Research of Udonthani Provincial Health Office.

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size

การพัฒนาเครือข่ายศูนย์เด็กเล็กอ่อนหวานตำบลสร้อยพร้าว อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นายวิษณุ   เมืองบาล นางสาวกวินณา   พิณพิมาย  นางณฐพร   หาตรงจิตต์

รพ.สต.สร้อยพร้าว อำเภอหนองหาน

ที่มานปัจจุบันโรคฟันผุในฟันน้ำนมยังเป็นปัญหามากในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ  ได้แก่  พฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่ถูกต้อง  เช่น  การปล่อยให้เด็กหลับพร้อมกับขวดนม  การไม่ดูดน้ำตามหลังดื่มนม การไม่ทำความสะอาดช่องปากให้เด็ก   ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดปัญหา แล้วยังพบว่า ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็ก  ยังขาดการรับรู้ที่ถูกต้อง ในการดูแลสุขภาพช่องปาก พฤติกรรมในการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น การให้เด็กนำขนมไปโรงเรียน หลอกล่อเด็กด้วยขนม หรือนมที่มีรสชาติหวาน เป็นต้น จากปัญหาด้านพฤติกรรมสุขภาพที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาทันตสุขภาพในเด็กปฐมวัย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยนโยบายสาธารณะและแผนการพัฒนาทันตสุขภาพของเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งยังขาดความเข้มแข็งและครอบคลุมการแก้ไขปัญหาทันตาธารณสุขในเด็กกลุ่มนี้ ทำให้เกิดปัญหา ได้แก่ โรคฟันผุ โรคเหงือกและโรคปริทันต์ ซึ่งในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค รวมถึงมาตรการในการดูแลเด็ก ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุม ตามกลยุทธ์ในการส่งเสริมสุขภาพตามแนวคิดของ Ottawa Charter องค์การอนามัยโลก ที่มีกลยุทธ์ที่สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล (Personal Skill) การสร้างให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุน (Environmental) การเปลี่ยนแปลงบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (Health-related services) การเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Strengthens) การสร้างนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ (Health Policy Public) หน่วยงานหลักที่สำคัญในการดูแลรักษา ส่งเสริมและป้องกันทันตสุขภาพ รวมทั้งเป็นเครือข่ายในการประสานงานเพื่อพัฒนาทันตสุขภาพของเด็กปฐมวัยในพื้นที่ ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ผู้ปกครองและครูพี่เลี้ยง ต่างก็ตระหนักในความสำคัญของปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นการปลุกระดม ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมระดมกำลังในการพัฒนา   และแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปากของเด็กในพื้นที่  โดยใช้ความร่วมมือของหลายภาคส่วนในท้องที่ตำบลสร้อยพร้าวเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินโครงการ รวมทั้งเป็นการพัฒนาและแก้ปัญหาทันตสาธารณสุขในเด็กปฐมวัยด้วยกระบวนการบูรณาการ การมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ตำบลสร้อยพร้าว วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินงานส่งเสริมทันตสุขภาพและแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัย โดยชุมชนและภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วม ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ เด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเขตตำบลสร้อยพร้าว จำนวน 76 คน (จากฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย ปี 2557) มีวิธีการดำเนินงานวิจัย โดยการพัฒนาเครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอ่อนหวานอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ของชุมชนและภาคเครือข่าย เพื่อให้เกิดการทำงานในรูปแบบของเครือข่ายตำบล ได้แก่ ครูพี่เลี้ยง ตัวแทน อปท. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข/ทันตบุคลากร จากนั้นจึงนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในรูปแบบการทำงานด้วยระบบเครือข่าย โดยมีกระบวนการในการดำเนินงาน ดังนี้ 1. นำปัญหาในการดูแลทันตสุขภาพของเด็กรายงานเข้าสู่คณะกรรมการบูรณาการระดับตำบล(คบต.) ตำบลสร้อยพร้าว ในแต่ละครั้งจะมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเข้าร่วมประชุม 2. ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานทันตสาธารณสุขตำบลสร้อยพร้าว โดยการคัดเลือกจากตัวแทนเครือข่ายจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้บริหารจาก อปท. ตัวแทนจากส่วนการศึกษา ตัวแทนจากหน่วยบริการสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง อสม. ตัวแทนผู้ปกครอง คณะกรรมการศูนย์ฯ เป็นต้น 3. จัดทำแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาทันตสาธารณสุขในพื้นที่ ในระยะ 3 ปี (2556 - 2558) และโครงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทันตสุขภาพ เพื่อเสนอของบประมาณ จาก กองทุนหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ 4. เสนอแผนงาน/โครงการ เข้าในที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพพื้นที่ตำบลสร้อยพร้าว เพื่อขอรับการสนับสนุนงานประมาณตามแผนงานที่ได้วางไว้ 5. เมื่อได้รับสนับสนุนงบประมาณแล้ว จึงดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการฯ และคณะกรรมการพัฒนาศูนย์ฯ ตามแผนการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ตำบลสร้อยพร้าว เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานด้านการดูแลทันตสุขภาพของเด็กก่อนวัยเรียน โดยเน้นการพัฒนาสุขภาพช่องปาก และการแก้ปัญหาด้านพฤติกรรมสุขภาพของเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 6. จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการเลี้ยงดู และส่งเสริมการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็กก่อนวัยเรียนให้แก่ ผู้ปกครอง/ผู้ดูแลเด็ก คณะกรรมการฯ และเครือข่ายที่ร่วมพัฒนางานทันตสาธารณสุข รวมถึงการปรับเปลี่ยนแนวคิดเพื่อพัฒนาพฤติกรรมทันตสุขภาพและพฤติกรรมการเลี้ยงดู ได้แก่ - การจัดเวทีประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ปกครอง ร่วมกับการประชุมผู้ปกครองประจำภาคการศึกษา เพื่อเป็นการพัฒนาความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็กปฐมวัย - การประชุมคณะกรรมการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในแต่ละแห่งประจำปี เพื่อสรุปผลการดำเนินงาน วางแผนการแก้ไขปัญหา รวมถึงพัฒนามาตรการเพื่อลดปัญหาทันตสาธารณสุขของเด็กปฐมวัย การประชุมคณะกรรมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทันตสาธารณสุขในเด็กปฐมวัยตำบลสร้อยพร้าว เพื่อทบทวนวิธีการดำเนินงาน รวมถึงปรับปรุงแผนงาน โครงการและมาตรการ เพื่อลดปัญหาทันตสาธารณสุขของเด็กปฐมวัยในตำบล 7. การประเมินผลในระหว่างการดำเนินงาน เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและให้ข้อเสนอแนะ สถานที่ในการศึกษาวิจัย คือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเขตพื้นที่ตำบลสร้อยพร้าว จำนวน 2 แห่ง โดยมีระยะเวลาในการศึกษา ตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2556 ถึง เดือน กันยายน 2557 ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าเฉลี่ยและร้อยลละ ผลการศึกษา จากการศึกษาวิจัย ทำให้เกิดการดำเนินงานแก้ไขปัญหาในรูปแบบภาคีเครือข่าย เกิดมาตรการทางสังคมที่ช่วยลดพฤติกรรมทันตสุขภาพที่ทำให้เกิดปัญหา เช่น กิจกรรมป้องกันปัญหาสุขภาพช่องปาก ได้แก่ เด็กได้รับการตรวจฟันและสุขภาพก่อนเข้าศูนย์ แปรงฟันหลังรับประทานอาหารกลางวัน และได้รับการตรวจฟันหลังการแปรงฟัน คิดเป็นอัตราร้อยละ 100 เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ได้แก่ เด็กไม่นำขวดนม และไม่นำขนมหวานมาศูนย์ คิดเป็นอัตราร้อยละ 100 ลดอัตราโรค ฟันผุในเด็กร้อยละ 21.0 และอัตราการเข้าถึงบริการทันตกรรม ร้อยละ 21.1 สรุปผลการศึกษา จากการศึกษาวิจัย ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในระดับตำบล มีคณะกรรมการ มีแผนงานช่วยแก้ไขปัญหาและส่งเสริมสุขภาพช่องปากในเด็ก ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กมีทักษะที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็ก เด็กปฐมวัยในเขตได้รับการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาทันตสุขภาพที่ได้มาตรฐานและครอบคลุมการบริการด้านสาธารณสุขในทุกมิติสุขภาพ

 


 

ปัจจัยเสี่ยงต่อพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำด้วง ตำบลคำด้วง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นายเขื่อนเพชร บุญค่ำ

รพ.สต.คำด้วง  อำเภอบ้านผือ

ที่มาและความสำคัญ โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดียังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การศึกษาทางระบาดวิทยาและในสัตว์ทดลอง แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ เป็นปัจจัยที่เสี่ยงสำคัญ และสามารถป้องกันได้โดยการงดรับประทานปลาดิบจากแหล่งที่มีการระบาดของโรค  ปัจจุบันมะเร็งท่อน้ำดียังคงเป็นมะเร็งอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตชาวอีสาน จากฐานข้อมูลมะเร็ง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยใหม่มะเร็งตับและท่อน้ำดีที่เข้ารับการตรวจรักษามากกว่า 1,200 รายต่อปี และแนวโน้มยังไม่ลดลง หากไม่มีการป้องกันควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับแล้ว โรคมะเร็งท่อน้ำดีก็จะยังเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตประชากรอีสานต่อไป พยาธิใบไม้ตับ( Opisthorchis viverrini )  เป็นปรสิตที่อาศัยอยู่ในท่อทางเดินน้ำดีและถุงน้ำดีในตับ การติดต่อสู่คนเกิดจากการได้รับพยาธิระยะติดต่อที่อยู่ในปลาน้ำจืดกลุ่มปลาตะเพียน โดยการกินปลาเหล่านี้ดิบหรือสุกๆดิบๆ เมื่อพยาธิเติบโตเป็นตัวเต็มวัยในตับจะออกไข่และปะปนออกมากับอุจจาระและปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ หากประชาชนขับถ่ายอุจจาระนอกห้องน้ำ ประกอบกับพยาธินี้เป็นปรสิตในสัตว์หลายชนิด อาทิเช่น แมว สุนัข ดังนั้นจึงทำให้วงจรการแพร่เชื้อของโรคเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จำนวนประชากรที่คาดว่าจะติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับของประเทศไทย คือ 8 ล้านคน และส่วนมากอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประชาชนนิยมกินปลาดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ จึงพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งที่มีอุบัติการณ์มะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุดในประเทศไทยและในโลกเช่นกัน จากสถิติสาเหตุการตาย 5 อันดับตำบลคำด้วง อันดับที่ 1 คือ การตายด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี คิดเป็น 213.47 ต่อแสนประชากร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำด้วง จึงได้จัดทำโครงการเฝ้าระวังป้องกันโรคมะเร็งท่อน้ำดี ปีงบประมาณ 2557 ขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้ความเข้าใจ เรื่องการเกิดโรคและมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดโรค บุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ ตลอดจนชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เห็นความสำคัญและร่วมมือดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาในชุมชนของตนเองต่อไป วัตถุประสงค์ การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดี ระเบียบวิธีวิจัย รูปแบบการศึกษาในครั้งนี้ใช้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ ประชากรในการศึกษาครั้งนี้เป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยงจากการคัดกรองของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำด้วง ปี 2557 จำนวน 850 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบสัมภาษณ์โดยผู้ศึกษาได้นำแบบสัมภาษณ์พฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดีและมะเร็งตับ 3 อ. 2 ส. จากกองสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ดำเนินการรวบรวมข้อมูลจากอาสาสมัครประจำหมู่บ้านของ รพ.สต.คำด้วงตั้งแต่วันที่ 1 - 30 พฤษภาคม 2557 จนครบจำนวน 850 คนโดยให้ อสม. เป็นผู้สัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปคอมพิวเตอร์ และแปรผลข้อมูล ส่วนที่ 1 แบบสอบถามเป็นข้อมูลลักษณะทางประชากร จำนวน 6 ข้อวิเคราะห์โดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด ส่วนที่ 2 เป็นพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย อารมณ์ สูบบุหรี่ การดื่มสุรา ที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดี จำนวน 15 ข้อ วิเคราะห์โดยใช้ค่า ร้อยละ ลักษณะคำถามเป็นแบบปลายปิด 2 ตัวเลือก คือ ใช่ ได้ 0 และไม่ใช่ ได้ 1 โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนดังนี้ การแปรความหมายคะแนนระดับความเสี่ยงแบ่งเป็น 3 ระดับโดยคิดค่าคะแนนจาก(คะแนนสูงสุด-คะแนนต่ำสุด) (Best.1977:174;Daniel1995:19 อ้างในวรพจน์ พรหมสัตยพรต,2544-149) คะแนนมากกว่าระดับร้อยละ 80.00 ขึ้นไป (12-15คะแนน) หมายถึง เสี่ยงน้อย คะแนนมากกว่าระดับร้อยละ 60.00-19.90 (9-11คะแนน) หมายถึง เสี่ยงปานกลาง คะแนนมากกว่าระดับร้อยละ 60.00 ลงมา (1-8 คะแนน) หมายถึง เสี่ยงมาก สรุปผลการศึกษา พบว่า ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดีเขต รพ.สต.คำด้วง พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 55.29 ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 48-58 ปี ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 66.47 ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 81.06 ส่วนใหญ่มีรายได้ต่อครอบครัวต่อเดือน 6,501-8,500 บาท กลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดีมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคมะเร็งท่อน้ำดีในเรื่องอาหารมากที่สุดคือมีพฤติกรรมกินส้มตำใส่ปลาร้าดิบ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ร้อยละ 95.88 มีพฤติกรรมกินส้มหมูดิบสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ร้อยละ 87.76 รองลงมามีพฤติกรรมกินส้มเนื้อวัวดิบสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ร้อยละ 87.05 และมีพฤติกรรมกินปลาเค็ม ปลาตากแห้งสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ร้อยละ69.15 ด้านพฤติกรรมออกกำลังกายพบว่าไม่เคยออกกำลังกายเลย หรือออกกำลังไม่ถึงวันละ 30 นาที ร้อยละ 78.88 อ.อารมณ์พบว่าเคร่งเครียดกับชีวิตและการงานเป็นประจำ ร้อยละ 63.00 ดื่มสุรา และแอลกอฮอล์พบว่ามีพฤติกรรมดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สัปดาห์ละ1 ครั้ง ร้อยละ 50.00 และสูบบุหรี่ พบว่าสูบบุหรี่ทุกวัน ร้อยละ 41.88

 

การศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนทอง ตำบลโนนทอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นายประชิต  ประทุมชาติ

รพ.สต.บ้านโนนทอง อำเภอบ้านผือ

ที่มาและความสำคัญ : โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศมาร่วม 4 ทศวรรษ มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน จากเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นโรคที่มีความรุนแรงทำให้เด็กป่วยและมีการเสียชีวิตปีละมากๆ และมีการระบาดอยู่ทั่วไป โรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่เกิดกับเด็กวัยก่อนเรียนและวัยเรียน โดยเฉพาะในเด็กประถมศึกษาที่มีอายุตั้งแต่ 4 ถึง 12 ปี ยุงลายอาศัยอยู่ตามบ้านเรือนและบริเวณที่มีน้ำขัง ส่วนมากจะออกหากินในเวลากลางวัน โดยยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกจะออกหากินและกัดเด็กในเวลากลางวัน และวางไข่ในที่มีน้ำขัง เช่น ถังน้ำ โอ่งน้ำ ภาชนะที่ไม่ได้ใช้แล้ว เศษวัสดุเหลือใช้ต่างๆ โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกมีหลายวิธี เช่น การควบคุมป้องกันโรคทางกายภาพ เช่น การทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย ให้เด็กนอนกางมุ้ง การควบคุมป้องกันโรคทางเคมี เช่น การพ่นหมอกควัน การใส่สารกำจัดลูกน้ำยุงลายในการควบคุม การควบคุมและป้องกันโรคทางชีวภาพ เช่น การปล่อยปลากินลูกน้ำ เป็นต้น ในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนทุกคนจะต้องให้ความสำคัญและร่วมมือ จังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกติดต่อกันทุกปี พ.ศ. 2555 พบผู้ป่วยจำนวน 1,750 ราย  คิดเป็นอัตราป่วย 186.19 ต่อแสนประชากร ปี พ.ศ. 2556 พบผู้ป่วยจำนวน 494 ราย อัตราป่วย 52.57 ต่อแสนประชากร และในปี พ.ศ. 2557 พบผู้ป่วย จำนวน 214 ราย คิดเป็นอัตราป่วย  16.18 ต่อแสนประชากร อำเภอบ้านผือ เป็นอีกอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุดรธานีที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2556 พบผู้ป่วย จำนวน 20 ราย อัตราป่วย 16.68 ต่อแสนประชากร, ปี พ.ศ. 2557 พบผู้ป่วย จำนวน 7 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 5.81 ต่อแสนประชากร และจากสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของประชาชนเขตอำเภอบ้านผือ ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา มีบางหมู่บ้านไม่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเลย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนทอง เป็นสถานบริการสาธารณสุขในเขตตำบลโนนทองมีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 7 หมู่บ้าน 1,119 หลังคาเรือน ประชากร 5,412 คน สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลบ้านโนนทอง พบว่า มีอัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในปี 2554 คิดเป็น 35.76 ต่อแสนประชากร ปี 2555 – 2557 ไม่พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกติดต่อกันเป็นเวลาถึง 3 ปี ดังนั้นผู้ทำการศึกษาจึงสนใจที่จะศึกษาถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนทอง เพื่อนำผลการศึกษาไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆต่อไป วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนทอง ตำบลโนนทอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ระเบียบวิธีวิจัย : รูปแบบการศึกษา การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ(Survey Study) โดยการสัมภาษณ์ข้อมูลการมีส่วนร่วมของชุมชนในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนทอง ตำบลโนนทอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 7 หมู่บ้าน ในเดือนมกราคม 2557 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นตัวแทนครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนทอง ตำบลโนนทอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ทั้งหมด 7 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ 1 บ้านคู, หมู่ 2 บ้านดง, หมู่ 3 บ้านโพน, หมู่ 4 บ้านโนนแดง, หมู่ 5 บ้านโนนดู่, หมู่ 6 บ้านโนนทอง, หมู่ 11 บ้านโนนหวาย จำนวน 1,119 หลังคาเรือน กลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาค้นคว้าครั้งนี้เป็นหัวหน้าครัวเรือน หรือจากตัวแทนของครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนทอง ในปี พ.. 2557 จำนวน 168 ครัวเรือน ได้จากการแทนค่าในสูตรของแดเนียล( 2010) สถานที่ หมู่บ้านในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโนนทอง ตำบลโนนทอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ระยะเวลาการเก็บข้อมูล มกราคม 2557 การวิเคราะห์ข้อมูล ในการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 59.40 อายุระหว่าง 42 – 50 ปี ร้อยละ 37.5 สถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 94.5 ระดับการศึกษาสูงสุด จบระดับประถมศึกษา ร้อยละ 69.1 อาชีพหลัก ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 92.1 มีรายได้เฉลี่ย 1,819.20 บาทต่อเดือน ส่วนผลการศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก พบว่า การควบคุมและป้องกันโรคทางกายภาพ ใช้วิธีคว่ำภาชนะที่มีน้ำขังในบริเวณบ้านมากที่สุด ร้อยละ 100 รองลงมาปรับปรุงบริเวณบ้านไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของยุง ร้อยละ 76.40 มีการล้างภาชนะขังน้ำที่ไม่ใช้ประโยชน์และภาชนะบรรจุน้ำที่ไม่มีฝาปิดมิดชิดทุก 1 สัปดาห์ร้อยละ 83.3 และ 86.9 ตามลำดับ ควบคุมลูกน้ำในโอ่งน้ำดื่มโดยการปิดฝาโอ่งให้มิดชิด ร้อยละ 95.2 กำจัดลูกน้ำในยางรถยนต์โดยการใส่น้ำมันเครื่อง ร้อยละ 64.2 การควบคุมและป้องกันโรคทางชีวภาพทั้งหมดใช้วิธีการปล่อยปลากินลูกน้ำ ร้อยละ 100 โดยปลาที่นิยมปล่อยเพื่อกินลูกลูกน้ำคือปลากระดี่ ร้อยละ 52.1 เพราะมีความทนทานและไม่กระโดดออกจากอ่าง โดยแต่ละครัวเรือนส่วนใหญ่จัดหาปลามาเอง ร้อยละ 67.3 การควบคุมและป้องกันโรคทางเคมี ส่วนใหญ่ใส่ทรายอะเบท ร้อยละ 76.4 รองลงมาคือ พ่นหมอกควัน ร้อยละ 64.2 โดยในการรณรงค์ใส่ทรายอะเบทและพ่นหมอกควัน ทุกครัวเรือนจะร่วมกันทำพร้อมกัน คิดเป็นร้อยละ 100 การสำรวจค่าความชุกลูกน้ำยุงลาย ค่า HI 4.76 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด HI < 4.76 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด HI < 10 สรุปผลการศึกษา : สรุปผลการศึกษาครั้งนี้ได้ว่า กลุ่มตัวอย่างมีส่วนร่วมในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยใช้วิธีทางกายภาพและเคมีผสมผสานกัน แต่จะใช้วิธีทางกายภาพและชีวภาพเป็นหลัก เนื่องจากทำได้ง่ายและลงทุนน้อยสามารถป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออกได้ ดังนั้นจึงควรจัดหาสิ่งสนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนดำเนินงานและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวในการกำจัดลูกน้ำยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออกได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

การมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาล้อม อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นายมานิตย์  นิยมเหลา

รพ.สต.บ้านนาล้อม อำเภอบ้านผือ

ที่มาและความสำคัญ ในปัจจุบันการเพิ่มจำนวนประชากร ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการ ตลอดจนพฤติกรรมการบริโภคนิยมของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง พบว่ามีผู้ผลิตจำนวนไม่น้อย มีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ปลอดภัย หรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทำให้ประชาชนผู้บริโภคหลงเชื่อโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีพบว่าปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการสุขภาพถูกร้องเรียนมากที่สุด และมีแนวโน้มของปัญหาการฟ้องร้องกันมากขึ้น และโดยพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาล้อม จำนวน 4 หมู่บ้านนั้นมีร้านชำทั้งหมดจำนวน 18ร้าน พบว่ามีการจำหน่ายเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย มีการจำหน่ายยาปฏิชีวนะหรือยาอันตรายอื่นๆและมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีเลขทะเบียน อย. ร้อยละ100   และนอกจากนี้ยังมีรถเร่โฆษณาขายยาสมุนไพรที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงรักษาได้หลายโรค เข้ามาขายในหมู่บ้าน อย่างน้อยเดือนละครั้ง  จากข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นการดำเนินงานโดยที่ได้มีการเฝ้าระวัง การตรวจสอบ และการดำเนินการตามกฎหมายผ่านกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ หากพบว่ามีการละเมิด ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและเป็นการดำเนินการโดยภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ปัญหายังคงมีอยู่และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะประชาชนผู้บริโภคเองยังขาดความตระหนักและการให้ความร่วมมือหรือมีส่วนร่วมในการดำเนินงานในด้านนี้ ตลอดจนขาดความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์สุขภาพ และทัศนคติที่ดีต่อการดำเนินงาน   จึงได้ทบทวนแนวคิดการมีส่วนร่วมของโคเฮ็น และ อัปฮอฟฟ์ ซึ่งกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนจะต้องประกอบไปด้วย  1)ร่วมค้นหาปัญหาและสาเหตุ 2)ร่วมตัดสินใจและวางแผน 3)ร่วมดำเนินกิจกรรม และ 4)ร่วมติดตามประเมินผล  และศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  จึงสนใจที่จะศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี  เพื่อนำผลการศึกษาไปประยุกต์ใช้และเป็นแนวทางในวางแผนการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาล้อม อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจแบบภาคตัดขวาง (Cross - sectional Survey Research) เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยดำเนินการศึกษาตามขั้นตอนการวิจัย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่างคือ ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั้งชายและหญิง ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาล้อม  4 หมู่บ้าน จำนวน  206 คน ซึ่งได้จากการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ระหว่างวันที่ 18  - 31 มีนาคม 2558 การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สำหรับสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่  ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทัศนคติต่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ กับการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสถิติไคสแควร์ และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการศึกษา 1. ลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ผลการศึกษาพบว่า ประมาณครึ่งเป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 53.9  เพศชาย คิดเป็นร้อยละ 46.1  มีอายุอยู่ระหว่าง  35 – 59 ปี คิดเป็นร้อยละ 68 โดยมีอายุเฉลี่ย   เท่ากับ 47.44 ปี อายุต่ำสุด 18 ปี และอายุสูงสุด 81 ปี ส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรส คิดเป็นร้อยละ 81.6  เกินครึ่งมีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 60.2  เกินครึ่งมีอาชีพเกษตรกรรม  คิดเป็นร้อยละ 62.6  มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 58.3 รองลงมา  คือ 5,001 – 10,000 บาท  คิดเป็นร้อยละ 31.6  โดยมีรายได้เฉลี่ย เท่ากับ 6,208.01 บาท  รายได้ต่ำสุด คือ 0 บาท และรายได้สูงสุดคือ 30,000 บาท  ประมาณครึ่งอาศัยอยู่ในชุมชน มากกว่า 30ปี  คิดเป็นร้อยละ 55.3  โดยมีการอาศัยอยู่ในชุมชนเฉลี่ย เท่ากับ 35.08 ปี ต่ำสุด 1 ปี และสูงสุด 81 ปี 2. ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ พบว่า  กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งมีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพอยู่ในระดับมาก  คิดเป็นร้อยละ 54.9  รองลงมาอยู่ในระดับปานกลาง  คิดเป็นร้อยละ 35  และในระดับน้อย  คิดเป็นร้อยละ 10.2 3. ทัศนคติต่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ พบว่า  กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งมีทัศนคติต่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพอยู่ในระดับปานกลาง  คิดเป็นร้อยละ 49.5  รองลงมาอยู่ในระดับมาก  คิดเป็นร้อยละ 49.0  และอยู่ในระดับน้อย  คิดเป็นร้อยละ 1.5  4. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินว่าครึ่งหนึ่ง มีระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในภาพรวมอยู่ในระดับน้อย  คิดเป็นร้อยละ 64.6  รองลงมาอยู่ในระดับปานกลาง  คิดเป็นร้อยละ 26.2  และอยู่ในระดับมาก  คิดเป็นร้อยละ 9.2   เมื่อพิจารณารายด้านพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านที่อยู่ในระดับน้อย  คือ ด้านการมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผล คิดเป็นร้อยละ 68.9  ด้านการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการวางแผน คิดเป็นร้อยละ 67.0  ด้านการมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหา  คิดเป็นร้อยละ 64.6  และในระดับปานกลาง คือด้านการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม คิดเป็นร้อยละ 43.7  5. ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยวิเคราะห์ด้วยสถิติไคสแคว์ พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ สถานภาพสมรส  ระดับการศึกษา และอาชีพ ไม่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ  ( p – value > 0.05 ) 6. ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพวิเคราะห์ด้วยสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน พบว่าปัจจัยส่วนบุคคล ด้านอายุ ( r = 0.190 )  มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( p – value   0.05 ) 7.ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ วิเคราะห์ด้วยสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน พบว่าความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ( r= 0.305 ) มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value <0.05)


 

การมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชนในการสร้างสุขภาพ รพ.สต.บ้านโนนสะอาด ตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นางสุนันท์  นนท์ขุนทด

รพ.สต.บ้านโนนสะอาด อำเภอบ้านผือ

ที่มาและความสำคัญ ในปัจจุบันจะเห็นว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงหลักของโลก เป็นทั้ง “โอกาสและภัยคุกคาม” ต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลง และเชื่อมโยงกันมากขึ้น มีการปรับระเบียบเศรษฐกิจใหม่ของโลกที่นำไปสู่กติกาการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศใหม่ และแนวโน้มการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีเทคโนโลยีและการใช้ความรู้เป็นฐานการพัฒนา ทำให้ต้องเร่งเตรียมพร้อมทั้งการสร้างระบบ กลไก และพัฒนาคนให้สามารถปรับตัวอย่างรู้เท่าทันได้รวดเร็ว ภายใต้ สถานการณ์และแนวโน้มในอนาคตที่จะมีผลต่อการพัฒนาประเทศ ดังกล่าวการสร้างเสริมสุขภาพครั้งแรกในปี 1986  ที่ออตตาวาได้สะท้อนแนวคิดการสาธารณสุขแนวใหม่ และให้คำนิยามของการสร้างสุขภาพว่า "เป็นกระบวนการส่งเสริมให้ประชาชนเพิ่มสมรรถนะในการควบคุมและพัฒนาสุขภาพของตนเอง โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญ 5 ประการ คือ การสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง การสร้างทักษะชีวิต และการปรับระบบบริการให้เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ" ทั้งนี้จะต้องมีเงื่อนไขพื้นฐานของการมีสุขภาพดีการมีสุขภาพแข็งแรง (Health) ในความหมายขององค์การอนามัยโลก ครอบคลุมถึงความแข็งแรงของสุขภาพในมิติต่าง ๆ ทั้งทางด้านร่างกาย (Physical Health) จิตใจ (Mental Health) สังคม(Social Health) และปัญญา/จิตวิญญาณ (Spiritual Health) สำหรับประเทศไทย รัฐบาลไทยผลักดันนโยบายและการดำเนินงานต่าง ๆ ตามกฎบัตรออตตาวา (Ottawa Charter) จนประสบความสำเร็จและมีความคืบหน้าไปมาก กล่าวคือ 1. ด้านนโยบายสาธารณสุขเพื่อสุขภาพ(Healthy Public Policy) 2. ด้านการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ(Healthy Environment) 3. ด้านการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน(Community Strengthening) 4. ด้านการส่งเสริมพัฒนาทักษะส่วนบุคคล(Personal Skill Development) 5. ด้านการปรับเปลี่ยนระบบบริการสาธารณสุข(Health Service System Reorientation) จากประเด็นปัญหาที่กล่าวมาเบื้องต้น ผู้ศึกษามีความสนใจที่จะศึกษาเรื่องการมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพของผู้นำชุมชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบของรพ.สต.บ้านโนนสะอาด ตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารงานสาธารณสุขและวางแผนงานการสร้างสุขภาพภาคประชาชน วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพของผู้นำชุมชน ของ รพ.สต.บ้านโนนสะอาด ตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ระเบียบวิธีวิจัย การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ(Survey Study) เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพของผู้นำชุมชน 5 ด้าน คือ ลักษณะทางประชากร การเรียนรู้ การพัฒนา การปฏิบัติของผู้นำชุมชน ในเขตรับผิดชอบของ รพ.สต.โนนสะอาด ตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี โดยมีขอบเขตดังนี้ 1. ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ นายกอบต., รองนายกอบต., ประธานสภา เลขาฯอบต., สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล, ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน, ประธานอสม., รองประธานอสม. ในเขตรับผิดชอบ รพ.สต.โนนสะอาด ตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 83 คน 2. ขอบเขตพื้นที่การศึกษา หมู่บ้านในเขตรับผิดชอบ รพ.สต.โนนสะอาด ตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี 3. ขอบเขตระยะเวลาการเก็บข้อมูล วันที่ 20 ธันวาคม 2556 31 มกราคม 2557 ผลการศึกษา พบว่า ข้อมูลลักษณะทางประชากรที่ศึกษา ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 89.16 อายุระหว่าง 50-59 ปี ร้อยละ 49.40 สถานภาพสมรส คู่ร้อยละ 100 การศึกษาส่วนใหญ่ระดับประถมศึกษาร้อยละ 67.47 ส่วนใหญ่มีอาชีพ เกษตรกรรม ร้อยละ 92.77 ส่วนใหญ่มีรายได้ของครอบครัวต่อเดือน 4,501-6,500 บาท ร้อยละ 48.19 ส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ร้อยละ 26.51 ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 1-4 ปี ร้อยละ 49.40 การเรียนรู้ชุมชนของผู้นำชุมชนในการสร้างสุขภาพมีความรู้มากที่สุด คือ เรื่องปัจจุบันประชาชนหมู่บ้านของท่านเคยมีปัญหาด้านสุขภาพ ร้อยละ 96.39 รองลงมาเรื่องหมู่บ้านของท่านมีประวัติความเป็นมาของงานสร้างสุขภาพในหมู่บ้าน ร้อยละ 93.98 และเรื่องการเข้าร่วมในการทำแผนงานสร้าง สุขภาพในปีที่ผ่านมา ร้อยละ 84.34 และมีความรู้น้อยที่สุดในเรื่องในปัจจุบันหมู่บ้านของท่านมีการร้องเรียนปัญหาในเรื่องสุขภาพของท่านร้อยละ 28.91 และรองลงมาเรื่อง สิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านของท่านมีปัญหาต่อสุขภาพร้อยละ30.12 และเรื่อง ที่ผ่านมาหมู่บ้านของท่านเคยมีหน่วยงานต่าง ๆมาสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินงานด้านการสร้างสุขภาพร้อยละ 46.99 ผู้นำชุมชนมีแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านของชุมชนในการสร้างสุขภาพมากที่สุดในเรื่องหมู่บ้านมีการนำหลักการ เศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนางานสุขภาพ ร้อยละ89.16 รองลงเรื่องมีส่วนร่วมประสานงาน การดำเนินงานสร้างสุขภาพในชุมชนร้อยละ86.75และเรื่อง แนวทางการพัฒนางานสร้างสุขภาพตามความหมายของคำว่า สร้าง นำซ่อม ร้อยละ 81.93 การพัฒนาของชุมชนของผู้นำชุมชนที่อยู่ในระดับน้อยที่สุดในเรื่องชุมชนมีการจัดทำแผนเพื่อกำหนดกรอบอัตรากำลังเจ้าหน้าร้อยละที่ในการปฏิบัติงานด้านสร้างเสริมสุขภาพร้อยละ 34.94 และรองลงมาเรื่อง มีการรณรงค์การออกกำลังกายในหมู่บ้านร้อยละ39.76และในหมูบ้านของท่านมีการส่งกิจกรรมด้านสุขภาพเข้าประกวดร้อยละ 50.60 มีแนวทางการปฏิบัติในการสร้างสุขภาพอยู่ในระดับมากที่สุดในเรื่องชุมชนมีการดำเนินงานในการรับรู้แหล่งข้อมูลข่าวสารด้านการสร้างสุขภาพ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานร้อยละ 86.75รองลงมาเรื่องหน่วยงานภาครัฐเคยมีงบประมาณสนับสนุนในการสร้างสุขภาพในหมู่บ้าน ร้อยละ84.34 และท่านเคยร่วม/ชักชวนชาวบ้านในการรณรงค์ออกกำลังกายร้อยละ 81.93และผู้นำชุมชนมีแนวทางการปฏิบัติงานในการสร้างสุขภาพน้อยที่สุดในเรื่อง เคยบริจาควัสดุอุปกรณ์และสิ่งของหรือทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมงานสร้างสุขภาพในชุมชน ร้อยละ 39.76 รองลงมาเรื่องเคยหาสาเหตุ ของการพัฒนาไม่ต่อเนื่องของกลุ่มหรือชมรมสร้างสุขภาพ ในชุมชน ร้อยละ 44.59 และชุมชนของท่านเคยจัดอัตราบุคลากรไว้สำหรับดำเนินงานในด้านการสร้างสุขภาพหรือไม่ร้อยละ 44.59 สรุปผลการศึกษา 1. ด้านการเรียนรู้ชุมชนของผู้นำชุมชนในการสร้างสุขภาพ จากการศึกษาพบว่า ประชากรที่ศึกษาส่วนใหญ่มีการเรียนรู้ชุมชนในระดับไม่ดี 2. การพัฒนาของผู้นำชุมชนในการสร้างสุขภาพ จากการศึกษาพบว่า ประชากรที่ศึกษาส่วนใหญ่มีการพัฒนาอยู่ในระดับไม่ดี 3. การปฏิบัติของผู้นำชุมชนในการสร้างสุขภาพ จากการศึกษาพบว่า ประชากรที่ศึกษาส่วนใหญ่มีการปฏิบัติอยู่ในระดับไม่ดี


 


Page 5 of 26
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday21
mod_vvisit_counterYesterday23
mod_vvisit_counterThis week21
mod_vvisit_counterLast week368
mod_vvisit_counterThis month369
mod_vvisit_counterLast month311
mod_vvisit_counterAll days249120

We have: 2 guests online
Your IP: : 3.16.147.124
Mozilla 5.0, 
Today: May 05, 2024

Polls

Who's Online

We have 2 guests online

Advertisement

Featured Links:
Joomla! Extensions
Joomla! Components, Modules, Plugins and Languages by the bucket load.

Popular