Research of Udonthani Provincial Health Office.

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size

“ป้อนสายใยรัก”

E-mail Print PDF

นายธีระยุทธ  แก่นท้าว

รพ.สต.บ้านเทื่อม อำเภอบ้านผือ

ที่มาและความสำคัญ โรคขาดสารไอโอดีน หมายถึง ภาวะร่างกายได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายเป็นประจำ ซึ่งมีผลต่อการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนทำให้เกิดการเสียสมดุลในการควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่เรียกว่า ความผิดปกติของการขาดสารไอโอดีน คือเกิดอาการคอพอก, ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ, โรคเอ๋อ ซึ่งทำให้ระดับสติปัญญาพัฒนาด้อยกว่าปกติ และมีพัฒนาการทางร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ ถ้ามีการขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ จะมีผลทำให้ทารกแรกเกิดมีพัฒนาการของสมอง และระบบประสาทที่ช้ากว่าเป็นเพราะมีความผิดปกติของต่อมฮอร์โมนและการขาดสารไอโอดีนของมารดาในระยะตั้งครรภ์ ซึ่งภาวะผิดปกตินี้เด็กทารกได้รับการรักษา ก่อนอายุ 3 เดือนเด็กจะมีสติปัญญาปกติ หากได้รับการรักษาช้ากว่านั้น ร้อยละ 80 ของเด็กจะปัญญาอ่อน มีความพิการทางระบบประสาท และหากขาดสารไอโอดีนในระดับรุนแรง อาจทำให้แท้งหรือตายก่อนคลอด จากข้อมูลอำเภอบ้านผือ ปี 2556 ภาวะขาดสารไอโอดีนในเด็กแรกเกิดระดับ TSH เฉลี่ยร้อยละ 15.2 และจากการดำเนินงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเทื่อม ในปี 2556 พบเด็กแรกเกิดที่มีภาวะขาดสารไอโอดีน เฉลี่ยร้อยละ 18.6 ซึ่งทำให้ปัญหาสำคัญในพื้นที่ ดังนั้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเทื่อมได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้มีการจัดทำนวัตกรรม “ป้อนสายใยรัก” เพื่อเป็นการลดปัญหาการได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอในหญิงตั้งครรภ์และยังส่งเสริมให้ครอบครัวได้มีส่วนร่วมในการดูแลลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์เชื่อมสายสัมพันธ์ความรักความผูกพัน วัตถุประสงค์ เพื่อให้ครอบครัวโดยเฉพาะสามีได้มีส่วนร่วมในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ (ภรรยา) และลูกที่อยู่ในครรภ์ให้ได้รับสารไอโอดีนที่เพียงพอต่อร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ วิธีดำเนินการ 1. อบรมให้ความรู้หญิงตั้งครรภ์ และ สามี ให้ทราบถึงปัญหาของโรคขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ 2. จัดทำแบบฟอร์มบันทึกการรับประทานยาเสริมไอโอดีนของหญิงตั้งครรภ์ 3. ให้สามีหรือญาติเป็นคนป้อนยาหรือเอายาเสริมไอโอดีน ให้หญิงตั้งครรภ์ทานด้วยมือของตนเอง แล้วลง บันทึกลงในแบบฟอร์มบันทึก 4. ให้บันทึกตลอดช่วงการฝากครรภ์จนคลอด กลุ่มเป้าหมาย : หญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการที่ รพ.สต.บ้านเทื่อม ระยะเวลาดำเนินการ : 1 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2557 วิธีการใช้ นวัตกรรม สามีหรือญาติ เป็นคนลงบันทึกการรับประทานยาในแบบฟอร์มทุกวันตลอดในช่วงการฝากครรภ์จนคลอด ผลการใช้นวัตกรรมจากการดำเนินงานเดือนตุลาคม 2556 – กันยายน 2557 มีหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด 60 คน ที่เข้าร่วมโครงการที่มาฝากครรภ์ภายในตั้งแต่ 12 สัปดาห์ทั้งหมด 60 คน คลอดทั้งหมด 7 คน ผลการตรวจส้นเท้าทารก TSH < 11.25 พบว่าปกติ 6 คน และพบผิดปกติ 1 คน เป็นมารดาอายุ 19 ปี HCT = 32.8 % ฝากท้อง 14 สัปดาห์ เนื่องจากไปทำงานที่ต่างจังหวัด ผลตรวจส้นเท้าทารก TSH =16.70 ผลเลือดมารดา HCT = 32.8 %

 

ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการฝากครรภ์ครบตามเกณฑ์ 5 ครั้งคุณภาพของหญิงตั้งครรภ์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

างสาวสุพัตรา  สิงห์ไธสง และนางสาวตรีณันท์     แห้วโสม

รพ.สต.เมืองพาน อำเภอบ้านผือ

ที่มาและความสำคัญ เนื่องด้วยกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ให้ได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพที่มีมาตรฐานอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี มีทักษะในการดูแลตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม ป้องกันและลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในระยะตั้งครรภ์และคลอด การฝากครรภ์เป็นหนึ่งในบริการอนามัยแม่และเด็ก โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้หญิงตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์ตามเกณฑ์ 5 ครั้งคุณภาพ ร้อยละ 70 จากสถิติของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองพาน พบว่า หญิงตั้งครรภ์ทั้งหมดในปีงบประมาณ 2556 ที่มาฝากครรภ์ในรพ.สต.เมืองพาน จำนวน 52 คน ที่ได้รับการฝากครรภ์ครบตามเกณฑ์ 5 ครั้งคุณภาพมีจำนวน 26 คน คิดเป็นร้อยละ 50.00 ซึ่งยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขที่วางไว้ จะเห็นได้ว่าปัญหาการฝากครรภ์ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่ยังต้องได้รับการปรับปรุงส่งเสริมให้ดีขึ้น ดังนั้น การศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการฝากครรภ์ครบตามเกณฑ์ 5 ครั้ง คุณภาพของหญิงตั้งครรภ์ ในเขตพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองพาน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผู้ศึกษาคาดว่าผลการศึกษาที่ได้จะสามารถนำไปวางแผนแก้ไขปัญหาตามสาเหตุ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ให้ได้รับการฝากครรภ์ครบตามเกณฑ์เพื่อเป็นการพัฒนาสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ให้บรรลุเป้าหมาย วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการฝากครรภ์ครบ 5 ครั้งตามเกณฑ์ และของหญิงตั้งครรภ์โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองพาน ระเบียบวิธีวิจัย ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง : หญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ทั้งหมดในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 52 คน รูปแบบการวิจัย : การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยพรรณนา(Descriptive statistic) เพื่อวิเคราะห์หาปัจจัยของการที่หญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ครบ 5 ครั้งตามเกณฑ์ ในเขตพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี สถานที่ : พื้นที่เขตรับผิดชอบ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองพาน การเก็บรวบรวมข้อมูล : ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2555 – 30 ก.ย. 2556 สถิติและการวิเคราะห์ข้อมูล : สถิติพรรณนา (Descriptive statistic) ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สำหรับอธิบายข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง สถิติวิเคราะห์ (Analytical statistic) ใช้การทดสอบไคสแควร์ (Chi-square test) ผลการศึกษา หญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ครบ 5 ครั้งคุณภาพส่วนใหญ่ อายุ 20 - 34 ปี คิดเป็นร้อยละ 65.38 สถานภาพการอยู่ร่วมกัน ร้อยละ 96.15 ไม่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 96.15 การศึกษาระดับมัธยมศึกษา ร้อยละ 53.84 อาชีพรับจ้าง ร้อยละ 26.92 รายได้ต่อเดือน 5,000-10,000 บาท ร้อยละ 42.31 เชื้อชาติไทย ร้อยละ 100.00 และสวัสดิการเป็นสิทธิบัตรทอง ร้อยละ 69.23 ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ไม่ครบ 5 ครั้งคุณภาพ ส่วนใหญ่ อายุ 20-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 65.38 สถานภาพการอยู่ร่วมกัน ร้อยละ 88.46 ไม่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 88.46 การศึกษาระดับมัธยมศึกษา ร้อยละ 69.23 อาชีพรับจ้าง ร้อยละ 42.31 รายได้ต่อเดือน 5,000-10,000บาท ร้อยละ 46.15 เชื้อชาติลาว ร้อยละ 96.15 และสวัสดิการเป็นสิทธิบัตรทอง ร้อยละ 61.54 พบว่าเชื้อชาติของหญิงตั้งครรภ์มีผลต่อการมาฝากครรภ์ 5 ครั้งคุณภาพสำหรับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการฝากครรภ์ครบตามเกณฑ์ 5 ครั้งคุณภาพของหญิงตั้งครรภ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) ได้แก่ความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์

 

การศึกษาความรู้ ทัศนคติ ที่มีต่อพฤติกรรมการตรวจมะเร็งปากมดลูกของสตรี อายุ 30 – 60 ปี ในพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านธาตุ ตำบลหายโศก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นางสาวนิภาภรณ์ สอนโพธิ์ นายพิเชษฐ์ พรหมทะสาร นางสาวพิมลรัตน์ แพงโสม และนายสุพจน์ โคคา

รพ.สต.บ้านธาตุ  อำเภอบ้านผือ

ที่มาและความสำคัญ มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา พบในสตรีตั้งแต่วัยสาวจนถึงวัยชรา พบมากในช่วงอายุ 30 – 50 ปี ในแต่ละปีผู้หญิงทั่วโลกป่วยด้วยมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นปีละ 500,000 คน เสียชีวิตปีละ 200,000 คน ซึ่งประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกทั้งหมดเป็นประเทศกำลังพัฒนา สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับหนึ่ง และมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดคือ มะเร็งปากมดลูก จากรายงานสถานการณ์การป่วยรายใหม่จากมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ. 2552 พบว่าพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง มีอัตราการป่วยรายใหม่ ประมาณ 1,400 ราย ต่อปี โดยจะเห็นได้ว่าอัตราการป่วยจากโรคมะเร็งปากมดลูกมีแนวโน้มลดลงจากเดิมเพียงเล็กน้อย โดยในแต่ละปีนั้นมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ประมาณ 10,000 คน หรือ คิดเฉลี่ยเป็นวันละประมาณ 27 คน (ศูนย์อนามัยที่ 5,2555) จากรายงานสถานการณ์การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยกรมอนามัยการทรวงสาธารณสุขความครอบคลุมการคัดกรองในกลุ่มอายุ 30 – 60 ปี พ.ศ. 2547 – 2545 อยู่ที่ร้อยละ 48.5 – 60.2 จะเห็นได้ว่ามีความครอบคลุมอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก ทางกระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นความสำคัญ ได้มีนโยบายและจัดการรณรงค์ในการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ จังหวัดอุดรธานี พบอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ 4 ของประเทศ นโยบายของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ได้กำหนดให้สตรีกลุ่มเป้าหมายได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อย ร้อยละ 80 และจากข้อมูลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการทำ Pap Smear ในสตรีกลุ่มเป้าหมาย   ในปี 2548 - 2550 ของจังหวัดอุดรธานี พบว่า มีผู้มารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เท่ากับ 84.8, 82.7 และ 63.7 ตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มลดลง และต่ำกว่าเป้าหมายที่จังหวัดกำหนดไว้  ทำให้สตรีส่วนใหญ่ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากไม่ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การที่สตรีส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญหรือไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกนั้นน่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน เช่น ด้านความรู้ ทัศนคติ ความเชื่อ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาความรู้ ทัศนคติที่มีผลต่อพฤติกรรมการตรวจมะเร็งปากมดลูกของสตรีอายุ 30 – 60 ปี ในพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านธาตุ ตำบลหายโศก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้มาใช้ในการวางแผนการดำเนินงานคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาลักษณะทางประชากร ได้แก่ อายุ สถานะภาพ การศึกษา อาชีพ รายได้ ประวัติการตั้งครรภ์ จำนวนบุตร ประวัติการคุมกำเนิด ประวัติการเป็นมะเร็งของคนในครอบครัว ประวัติการตรวจมะเร็ง และการได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่องมะเร็งปากมดลูกของสตรี อายุ 30 – 60 ปี 2) เพื่อศึกษาระดับความรู้เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูกของสตรีอายุ 30 – 60 ปี 3) เพื่อศึกษาทัศนคติต่อโรคมะเร็งปากมดลูกของสตรีอายุ 30 – 60 ปี ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา เพื่อศึกษาความรู้ ทัศนคติ ที่มีผลต่อพฤติกรรมการตรวจมะเร็งปากมดลูกของสตรี อายุ 30 – 60 ปี ในพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านธาตุ ตำบลหายโศก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ สตรีอายุ 30 – 60 ปี ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่ 2, 4, 8, 9, 11, 13และ 14 ตำบลหายโศก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 921 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นสตรีอายุ 30 – 60 ปี ที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านธาตุ มีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่ 2, 4, 8, 9, 11, 13 และ 14 ตำบลหายโศก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี โดยใช้สูตรในกรณีที่ทราบจำนวนประชากร (Daniel. 1995) จำนวน 162 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็น แบบสัมภาษณ์ ประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ได้แก่ อายุ สถานภาพการสมรส การศึกษา อาชีพ รายได้ ประวัติการตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด การรับรู้ข่าวสาร การตรวจมะเร็งปากมดลูก สาเหตุการไปตรวจมะเร็งปากมดลูก ส่วนที่ 2 แบบสอบถามความรู้เรื่องโรคมะเร็ง จำนวน 13 ข้อ โดยผู้ตอบสามารถเลือกตอบได้ 1 ข้อ คำตอบที่ถูกจะได้ 1 คะแนน คำตอบที่ผิดจะได้ 0 คะแนน คะแนนความรู้เป็นคะแนนรวมมีค่าต่ำสุดเท่ากับ 0 คะแนนและมีค่าสูงสุด 13 คะแนน ผู้วิจัยได้กำหนดระดับความรู้ของกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้เกณฑ์ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในการแบ่งระดับของคะแนนความรู้ออกเป็นดังนี้ มากกว่า x + SD หรือ ได้คะแนนร้อยละ 80 ขึ้นไป (11 - 13 ข้อ) มีความรู้ระดับดี อยู่ระหว่าง x ± SD หรือ ได้คะแนนร้อยละ 60–79.9 (7 - 10 ข้อ) มีความรู้ระดับปานกลาง น้อยกว่า x – SD หรือ ได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 60 (1 - 6 ข้อ) มีความรู้ระดับต่ำส่วนที่ 3 ทัศนคติต่อโรคมะเร็งปากมดลูก ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ ด้านการเกิดโรค ด้านการป้องกันโรค และด้านการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก จำนวน 14 ข้อ เป็นคำถามเชิงบวก 8 ข้อ คำถามเชิงลบ 6 ข้อ ลักษณะคำตอบเป็นการประเมินค่าความคิดเห็นแบ่งเป็น 3 ระดับ คือเห็นด้วย ไม่แน่ใจ และไม่เห็นด้วย โดยใช้เกณฑ์การประเมินผล มีค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 1.00 – 3.00 โดยคะแนนเฉลี่ย 2.34 – 3.00 อยู่ในระดับดี 1.67 – 2.33 อยู่ในระดับปานกลาง 1.00 – 1.66 อยู่ในระดับไม่ดี หาค่าความเชื่อมั่นโดยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของ Cronbrach (Cronbrach’s alpha Coefficient) ได้เท่ากับ 0.73 ระยะเวลาการเก็บข้อมูล ตุลาคม 2556 – มีนาคม 2557 การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และวิเคราะห์ข้อมูลหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร โดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ไคว์สแควร์ ผลการศึกษา ส่วนที่ 1 ด้านข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม จากการศึกษา พบว่าสตรีกลุ่มเป้าหมายอายุ 30 – 60 ปี จำนวน 162 คน ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 48 – 53 ปี ร้อยละ 30.2 อายุน้อยสุด 30 ปี และอายุมากที่สุด 60 ปี สถานภาพแต่งงานและยังอยู่ด้วยกัน ร้อยละ 90.1 มีเพียง ร้อยละ 5.6 ที่เป็นหม้าย การศึกษาระดับประถมศึกษามากที่สุด ร้อยละ 66.7 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 71.6 อาชีพรับราชการ/รัฐวิสาหกิจน้อยที่สุดเพียง ร้อยละ 1.2 ส่วนใหญ่มีรายได้ 10,001 – 15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 45.1 รองลงมาคือ 15,001 – 200,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 28.4 และมีรายได้ มากกว่า 25,000 บาทต่อเดือน น้อยที่สุด ร้อยละ 4.3 ประวัติการตั้งครรภ์ เคยตั้งครรภ์ ร้อยละ 99.4 คลอดปกติ จำนวน 2 ครั้ง ร้อยละ 54.3การแท้ง ไม่เคยแท้ง ร้อยละ 88.3 เคยแท้ง 1 ครั้ง ร้อยละ 8.0 ไม่เคยคลอดโดยใช้เครื่องมือ ร้อยละ 97.5 คลอดโดยใช้เครื่องมือ ร้อยละ 2.5 คลอดโดยการผ่า 1 ครั้ง ร้อยละ 1.9 และ2 ครั้ง ร้อยละ 1.9 จำนวนบุตรมีชีวิตมากที่สุด 2 คน ร้อยละ 59.9 กลุ่มเป้าหมายมีประวัติเคยคุมกำเนิด ร้อยละ 96.9 การคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือการทำหมัน ร้อยละ59.9 และบุคคลในครอบครัวไม่มีประวัติเป็นมะเร็งปากมดลูก ร้อยละ 99.4 ด้านการได้รับข้อมูลข่าวสารจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มากที่สุด ร้อยละ 96.3 และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.4 ไม่เคยรับการตรวจมะเร็งปากมดลูก และมีร้อยละ 79.6 ที่เคยรับการตรวจมะเร็งปากมดลูก โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างไม่ไปรับการตรวจมะเร็งปากมดลูก คือ ไม่มีอาการผิดปกติ ร้อยละ 90.9 ในกลุ่มตัวอย่างที่เคยรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่จะไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมากที่สุด ร้อยละ 74.4 สาเหตุที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างไปรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกมากที่สุดคือ กลัวเป็นมะเร็งปากมดลูกจึงไปตรวจ ร้อยละ 80.6 ครั้งสุดท้ายที่ไปรับการตรวจผ่านมาแล้ว 1 ปี มากที่สุด ร้อยละ 63.6 รองลงมาคือ ไปรับการตรวจผ่าน 2 ปี ร้อยละ 27.9 ผลการวิเคราะห์ร้อยละของคำตอบที่ถูกต้องในเรื่องความรู้เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูกของกลุ่มตัวอย่าง รายข้อ พบว่า ข้อที่กลุ่มตัวอย่างตอบถูกมกที่สุด คือ ข้อ 5 “ตรวจแป็ปสเมียร์สามรถค้นพบมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกได้” ตอบถูกร้อยละ 94.4 รองลงมาคือข้อ 11 “ก่อนไปตรวจมะเร็งปากมดลูกควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 24 ชั่วโมง” ตอบถูกร้อยละ 89.5 ส่วนข้อที่ตอบถูกน้อยที่สุดคือ ข้อ 7 “ควรสวนล้างช่องคลอดก่อนไปตรวจมะเร็งปากมดลูก” ตอบถูกร้อยละ 49.4 รองลงมาคือข้อ 13 “ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดเป็นประจำจะไม่เป็นมะเร็งปากมดลูก” ตอบถูกร้อยละ 53.7 จำนวนและร้อยละของกลุ่มตัวอย่างจำแนกตามระดับความรู้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องมะเร็งปากมดลูกในระดับปานกลาง ร้อยละ 69.14 ด้านทัศนคติต่อการตรวจมะเร็งปากมดลูก พบว่าคะแนนเฉลี่ยด้านการเกิดมะเร็งปากมดลูก ข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด (x= 2.56) คือ ข้อ 2 การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยและเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆเป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งปากมดลูก ข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำ (x = 1.98) คือข้อ 1 ผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งปกมดลูก ด้านการป้องกันมะเร็งปากมดลูก พบว่า ข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด (x = 2.86) ข้อ 8 สถานีอนามัยสามารถให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ ส่วนข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด (x = 1.56) ข้อ9 ควรสวนล้างช่องคลอดก่อนไปรับการตรวจมะเร็งปากมดลูก ด้านการรักษามะเร็งปากมดลูก ข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด (x = 2.56) คอข้อ 13 ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่อยู่ระหว่างการรักษา หลังการรักษาควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด (x = 2.62) คือข้อ 10 มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สามารถรักษาได้โดยการกินยาแก้อักเสบ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการแปลผลคะแนนทัศนคติ จำแนกรายด้าน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีทัศนคติอยู่ระดับดีทั้ง3 ด้าน คะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือด้านการรักษา (x = 2.69) รองลงมา คือ ด้านการป้องกันมะเร็งปากมดลูก (x = 2.49) และน้อยที่สุด (x = 2.4) คือการเกิดมะเร็งปากมดลูก จำนวนและร้อยละของกลุ่มตัวอย่างจำแนกตามระดับความรู้ รายด้าน พบว่า ด้านการเกิดมะเร็งปากมดลูกกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีทัศนคติในระดับปานกลางมากที่สุด ร้อยละ 53.09 ด้านการป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีทัศนคติในระดับกลางมากที่สุด ร้อยละ 63.58 และด้านการรักษามะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่มีทัศนคติในระดับดีมากที่สุด ร้อยละ 80.87 อภิปรายผลการวิจัย จากการศึกษาความรู้ ทัศนคติ ต่อพฤติกรรมการตรวจมะเร็งปากมดลูก ของสตรีอายุ 30 – 60 ปี ในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านธาตุ ตำบลหายโศก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ในปีงบประมาณ 2557 ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นสตรีที่แต่งงานและมีบุตรแล้ว มีการคุมกำเนิดด้วยการทำหมันมากที่สุด ร้อยละ 59.9 ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ อัญชลี ปลาทอง (2553:37) ที่พบว่าสตรีกลุ่มเป้าหมายที่มารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกคุมกำเนิดด้วยการทำหมัน ร้อยละ 66.9 และส่วนใหญ่ไม่มีญาติป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยสาเหตุที่กลุ่มตัวอย่างไม่ไปรับการตรวจมะเร็งปากมดลูก คือ ไม่มีอาการผิดปกติ ร้อยละ 90.9  ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ วารุณี สุดแสวง (2551:64) ที่พบว่าร้อยละ 70.00 ที่ไม่ไปตรวจเพราะไม่มีอาการผิดปกติใดๆสาเหตุที่ไปตรวจเพราะกลัวเป็นมะเร็งปากมดลูกจึงไปตรวจ ร้อยละ 80.6 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ วารุณี สุดแสง(2551:64) ที่พบว่า ร้อยละ 61.67 ที่ไปตรวจกลัวเป็นมะเร็งปากมดลูก แต่ขัดแย้งกับผลการศึกษาของ ธีระ ศิริสมุดและคณะ (2552:67) ที่ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศที่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างให้เหตุผลว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่อนามัย/โรงพยาบาลแนะนำให้ไปคัดกรอง ร้อยละ 50 รองลงมาร้อยละ 38 ให้เหตุผลว่าต้องการตรวจสุขภาพของตนเอง ตระหนัก และสนใจตรวจ การศึกษาด้านความรู้พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความรู้เรื่องมะเร็งปากมดลูกในระดับกลาง จำนวนร้อยละ 69.14 โดยกลุ่มตัวอย่าง ข้อตอบถูกมากที่สุด คือ การตรวจแป็ปสเมียร์สามารถค้นพบมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกได้ ร้อยละ 94.4 ซึ่งสอดคล้องกันการศึกษาของ เจษฎา ศรีงาน(2547:75) ที่พบว่า ร้อยละ 93.20 ของกลุ่มตัวอย่างมีความรู้เรื่องการตรวจมะเร็งปากมดลูกสามารถค้นพบมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกได้ ด้านทัศนคติด้านการเกิดโรคมีทัศนคติในระดับปานกลาง ส่วนด้านการป้องกันและการรักษามะเร็งปากมดลูกอยู่ในระดับดี

 

กการศึกษาระดับความรู้และการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มารับบริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกาลึม ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นายสุรัตน์ กัณหา นางสาวนิตยา แสนอุบล  และนางสาวจิราพร พิมพ์จันทร์

รพ.สต.หนองหัวคู อำเภอบ้านผือ

ที่มาและความสำคัญ โรคเบาหวานเป็นโรคเจ็บป่วยเรื้อรังผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลรักษา และการได้รับความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเอง(self-management) อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะหรือโรคเบาหวานที่สำคัญคือ น้ำหนักเกินและอ้วน และวิถีชีวิตนั่งๆนอนๆ (สำนักโรคไม่ติดต่อ. 2547:10-11) สาเหตุเนื่องจากภาวะเบาหวานได้เปลี่ยนแปลงสถานภาพจากโรคที่รักษาแต่ละคนกลายเป็นโรคระบาด ซึ่งต้องได้รับการดูแลระดับชาติ เพราะมีการศึกษาพบว่า โรคเบาหวานกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย ซึ่งจะเพิ่มจาก 81 ล้านคน เป็น 156 ล้านคน จากปี ค.ศ. 2003 ถึง 2005 ( เทพ หิมะทองคำ. 2547:6-9) จากรายงานการเฝ้าระวังโรคเรื้อรัง ปี พ.ศ. 2548  ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยาและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 ร่วมกันพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อ(โรคเรื้อรัง) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2546 เป็นต้นมา เริ่มดำเนินการโรคที่เป็นปัญหาและเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และ โรคหัวใจขาดเลือด กลุ่มเป้าหมายที่เฝ้าระวัง คือ ผู้ป่วยที่มารับบริการในสถานบริการสาธารณสุข และได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคจากแพทย์ว่าเป็นโรคเบาหวาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2548 ประชากรทั้งหมด 972,425 คน เป็นโรคเบาหวาน จำนวน 9,466 ราย อัตราการป่วย 973.44 ต่อแสนประชากรโรคหัวใจขาดเลือด จำนวน 189 ราย อัตราป่วย 19.44 ต่อแสนประชากร โรคความดันโลหิตสูง จำนวน 5,048 ราย อัตราป่วย 519.11 ต่อแสนประชากร (กลุ่มงานระบาดวิทยาโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2549) จากข้อมูลการรับบริการที่คลินิกเบาหวานในแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ในปี  2554 - 2556 มีผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน จำนวน 1447, 1947 และ 2,615 คน อัตราป่วย 1458.81 , 1944.55 และ 2,606.22 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ และในปี 2556 มีผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อน จำนวน 477 คน ร้อยละ 18.24 ของผู้ป่วยเบาหวาน เสียชีวิต 14 ราย ร้อยละ 0.54 (รายงานประจำปีโรงพยาบาลบ้านผือ ปี 2554-2556) จากการดำเนินงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกาลึม ตำบลเมืองพาน ประชากรในเขตรับผิดชอบทั้งหมด 3,323 คน ข้อมูลผู้ป่วยโรคเบาหวานมารับการตรวจรักษาเบาหวานทั้งหมดใน ปี พ.ศ. 2554 –  2556 จำนวน 49, 62, และ 75 คน อัตราป่วย 1614.50, 1968.25 และ 2292.18 ต่อแสนประชากรตามลำดับ ปัจจุบันโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกาลึมมีผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด จำนวน 75 คน ร้อยละ 2.29 ของประชากร และมีผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี คือเกิน 126 mg/dl จำนวน 43 คน ร้อยละ 57.33 มีแผลเรื้อรัง จำนวน 8 คน ร้อยละ 10.67 เสียชีวิต 3 คน ร้อยละ 4.00 ของผู้ป่วยเบาหวาน (รายงานประจำปีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกาลึม.2554-2556) พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ศึกษาจึงมีความสนใจที่จะทำการศึกษาเกี่ยวกับระดับความรู้และการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาเป็นแนวทางในการพัฒนางานที่ปฏิบัติด้านสุขภาพ การวางแผนให้สุขศึกษาและจัดกิจกรรมต่างๆในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานเพื่อลดภาวะโรคแทรกซ้อนพร้อมลดรายจ่ายอื่นๆ และเพื่อให้การทำงานด้านบริการสาธารณสุข แก่ผู้มารับบริการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาระดับความรู้และการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มารับบริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกาลึม ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ระเบียบวิธีวิจัย : การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ (Survey study) เพื่อศึกษาระดับความรู้และการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกาลึม อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ประชากรที่ใช้ศึกษาในครั้งนี้เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ขึ้นทะเบียนที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกาลึม อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 75 คน ระยะเวลาที่ศึกษา ในระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 – 31 มกราคม 2557 ผลการศึกษา : พบว่ากลุ่มตัวอย่าง มีอายุเฉลี่ย 54.48 ปี เพศหญิงร้อยละ 72 สถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 92.0 การศึกษาประถมศึกษา ร้อยละ 78.7 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนระหว่าง 2,001 - 4,000 บาท ร้อยละ 45.4 อาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 81.3 ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ร้อยละ 6.71 ปี ระดับน้ำตาลในเลือดครั้งสุดท้ายที่ได้รับบริการ มากกว่า 126 mg/dl ร้อยละ 88.0 การได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่องโรคเบาหวานจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร้อยละ 100 ด้านความรู้เรื่องโรคเบาหวานผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีความรู้อยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 78.7 โดยตอบถูกมากคือ การตรวจเจาะเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานควรอดอาหารมาอย่างน้อย 10-12 ชั่วโมง ก่อนมารับบริการตรวจเลือด เพื่อผลเลือดที่ได้มาตรฐาน ร้อยละ100 และข้อที่ตอบถูกน้อยเท่ากัน คือ การรับประทานยาและการควบคุมอาหาร ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ และการดื่มเหล้าทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคเบาหวานมากขึ้น ร้อยละ 33.3 ด้านการดูแลตนเอง ของผู้ป่วยโรคเบาหวานพบว่ามีระดับการดูแลตนเองอยู่ในระดับดี ร้อยละ 89.33 และมีการดูแลตนเองมากคือ การมารับยาตามแพทย์นัดทุกครั้งร้อยละ 93.3 และมีการดูแลตนเองน้อย คือ เมื่อมีอาการตามัวท่านจะอยู่เฉยๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์ ร้อยละ 18.7


 

การสร้างเสริมพลังอำนาจในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ รพ.สต.หนองแวง ต.ไชยวาน อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี ปี 2557

E-mail Print PDF

นางสาวกนกพร  ร่มวาปี

รพ.สต.หนองแคน   อำเภอไชยวาน

ที่มาและความสำคัญ อัตราป่วยด้วยโรคเบาหวานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแวง ในปีงบประมาณ 2555-2557  จำนวน 58, 73, 86 คน ตามลำดับ (ข้อมูล ณ มีนาคม 2557) และมีผู้ป่วยที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล จำนวน 38, 48, 56 ตามลำดับ (ข้อมูล ณ มีนาคม 2557) คน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ใน จำนวน 20, 25, 30 คน ตามลำดับ(ข้อมูล ณ มีนาคม 2557) และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการสอบถามเบื้องต้นผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ พบว่าส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องโรคเบาหวานและการปฏิบัติตัวเพื่อดูแลตนเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการกับความเครียดทั้งที่ผ่านมาผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมดเคยได้รับความรู้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ทางสุขภาพมาแล้วแต่การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยนั้นส่วนใหญ่จะใช้วิธีการบรรยายเป็นหลักทำให้ผู้ป่วยขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่จะดูแลสุขภาพตนเอง  จากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า ถ้าผู้ป่วยมีความเชื่อในความสามารถของตนเองสูงและเมื่อทำแล้วจะได้ผลตามที่คาดหวังไว้บุคคลนั้นก็จะมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจ (Empowerment) ในตัวผู้ป่วยเบาหวานโดยใช้การสนมนากลุ่มนับเป็นวิธีที่จะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยพร้อมที่จะเรียนรู้ในการดูแลตนเอง เนื่องจากกระบวนการกลุ่มเป็นการให้ความรู้แบบมีส่วนร่วมซึ่งผู้ป่วยทุกคนมีโอกาสจะแสดงความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้รับฟังความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น ได้เรียนรู้ถึงการดูแลตนเองจากประสบการณ์โดยตรงที่ผู้ประสบความสำเร็จใช้ในการดูแลตนเอง ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการกระทำนั้นๆมีผลให้เกิดการดูแลตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ วัตถุประสงค์ 1.เพื่อศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานหลังการเสริมสร้างพลังอำนาจ ในการควบคุมโรคแก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยการใช้กระบวนการกลุ่ม 2. เพื่อศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานหลังการเสริมสร้างพลังอำนาจในการควบคุมโรคแก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยการใช้กระบวนการกลุ่ม 3. เพื่อศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานหลังการเสริมสร้างพลังอำนาจในการควบคุมโรคแก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยการใช้กระบวนการกลุ่ม ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง(Quasi-Experimental Research)ใช้กลุ่มทดลองกลุ่มเดิม ในการเปรียบเทียบ วัดก่อนและหลังการทดลองโดยการใช้กระบวนการกลุ่มที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ประชากรที่ใช้ในการศึกษา เป็นผู้ป่วยที่มารับบริการในคลินิกโรคเบาหวานที่มารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแวง กลุ่มตัวอย่าง ผู้ป่วยเบาหวาน DTX (Dextrostix) มากกว่าหรือเท่ากับ 126 mg/dl ไม่มีภาวะแทรกซ้อนโดยการคัดเลือดแบบเจาะจง (Purposive sampling) มีประชากรที่เป็นไปตามเกณฑ์กำหนด และยินดีเข้าร่วมกระบวนการกลุ่มด้วยความสมัครใจ จำนวน 30 คน จากกลุ่มประชากรทั้งหมด 86 คนและผู้วิจัยใช้จำนวนของกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบเป็นกลุ่มเดียวกัน ระยะเวลาที่ใช้ ต.ค.2556-มี.ค.2557 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการจัดกิจกรรม ได้แก่กระบวนการกลุ่มโดยประยุกต์จากทฤษฎีการเสริมพลังอำนาจ ประกอบด้วย กิจกรรมกลุ่ม การชมวีดิทัศน์ การเรียนรู้จากตัวแบบอย่างที่ดี การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และผู้วิจัยให้ความรู้เพิ่มเติมคู่มือการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถาม ประกอบด้วย 3 ส่วน คือส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนที่ 2แบบสอบถามเกี่ยวกับความรู้เรื่องโรคเบาหวาน ส่วนที่ 3 แบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน การตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ ผู้ศึกษาได้สร้างเครื่องมือโดยการศึกษาแนวคิดจาก เอกสารตำราที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานและการศึกษาพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานในเขตบริการโรงพยาบาลสงขลา แล้วนำมาปรับปรุงเนื้อหาและข้อคำถามในแนวทางสัมภาษณ์เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ก่อนนำไปเก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมาย ขั้นตอนการทดลอง 1.ระยะก่อนการทดลอง 1) ผู้วิจัยขออนุมัติทำการศึกษาวิจัยโดยทำหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแวง อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี 2) พิจารณากลุ่มตัวอย่างที่จะเข้าร่วมการศึกษาวิจัยโดยเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนด 3) แจ้งผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเพื่อขอความร่วมมือและความสมัครใจที่จะเข้าร่วมการวิจัย 4) เก็บข้อมูลก่อนการทดลองเพื่อเปรียบเทียบหลังการทดลอง 2. ระยะดำเนินการทดลองให้ความรู้โดยการใช้การเสริมพลังอำนาจโดยการใช้กระบวนการกลุ่มตามกรอบแนวคิดที่กำหนด 3. ระยะหลังการทดลองดำเนินการเก็บข้อมูลหลังการทดลองเพื่อบันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป การเก็บรวบรวมข้อมูล ในการเก็บข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณเก็บข้อมูลจากแบบบันทึกข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยเบาหวานและแบบสอบถามวัดความรู้เรื่องโรคเบาหวาน แบบสอบถามพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งมีการเก็บข้อมูล 2 ครั้งก่อนการทดลองและหลังการทดลอง ผลการศึกษา พบว่า หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีระดับคะแนนเฉลี่ยเรื่องโรคเบาหวาน การปฏิบัติตัวในการดูแลตนเอง สูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลของการเปลี่ยนแปลงคะแนนเฉลี่ยความรู้เรื่องโรคเบาหวาน และการปฏิบัติตัวในการดูแลตนเอง เป็นผลจากการได้รับกระบวนการกลุ่มในการส่งเสริมการดูแลตนเองโดยการประยุกต์ใช้ทฤษฏีการเสริมสร้างพลังอำนาจและกระบวนการกลุ่ม มาเป็นกรอบการจัดกิจกรรมโดยมีกิจกรรมการฝึกออกกำลังกายกิจกรรมการชม วีดิทัศน์เพื่อให้เห็นสภาพปัญหาที่กำลังเผชิญ และ ให้กลุ่มตัวอย่างคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ ผู้วิจัยบรรยายเพิ่มเติม การให้คู่มือเกี่ยวกับโรคเบาหวาน การจัดการความเครียดในกลุ่มผู้ป่วยโดยผู้วิจัยสรุปและเพิ่มเติมเนื้อหาที่ ซึ่งวิธีการเหล่านี้สามารถพัฒนาความรู้เรื่องเบาหวานได้ดี เป็นผลให้กลุ่มทดลองมีความรู้เรื่องโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การมีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของช่อผกา (2550) ได้ศึกษาผลของการพยาบาลระบบสนับสนุนและให้ความรู้ต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองและพฤติกรรมการดูแลบุคคลที่พึ่งพาในผู้ป่วยเบาหวาน ที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลภูกระดึง ผลการศึกษาพบว่า1)หลังการทดลองผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการพยาบาลระบบสนับสนุนและให้ความรู้มีค่าคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานสูงกว่าก่อนได้รับการพยาบาลระบบสนับสนุนและให้ความรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p <0.001 และสอดคล้องกับการศึกษาของจุฑารัตน์ (2548) ได้ศึกษาผลโปรแกรมการส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในโรงพยาบาลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี โดยการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ จำนวน 36 คนแบ่งเป็นกลุ่มทดลองจำนวน 18 คนและกลุ่มควบคุมจำนวน 18 คน ผลการวิจัยสรุปว่าภายหลังการทดลองกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ย การรับรู้ในความสามารถตนเองในการดูแลตนเองเรื่องการควบคุมน้ำหนักและการมารับบริการตรวจตามนัด ความคาดหวังในผลลัพธ์ในการดูแลตนเองเรื่องการควบคุมน้ำหนักและการมารับบริการตรวจตามนัด การปฏิบัติตัวในการดูแลตนเองในด้านการควบคุมน้ำหนักและการมารับบริการตรวจตามนัดมากกว่าก่อนทดลอง และมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p-value<0.05) จากการศึกษา พบว่าภายหลังการทดลอง พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p>0.05 ร้อยละ 60 ทั้งนี้อาจเป็นช่วงของระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาปีงบประมาณ 2556 สั้นเกินไปจึงทำให้ DTX นั้นไม่เป็นไปตามสมมติฐานข้อที่ 3 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ ศรีสุพรรณ (2544) ได้ศึกษาผลของการพัฒนาศักยภาพในการดูแลตนเองต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองและระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยความแตกต่างของคะแนนการปฏิบัติตนในการดูแลสุขภาพตนเองก่อนและหลังการทดลอง แตกต่างจากค่าคะแนนของกลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ (p < 0.001) ส่วนผลการวิจัยต่อระดับน้ำตาลในเลือดนั้น พบว่ากลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยความแตกต่างของระดับน้ำตาลในเลือดก่อนและหลังการทดลอง ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

 


Page 6 of 26
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday12
mod_vvisit_counterYesterday20
mod_vvisit_counterThis week12
mod_vvisit_counterLast week348
mod_vvisit_counterThis month337
mod_vvisit_counterLast month311
mod_vvisit_counterAll days249088

We have: 1 guests online
Your IP: : 3.138.105.124
Mozilla 5.0, 
Today: May 04, 2024

Polls

Who's Online

We have 1 guest online

Advertisement

Featured Links:
Joomla! Extensions
Joomla! Components, Modules, Plugins and Languages by the bucket load.

Popular