงค์เฉพาะ 1.  เพื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนน ภายในกลุ่ม และระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ ก่อนและหลังการทดลอง ในเรื่องดังต่อไปนี้ ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนโรคไตจากโรคเบาหวาน การรับรู้ความรุนแรงของโรคไตวายเรื้อรัง  การรับรู้ประโยชน์และอุปสรรคในการป้องกันโรคไตวายเรื้อรัง การปฏิบัติตัว ได้แก่ การควบคุมอาหาร, การออกกำลังกาย, การพบแพทย์ตามนัด, การทำความสะอาดของร่างกาย, การคลายเครียด และการรับประทานยา เพื่อเปรียบเทียบผลของการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Laboratory investigation) ภายในกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ ก่อนและหลังการทดลอง ในเรื่องค่าระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) และค่าระดับน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือด (HbA1cระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่าง  แบ่งเป็น  2 กลุ่ม คือ  กลุ่มทดลอง  32 คน และกลุ่มเปรียบเทียบ 32 คน  วิธีการศึกษา รูปแบบการวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi-experimental design) แบบ 2 กลุ่ม คือ   กลุ่มทดลอง(Experimental group) และกลุ่มเปรียบเทียบ (Comparison group) สถานที่ ตำบลบ้านผือ  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี ช่วงเวลา  เดือนมิถุนายน 2555 ถึงเดือน เมษายน 2556 การวิเคราะห์ข้อมูล  สถิติ Paired-t-test สถิติ Independent-t-test และ95% CI กำหนดระดับนัยสำคัญสถิติที่ระดับ 0.05  ผลการศึกษา พบว่า ภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลอง มีค่าเฉลี่ยของคะแนน ความรู้  การรับรู้โอกาสเสี่ยง การรับรู้ความรุนแรง การรับรู้อุปสรรคและประโยชน์  การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนโรคไตจากโรคเบาหวาน ได้แก่ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย  การคลายเครียด การรับประทานยา การพบแพทย์ตามนัด และ การดูแลความสะอาดของร่างกาย มีค่าของคะแนนเฉลี่ยมากกว่าก่อนการทดลอง และมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (p-value < 0.05) ค่าระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)  และค่าระดับน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือด (HbA1c) มีค่าคะแนนเฉลี่ย ลดลงมากกว่าก่อนการทดลอง และลดลงมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05)

 

สาเหตุภาวะคลอดก่อนกำหนดในโรงพยาบาลเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ปีงบประมาณ 2556

E-mail Print PDF

นางสาวนภสวรรณ  เกตุไธสง และคณะ

งานห้องคลอด โรงพยาบาลเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี

 

การคลอดก่อนกำหนดคือทารกที่เกิดก่อนอายุครรภ์ไม่ครบ 37 สัปดาห์ (259 วัน) โดยไม่คำนึงถึงน้ำหนักแรกเกิด การคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ทารกเสียชีวิตและมีความพิการสูง การศึกษาเชิงพรรณนานี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาถึงสาเหตุภาวะคลอดก่อนกำหนดในโรงพยาบาลเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะคลอดก่อนกำหนด จำนวน 59 คน ผู้ศึกษารวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง แบบสัมภาษณ์ที่ใช้พัฒนาโดยผู้ศึกษาประกอบด้วย ข้อคำถามที่ได้ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสาเหตุ และภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการจัดหมวดหมู่ข้อมูล และแจกแจง ความถี่หาค่าร้อยละสรุปผลการวิจัย พบว่า สาเหตุการคลอดก่อนกำหนดในห้องคลอด โรงพยาบาลเพ็ญ มีสาเหตุมาจากการทำงานหนักร้อยละ 20.34 การเดินทางไกล ร้อยละ 15.25 ภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรม ร้อยละ 10.17 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไปร้อยละ 69.44 เป็นครรภ์แรกร้อยละ 40.68 ฝากครรภ์ในเขตจังหวัดอุดรธานี ร้อยละ 79.66 ฝากครรภ์ครั้งแรกอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ร้อยละ 50.85 อายุครรภ์ที่มีผลภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดอยู่ในช่วง 34-37 สัปดาห์ ร้อยละ 54.24 การศึกษาที่มีผลต่อการคลอดก่อนกำหนด คือมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 33.9 รายได้อยู่ในช่วง 5,000-10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 59.32 ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 7,322.03:3,861.57 ค่ามัธยฐาน 6,000 (4,000:28,800) อาชีพแม่บ้านร้อยละ 72.88 การสูบบุหรี่ดื่มสุราไม่มีผลต่อการคลอดก่อนกำหนด การนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ 1. ต่อผู้ป่วย - ผู้คลอดทราบสาเหตุ อาการของการคลอดก่อนกำหนด ทำให้เข้ารับบริการในสถานพยาบาลเร็วขึ้น - ผู้คลอดทราบถึงอันตรายของภาวะคลอดก่อนกำหนด มีผลต่อมารดา ทารก และเศรษฐกิจ ต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น  2. ต่อบุคคลากร - เผยแพร่งานวิจัยให้เครือข่ายทราบถึงสาเหตุการคลอดก่อนกำหนด เพื่อหาแนวทางป้องกันร่วมกัน - บุคลากรทราบสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนด และหาแนวทางป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนดเป็นแนวทางเดียวกัน - บุคลากรในพื้นที่สามารถหาแนวทางป้องกันและลดภาวะคลอดก่อนกำหนดจากสาเหตุที่แท้จริงได้ - บุคลากรสามารถวางแผนการดูแลรักษาจากสาเหตุการคลอดก่อนกำหนดได้ 3. ผลต่อการพัฒนางาน - พัฒนาระบบประสานงานระหว่างโรงพยาบาลและ รพ.สต. อสม. ในพื้นที่ในการประสานงานในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงต่อคลอดก่อนกำหนด - พัฒนาโรงเรียนพ่อแม่ในชุมชน ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆโดยเน้นการสอนภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด - จัดกิจกรรมสายด่วนรับปรึกษาการฝากครรภ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์มีที่ปรึกษาตลอดเวลา - กลุ่มเสี่ยงควรได้รับการเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ - มีแนวทางการส่งต่อหญิงเจ็บครรภ์ที่มีภาวะคลอดก่อนกำหนด - มีแนวทางการดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะคลอดก่อนกำหนด บทเรียนที่ได้รับ 1.ทราบกลุ่มเสี่ยงในภาวะคลอดก่อนกำหนดในโรงพยาบาลเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี 2.ทราบสาเหตุภาวะคลอดก่อนกำหนดในโรงพยาบาลเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี 3. ทราบแนวทางป้องกัน และแก้ไขภาวะคลอดก่อนกำหนดในโรงพยาบาลเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี 4.ทราบแนวทางการดูแลรักษาภาวะคลอดก่อนกำหนด 5.ทราบการประสานงานระหว่างเครือข่ายในการดูแลกลุ่มเสี่ยง ปัจจัยแห่งความสำเร็จ 1.ความรู้ในเชิงวิจัยของผู้วิจัย 2.ความร่วมมือระหว่างเครือข่าย รพ.สต. และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 3. ความร่วมมือและความสามัคคี ในหน่วยงานห้องคลอด 4.ความร่วมมือของหญิงตั้งครรภ์และญาติที่เข้ารับบริการที่ห้องคลอด โรงพยาบาลเพ็ญ 5.อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัย 6.ผู้ประสานงานโครงการวิจัย

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ได้รับการคาสายสวน ปัสสาวะในหอผู้ป่วย โรงพยาบาลเพ็ญ

E-mail Print PDF

นางสาวธมลวรรณ  คณานิตย์

โรงพยาบาลเพ็ญ

 

ที่มา การติดเชื้อในโรงพยาบาลของระบบทางเดินปัสสาวะ พบได้บ่อยเป็นหนึ่งในสามอันดับแรกของการติดเชื้อในโรงพยาบาลทั้งต่างประเทศและในประเทศ ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (Centers of Disease Control : CDC) ได้รายงานว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราอุบัติการณ์การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะที่สัมพันธ์กับการใส่สายสวนปัสสาวะในหอผู้ป่วยหนักที่สูงที่สุดคือ หอผู้ป่วยหนักศัลยกรรมประสาทซึ่งเท่ากับ 6.0 ครั้งต่อ 1,000 วันคาสายสวนปัสสาวะ ส่วนการศึกษาในโรงพยาบาลในประเทศไทยจำนวน 44 แห่ง เมื่อปี พ.ศ. 2544 พบว่า การติดเชื้อในโรงพยาบาลของระบบทางเดินปัสสาวะที่สัมพันธ์กับการคาสายสวนปัสสาวะคิดเป็น 21.5 ครั้ง ต่อ 1,000วันคาสายสวนปัสสาวะ การติดเชื้อนี้ยังส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ป่วย ผู้ป่วยรายอื่น โรงพยาบาล และประเทศชาติ ทำให้ผู้ป่วยต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลนานขึ้นร้อยละ 5 ถึง 12.4 วันต่อการติดเชื้อ 1 ครั้งทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ถึง 500 ถึง 676 เหรียญสหรัฐ ต่อการติดเชื้อ 1 ครั้ง หากการติดเชื้อรุนแรงมากขึ้นอาจมีการแพร่กระจายเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตได้ โดยพบว่า อัตราการตายเพิ่มสูงขึ้น ถึงร้อยละ 10.5 ถึง 21.3 จากการเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาลเพ็ญ พบว่า การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะจากการคาสายสวนปัสสาวะเป็นอันดังหนึ่งของการติดเชื้อทั้งหมด โดยพบอัตราการติดเชื้อเท่ากับ 4.29, 5.30, 4.66 และ 10.36 ต่อ 1,000 วันนอน ในปี 2553, 2554, 2555 และ 2556 ตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แสดงให้เห็นว่า การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในโรงพยาบาลเพ็ญนับเป็นปัญหาสำคัญ ผู้วิจัย จึงมีความสนใจที่จะศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่คาสายสวนปัสสาวะ เพื่อให้ทราบถึงขนาดของปัญหาและปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่แท้จริง พยาบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถนำไปเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาหรือกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยได้รับการสวนคาสายสวนปัสสาวะได้อย่างเหมาะสม อันจะส่งผลให้อัตราการติดเชื้อลดลงได้ต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะ ในหอผู้ป่วย โรงพยาบาลเพ็ญ ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อสุ่มแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) ช่วงการสุ่มเท่ากับ 10 และสุ่มหาเลขเริ่มต้นเท่ากับ 3 ได้ขนาดตัวอย่าง 86 คน ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ติดเชื้อมีเพียง 20 รายจึงเลือกมาทั้งหมด รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 106 คน ศึกษาข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึง มิถุนายน 2556 ผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองจากแบบบันทึกข้อมูลทั่วไปและข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะในหอผู้ป่วยชายและหอผู้ป่วยหญิง จากแฟ้มประวัติและข้อมูลจากบันทึกการเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและใช้สถิติเชิงอนุมาน เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะ ผลการศึกษา ข้อมูลทั่วไป พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ไม่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 51.99 ปี มีอายุระหว่าง 24-78 ปี ส่วนใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 64.0 ระดับการศึกษา อยู่ในชั้นประถมการศึกษา ร้อยละ 96.5 และมีอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 100 ส่วนกลุ่มที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 55.20 ปี มีอายุระหว่าง 9-69 ปี ส่วนใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไปร้อยละ 70.0 ระดับการศึกษา อยู่ในชั้นประถมการศึกษาร้อยละ 95.9 มีอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 95.9 ข้อมูลด้านสุขภาพพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ไม่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยวิกฤติ ร้อยละ 93.02 ไม่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 94.18 ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ร้อยละ 95.35 มีระยะเวลานอน รพ. อยู่ระหว่าง 1-20 วัน เฉลี่ย 5.52 วัน ระยะเวลานอน รพ. < 7 วัน มากที่สุด ร้อยละ 81.39 มีระยะเวลาใส่สายสวนปัสสาวะระหว่าง 1-30 วัน เฉลี่ย 3.88 วัน มีระยะเวลาใส่สายสวนปัสสาวะ < 7 วัน มากที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 91.86 จำนวนครั้งใส่สายสวนปัสสาวะอยู่ ระหว่าง 1-3 ครั้ง เฉลี่ย 1.03 ครั้ง จำนวนครั้งใส่สายสวนปัสสาวะ < 3 ครั้ง ทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 100.00 ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้องรังร้อยละ 90.00 มีโรคประจำตัว ร้อยละ 90.00 มีภาวะแทรกซ้อน ร้อยละ 85.00 มีระยะเวลานอน รพ. อยู่ระหว่าง 5-24 วัน เฉลี่ย 14 วัน ระยะเวลานอน รพ. 7 วัน มากที่สุด ร้อยละ 80.00 มีระยะเวลาใส่สายสวนปัสสาวะระหว่าง 2-24 วัน เฉลี่ย 11.55 วัน มีระยะเวลาใส่สายสวนปัสสาวะ 7 วัน มากที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 65.00 จำนวนครั้งใส่สายสวนปัสสาวะอยู่ระหว่าง 1-5 ครั้ง เฉลี่ย 2.00 ครั้ง จำนวนครั้งใส่สายสวนปัสสาวะ < 3 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 95.00 ข้อมูลปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะแสดงว่า เพศ การวินิจฉัยโรคที่มารักษาครั้งนี้ โรคประจำตัว ภาวะแทรกซ้อน ระยะเวลานอน รพ. ระยะเวลาใส่สายสวนปัสสาวะ มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (c2= 4.24, p =0.04, 95% CI = 0.13-0.97) (c2= 63.85, p =0.00, 95% CI = 22.37-643.87) (c2= 67.68, p =0.00, 95% CI = 26.17-812.20) (c2= 65.94, p =0.00, 95% CI = 23.79-567.07) (c2= 29.02, p =0.00, 95% CI = 5.15-59.45) (c2= 34.27, p =0.00, 95% CI = 6.31-69.64) ตามลำดับ การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ 1. ผู้บริหาร และคณะกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล นำไปกำหนด นโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยเพศชาย ที่เป็นโรคเรื้อรัง มีโรคประจำตัว มีภาวะแทรกซ้อน ระยะเวลานอน รพ. 7 วัน ระยะเวลาใส่สายสวนปัสสาวะ 7 วัน ที่ชัดเจนและเป็นแนวทางเดียวกัน 2.บุคลากรในหอผู้ป่วยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำข้อมูลไปพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะ และพัฒนาการให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและผู้ดูแล ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะ แผนการที่จะนำผลการวิจัยไปใช้ในหน่วยงาน 1. กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการสวนคาสายสวนปัสสาวะเริ่มตั้งแต่ ข้อบ่งชี้ การเตรียมผู้ป่วย การเตรียมอุปกรณ์ การดูแลขณะผู้ป่วยใส่สายสวนปัสสาวะ การถอดสายสวนปัสสาวะ การดูแลหลังและเฝ้าระวังผู้ป่วยหลังถอดสายสวนปัสสาวะ 2.เน้นแนวทางปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วย เพศชาย ที่มีโรคเรื้อรังและต้องสวนคาสายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน บทเรียนที่ได้รับและปัจจัยแห่งความสำเร็จ : ผู้วิจัยได้มีความรู้ และสามารถพัฒนางานวิจัยจากงานประจำ และได้รับทราบข้อมูล และสามารถนำเสนอผลการวิจัยแก่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพัฒนางานที่ส่งผลให้การป้องกันและควบคุมติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป ปัจจัยแห่งความสำเร็จ: การมีนโยบาย และ แนวทางปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ใส่ คาสายสวนปัสสาวะ รวมถึงความร่วมมือในการบันทึกข้อมูล และการรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการติด เชื้อระบบทางเดินปัสสาวะให้ครบถ้วน จาก แพทย์ พยาบาล และ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้การ ป้องกันและควบคุมการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะ มีประสิทธิภาพ และช่วยลดอัตราการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะได้

 

 

 


Page 10 of 26
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday12
mod_vvisit_counterYesterday23
mod_vvisit_counterThis week12
mod_vvisit_counterLast week368
mod_vvisit_counterThis month360
mod_vvisit_counterLast month311
mod_vvisit_counterAll days249111

We have: 2 guests online
Your IP: : 18.191.147.190
Mozilla 5.0, 
Today: May 05, 2024

Polls

Who's Online

We have 2 guests online

Advertisement

Featured Links:
Joomla! Extensions
Joomla! Components, Modules, Plugins and Languages by the bucket load.

Popular