Research of Udonthani Provincial Health Office.

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size

ประสิทธิผลของโปรแกรมออกกำลังกายต่อการทรงตัวของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการหกล้ม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองใส อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF
นางอุไรลักษณ์ หมัดคง1 และ นางวชิราภรณ์  สินเจริญเลิศ
กลุ่มงานเวชกรรมสังคม1 , รพ.สต.หนองใส อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี2

ที่มา  ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การหกล้มเป็นอุบัติเหตุที่พบบ่อยมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ภาวการณ์หกล้มแม้จะเป็นภาวะที่ไม่จำเพาะเจาะจงในผู้สูงอายุแต่จะเป็นการเตือนถึงพยาธิสภาพที่รุนแรงและนำมาซึ่งโรคแทรกซ้อนอื่นๆ และเพิ่มภาระแก่ผู้ดูแลสมควรได้รับการป้องกันอย่างรีบด่วนในปี 2558  จังหวัดอุดรธานีได้ประกาศเป็นนโยบาย”จังหวัดอุดรธานีเมืองผู้สูงอายุคุณภาพชีวิตดี”  และสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ได้มีการจัดทำแนวทางการจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุในสถานบริการสุขภาพทุกระดับโดยมอบให้จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดนำร่องในเรื่องระบบการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุและได้ใช้พื้นที่ รพ.สต.หนองใสในการศึกษา จากผลการคัดกรองภาวะสุขภาพผู้สูงอายุจำนวน 152,124 คนพบว่า เสี่ยงต่อการหกล้มร้อยละ 6.04 TUGT มากกว่า 30 วินาที ร้อยละ 8.83 มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 9.13 ข้อเข่าเสื่อม ร้อยละ 14.30 รพ.สต.หนองใสผู้สูงอายุหนองใสได้รับการคัดกรอง 1,001 เคยหกล้ม 0.6% TUGT มากกว่า 30 วินาที 2.3 % มีสิ่งแวดล้อมทีไม่ปลอดภัย 3.6% ข้อเข่าเสื่อม 1.1%
วัตถุประสงค์  เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมออกกำลังกายต่อการทรงตัวของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการหกล้ม
ระเบียบวิธีวิจัย วิจัยกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียววัดผลก่อนหลังใช้เวลาศึกษา4 สัปดาห์ คือ สัปดาห์ที่ 1ตรวจประเมินประสิทธิภาพการทรงตัวและวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ สอนออกกำลังกาย 7 ท่า (ปรับปรุงจากยากันล้ม คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ (มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ) สัปดาห์ที่ 2   ฝึกฉีกหนังสือพิมพ์ด้วยเท้าสอนเรื่องสุขภาพจิต ทบทวนการออกกำลังกาย สัปดาห์ที่ 3 ฝึกฉีกหนังสือพิมพ์ด้วยเท้า สอนอาหารที่เพิ่มแคลเซียมทบทวนการออกกำลังกาย และสัปดาห์ที่ 4 ประเมินการทรงตัวและวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเหมือนสัปดาห์ที่ 1 และมีการติดตาม 3 และ 6 เดือน กลุ่มเป้าหมายคือผู้สูงอายุในชมรมผู้สูงอายุ รพ.สต.หนองใสที่เสี่ยงต่อการหกล้มจำนวน 29 คน (ทฤษฎีขีดจำกัดกลาง)เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ 1)แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล2)โปรแกรมออกกำลังกาย 3)แบบตรวจประเมินการทรงตัวTUGT และ Berg balance scale(BBS)วิเคราะห์ข้อมูลด้วย สถิติพรรณนา และสถิติเชิงอนุมาน Repeated Measure ANOVA งานวิจัยนี้ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาและควบคุมการวิจัยในมนุษย์โรงพยาบาลอุดรธานี
ผลการศึกษา  ทดสอบการทรงตัวด้วย BBS ก่อนและหลังได้รับการสอนตามโปรแกรมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติโดยคะแนนการทรงตัวเพิ่มขึ้นหลังการสอนและจากการติดตามในเดือนที่ 3 และเดือนที่ 6โดยก่อนสอนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 53.65 (2.91)  หลังสอนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน)  เท่ากับ 55.06 ± 1.22 ติดตาม 3 เดือนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 55.10 (1.0) ติดตาม 6 เดือนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 55.51 (0.73) ตามลำดับ  ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่พบว่า ค่าเฉลี่ย การทรงตัวด้วย BBSมีความแตกต่างกันระหว่างก่อนสอนและหลังสอน การทดสอบการเดิน TUGT ดีขึ้นโดยก่อนสอนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน)  เทากับ 12.71 (6.98) หลังการสอน 6 เดือนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 14.34 (2.41) การวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังดีขึ้นโดยก่อนสอนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 41.17 (16.33) หลังการสอน 6 เดือนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 47.82  (15.13) การวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเข่าดีขึ้นโดยก่อนสอนมีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 52.61 (27.25) หลังการสอน 6 เดือน มีคะแนนเฉลี่ยน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 54.28 (19.58)
การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เป็นโปรแกรมที่ง่ายออกกำลังกายเพียง 7ท่า ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีทำวันละ 1 รอบ 3 วันต่อสัปดาห์ในระดับที่รู้สึกเหนื่อยเป็นประจำและสามารถนำไปวางแผนป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุได้ จะมีการขยายผลไปยังชุมชน คลินิกผู้สูงอายุ ในรพ.สต.หนองใส และ รพ.สต. เครือข่ายโรงพยาบาลอุดรธานีโดยมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีการเผยแพร่ผลงานโดยการนำเสนอในเวทีจังหวัด ระดับเขต วิชาการกลุ่มงานเวชกรรมสังคม วิชาการชมรมพยาบาลเวชปฏิบัติ เป็นที่ศึกษาดูงานระดับปฐมภูมิของจังหวัดอุดรธานี
บทเรียนที่ได้รับ  นโยบายการดูแลผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการหกล้มที่ชัดเจนขยายผลสู่สถานบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ และผู้บริหารทุกระดับให้ความสำคัญร่วมมือทั้งในด้านโรงพยาบาล สสอ. และ รพ.สต. ในด้านบุคลากรและงบประมาณ การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยชะลอความเสื่อมของระบบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัว ช่วยลดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อรวมถึงช่วยลดอุบัติการณ์การล้มในผู้สูงอายุและช่วยพัฒนาความแข็งแรงและกำลังกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุได้ สอดคล้องกับนโยบาย  จังหวัดอุดรธานีเมืองผู้สูงอายุคุณภาพชีวิตดี
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ การทำงานเป็นทีมของผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุระหว่างโรงพยาบาลอุดรธานีและ               รพ.สต.เครือข่าย  ความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพการให้บริการผู้สูงอายุ ในด้านผู้บริหารมีนโยบายที่ชัดเจนจากระดับจังหวัดและผู้บริหารระดับอำเภอร่วมกันสนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณเพื่อให้เกิดระบบบริการและการจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
การสนับสนุนที่ได้รับ ผู้บริหารระดับจังหวัดและอำเภอมีการติดตามและประเมินผลต่อเนื่อง ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณให้โอกาสทีมงานผู้สูงอายุมีเวทีประชุมแลกเปลี่ยนและการนำเสนอผลงาน คณะกรรมการพัฒนางานวิจัยโรงพยาบาลอุดรธานีสนับสนุนด้านวิชาการ ได้รับความร่วมมือจากสถานบริการในเครือข่าย ความเอาใจใส่จากอาจารย์ที่ปรึกษา หัวหน้ากลุ่มงานและเพื่อนร่วมงานให้การสนับสนุน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลผู้สูงอายุ อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

พรพรรณ พิมพ์วาปี  
รพ.สต.หัวนาคำ  อำเภอศรีธาตุ

ที่มา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของระบบสุขภาพ เนื่องจากเป็นบุคคลที่ชุมชนให้ความไว้วางใจ ใกล้ชิดเป็นบุตรหลานในชุมชน และเป็นบุคคลที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสำคัญประการหนึ่งในการดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชน กลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานผู้สูงอายุ ให้มีระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว ทั้งในสถานบริการสุขภาพและในชุมชน จำเป็นต้องมีอาสาสมัครผู้ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนและผู้ที่จะทำหน้าที่ในการดูแลที่เหมาะสม คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญด้านสาธารณสุข และเป็นทรัพยากรบุคคลในชุมชนควรค่าแห่งการดำรงไว้ (คู่มือการปฏิบัติงานการสร้างเสริมและดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ สำหรับอาสาสมัคร .สำนักส่งเสริมสุขภาพ,กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.2551) ในปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยในปี พ.ศ.2552 จะเป็นปีแรกที่ไทยก้าวย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 พบว่า สัดส่วนของประชากรวัยเด็กและวัยแรงงาน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 13.2 ในปี พ.ศ.2553 เป็นร้อยละ 32.1 ใน พ.ศ.2583 และสัดส่วนของผู้สูงอายุวัยปลายจะเพิ่มจากประมาณ ร้อยละ 12.7 ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมดเป็นเกือบ 1ใน5 ของประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุวัยปลายนี้ จะสะท้อนถึงการสูงอายุขึ้นของประชากรสูงอายุ และนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิง ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ (มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยและวิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2556 : 12-13) การดำเนินงานผู้สูงอายุของอำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี ในปี 2557 มีประชากรทั้งหมด 48,525 คน ผู้สูงอายุ จำนวน 5,431 คน คิดเป็นร้อยละ 11.16 จำแนกตามกลุ่มตามช่วงอายุ 60-69 ปี กลุ่มอายุ 70-79 ปี และกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป มีร้อยละ 59, ร้อยละ 30 และร้อยละ 9.96 ตามลำดับ จำแนกตามความสามารถประกอบกิจวัตรประจำวัน ( BADL ) กลุ่มติดสังคม, กลุ่มติดบ้าน และกลุ่มติดเตียง คิดเป็น ร้อยละ 89.4 , ร้อยละ 9.59 และ ร้อยละ 0.9 ตามลำดับ(สำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีธาตุ , 2557. ) บทบาทในการดูแลผู้สูงอายุของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีการปฏิบัติหน้าที่ส่วนใหญ่ เป็นการให้คำแนะนำ ให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของผู้สูงอายุ เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายที่เหมาะสม การให้ความช่วยเหลือทางสังคมเป็นการส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม ในชุชน มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือเป็นครั้งคราวเฉพาะหน้าไม่ต่อเนื่อง และกิจกรรมที่ทำในการออกเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ คือ ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจนับชีพจร การตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพผู้สูงอายุ การประเมินภาวะสมองเสื่อม การประเมินภาวะซึมเศร้า(2Q) การประเมินศักยภาพตามความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (ADL) (สำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีธาตุ, 2557) จะเห็นได้ว่า อาสาสมัคราสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน มีบทบาทสำคัญในดูแลสุขภาพตามกลุ่มวัย โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน คือ การส่งเสริมสุขภาพด้านร่างกาย ด้านอารมณ์และจิตใจ และด้านสังคม นอกจากการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านยังเป็นผู้ที่มีทัศนคติต่อการดูแลผู้สูงอายุที่ดี บนพื้นฐานแห่งธรรมะตามหลักพุทธศาสนา ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อการปฏิบัติให้การดูแลผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้การได้รับแรงสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ ครอบครัว และชุมชน เช่น การสนับสนุนวัสดุสิ่งของ ข้อมูลข่าวสาร การติดตามประเมินผล การยอมรับนับถือเป็นต้น ( House, 1981 : 202) ทำให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านปฏิบัติการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ประกอบกับสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเอื้ออาทรมีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม การได้แรงสนับสนุนทางสังคมจึงก่อให้เกิดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานจิตอาสา
วัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อศึกษาบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลผู้สูงอายุและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการดูแลผู้สูงอายุของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี
ระเบียบวิธีการวิจัย ใช้การวิจัยเชิงสำรวจแบบภาคตัดขวาง กลุ่มตัวอย่างคืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 300 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามระหว่างวันที่ 15 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบสอบถามโดยผู้วิจัยได้สร้างขึ้นและคัดแปลงจากการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อมูลในส่วนดังกล่าวนี้มาสร้างเป็นแบบสอบถาม โดยแบ่งแบบสอบถามเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป 7 ข้อ ทัศนคติต่อการดูแลผู้สูงอายุ 15ข้อ แรงสนับสนุนทางสังคม 20ข้อ และบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลผู้สูงอายุ 15ข้อ  แล้วนำไปหาความตรงของเนื้อหาให้ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่านเป็นผู้พิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา แล้วหาความเชื่อมั่นของเครื่องมือ โดยนำแบบสอบถามที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขไปทดสอบใช้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี จำนวน 30 คน  ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา โดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค(Cronbach’s Alpha Coefficient)  ได้ค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือด้านการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเท่ากับ 0.94  ด้านทัศนคติต่อการดูแลผู้สูงอายุ เท่ากับ 0.8 ด้านแรงสนับสนุนทางสังคมเท่ากับ 0.87 การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สันและไคสแควร์
ผลการศึกษา
1) ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 73.7 มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 45.6 ปี มีอายุสูงสุด 72 ปี และอายุต่ำสุด 21 ปี สถานภาพสมรสส่วนใหญ่เป็นสถานภาพสมรสคู่ คิดเป็นร้อยละ 89.3 การศึกษาส่วนใหญ่ระดับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า คิดเป็นร้อยละ70 รายได้เฉลี่ยเท่ากับ 10,190.87 บาท รายได้ต่ำสุด 600 บาทและรายได้สูงสุด 60,000 บาท อาชีพเกษตรกรรมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 85.3 ระยะเวลาในการปฏิบัติงานโดยเฉลี่ยเท่ากับ 9.19 ปี ระยะเวลาปฏิบัติงานมากที่สุด 35 ปีและน้อยที่สุด 1 ปี
2) ทัศนคติต่อการดูแลผู้สูงอายุของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านพบว่าอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านประมาณสองในสามมีทัศนคติต่อการดูแลผู้สูงอายุในระดับมากคิดเป็นร้อยละ69 รองลงมาคือระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ30.3 และระดับน้อย คิดเป็นร้อยละ 0.7
3) แรงสนับสนุนทางสังคม พบว่าอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านประมาณครึ่งหนึ่ง ได้รับแรง
สนับสนุนทางสังคมอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 52.0 รองลงมาคือระดับมากคิดเป็นร้อยละ42 และระดับน้อยคิดเป็นร้อยละ6.0  
4) บทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลผู้สูงอายุ พบว่าอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านส่วนใหญ่มีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุ ระดับมากคิดเป็นร้อยละ 71.3 รองลงมาคือระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ 26.7 และระดับน้อยคิดเป็นร้อยละ2.0
การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ 1) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการกำหนดและส่งเสริมบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลผู้สูงอายุ โดยการจัดอบรมหลักสูตรอาสาสมัครผู้ดูแลผู้สูงอายุ (อผส.) 70 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุด้านเศรษฐกิจและ ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยยากไร้ไม่มีผู้ดูแล 2) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกิดกระบวนการทำงานโดยการมีส่วนร่วม  เพิ่มแรงสนับสนุนทางสังคมให้ผู้สูงอายุเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มหรือชมรมผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ตำบล 3) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน สามารถให้การดูแลผู้สูงอายุด้านร่างกายโดยเฉพาะให้การดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือช่วยเหลือตัวเองได้บ้างเล็กน้อย ด้วยการหาคู่หูคู่บัดดี้ในการทำงาน เช่น การอาบน้ำให้ผู้สูงอายุ การสระผม การตัดเล็บ การป้อนอาหาร การเปลี่ยนเสื้อผ้า เป็นต้น
ข้อเสนอแนะ ผลการศึกษาครั้งนี้เสนอแนะให้หน่วยงานสำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีธาตุ สนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการส่งเสริมทัศนคติต่อบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุและสนับสนุนทางสังคมให้มากขึ้น
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ 1) ความร่วมมือของผู้ตอบแบบสอบถามในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการศึกษาวิจัย 2) ผู้บริหารให้การสนับสนุนด้าน บุคลากร  ข้อมูล และสิ่งอำนวยความสะดวกในการศึกษาวิจัย 3) มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญให้ความอนุเคราะห์ตรวจสอบความเที่ยงของเครื่องมือ 4ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ในการทำวิจัยครั้งนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพจากการประกอบกิจการยางพารา พื้นที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2557

E-mail Print PDF

นางสมปอง พรหมพลจร*, นายไสว  ชัยประโคม* และ รศ.ดร.อุไรวรรณ  อินทร์ม่วง**

สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบ้านผือ* , มหาวิทยาลัยขอนแก่น**

ที่มาและความสำคัญ จากผลการศึกษาแนวทางและกลไกการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ สำหรับกิจการที่เป็น  อันตรายต่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ระยะที่ 1 (ปีงบประมาณ 2556)ได้เสนอแนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพโดยการตั้งคณะกรรมการในระดับท้องถิ่นเพื่อร่วมกันประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของกิจการฯ ให้ได้ข้อมูลประกอบการอนุญาตของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยได้เลือกพื้นที่อำเภอบ้านผือเป็นพื้นที่ศึกษา เนื่องจากมีประชาชนประกอบกิจการเกี่ยวกับยางพาราเป็นจำนวนมาก และได้มีการร้องเรียนปัญหาเหตุรำคาญจากการขนส่งยางพาราที่เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุจราจร ในอดีตที่ผ่านมายางพาราส่วนใหญ่จะปลูกทางภาคใต้ของไทยและนิยมขายยางพาราในรูปของยางแผ่นผึ่งแห้ง แต่ในปัจจุบันได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมเพาะปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2554-2556 มีแนวโน้มการปลูกยางพารามากขึ้นเป็นลำดับ ในปี พ.ศ. 2556 มีพื้นที่ในการปลูกยางพารามากถึง4,395,849 ไร่ (ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักเศรษฐ กิจการเกษตร, 2557) ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี มีการปลูกยางพารามากถึง 329,590 ไร่ สำหรับอำเภอบ้านผือ ในปี พ.ศ. 2554 มีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 49,976 ไร่ มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทั้งหมด ประมาณ 4,000 หลังคาเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 13ตำบล ตำบลที่มีการปลูกยางพาราจำนวนมาก ได้แก่ ตำบลคำด้วง กลางใหญ่  เมืองพาน  โนนทอง หนองแวง ข้าวสาร ซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่  246 กิโลกรัม (สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านผือ, 2555) มีจุดรับซื้อยางก้อนถ้วย โรงรีด โรงอบยางพารา โดยส่วนใหญ่เกษตรกรจะรวมกลุ่มเพื่อผลิตและมีจุดรับซื้อยางก้อนถ้วยในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อส่งให้กับผู้รับซื้อรายใหญ่ สำหรับยางพาราที่ได้จากการกรีดนั้น เกษตรกรบางส่วนนิยมทำเป็นยางแผ่นแปรรูปโดยผ่านกระบวนการต่างๆ แล้วเก็บไว้จนมากพอที่จะนำไปขายให้กับพ่อค้าหรือโรงงานรมควันต่อไป แต่เกษตรกรในพื้นที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี นิยมแปรรูปน้ำยางสดที่กรีดได้ไปขายในรูปแบบยางก้อนถ้วยเพราะสามารถทำได้โดยใช้เวลาไม่นานและมีความสะดวก โดยการเติมสารละ ลายที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น กรดฟอร์มิก กรดซัลฟิวริก กรดชีวภาพจากการหมักเพื่อทำให้ยางจับตัวกันเป็นก้อน ซึ่งมีอันตรายต่อการหายใจและการสัมผัสทางผิวหนัง (ศิริจิต  ทุ่งหว้า,  2547)โดยทั่วไปน้ำยางสดเมื่อกรีดจากต้นแล้วจะคงสภาพอยู่ในเวลาไม่นาน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่ผิวของอนุภาคยางและการเพิ่มขึ้นของแบคทีเรียที่ใช้ สารอาหารในน้ำยาง ทำให้อนุภาคยางรวมตัวเป็นก้อน บูด เน่า มีกลิ่นเหม็น (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ,2556 ) ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535  กิจการที่เกี่ยวข้องกับยางพารา เป็น1ใน135ประเภทกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จัดอยู่ในประเภทกิจการกลุ่มที่ 5 (2)การล้าง การอบ การรมควัน การสะสมยางดิบ โดย พรบ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการอนุญาต กำกับดูแล ควบคุม เพื่อไม่ให้เกิดความรำคาญส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจากการเก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการประกอบกิจการยางพาราในพื้นที่อำเภอบ้านผือ พบว่า ผู้ประกอบการ กิจการทุกแห่ง ยังไม่เคยยื่นขออนุญาต เพื่อประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอบ้านผือ ส่วนใหญ่ยังไม่มีการออกข้อกำหนดของท้องถิ่น เรื่อง การควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ยกเว้นเทศบาลตำบลบ้านผือ ซึ่งมีการออกเทศบัญญัติ เรื่อง การควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น คณะผู้วิจัยจากคณะสาธารสุข มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ คณะทำงานศึกษาแนวทางและกลไกการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ  สำหรับกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ปีงบประมาณ 2557 (ระยะที่ 2)และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จากการประกอบกิจการเกี่ยวกับยางพารา อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี (คำสั่งอำเภอบ้านผือ ที่ 120/2557 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2557)จึงได้ดำเนินการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพจากการประกอบกิจการเกี่ยวกับยางพารา เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับเป็นแนวทางแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการประยุกต์ใช้การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพเป็นเครื่องมือในการควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้มีประสิทธิภาพต่อไป วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับยางพารา 2. เพื่อศึกษาข้อดี ข้อด้อย ข้อจำกัด ปัญหาอุปสรรค ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) สำหรับกิจการเกี่ยวกับยางพาราโดยการตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน ระเบียบวิธีวิจัย การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง โดยศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพแบบรอบด้าน(Comprehensive HIA)จากการประกอบกิจการเกี่ยวกับยางพารา ในพื้นที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี โดยการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานในระดับอำเภอ ได้ดำเนินการระหว่างเดือน มีนาคม - พฤศจิกายน 2557 ขั้นตอนการศึกษาประกอบด้วย 1) การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกลั่นกรองและกำหนดขอบเขตการศึกษา 2) การเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพ โดยแบ่งแยกออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ผลกระทบด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมจากกิจการรับซื้อยางพารา ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานกิจการยางพารา และผลกระทบต่อสุขภาพจากการขนส่งยางพารา 3) การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำเสนอผลการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และมาตรการป้องกัน/ลดผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งสรุป ข้อดี ข้อด้อย ปัญหาอุปสรรค และรูปแบบในการดำเนินงานที่เหมาะสมของหน่วยงานโดยการจัดตั้งคณะกรรมการ 4) การนำเสนอรายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานควบคุมกิจการที่เกี่ยวข้องกับยางพาราต่อไป 5) การติดตามประเมินผลโดยคณะกรรมการ กำกับ ดูแลและติดตามประเมินผลในระดับพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชากร ได้แก่ เกษตรกรผู้กรีดยางและทำยางก้อนถ้วย ในเขตตำบลหนอง แวงและตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 77คน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เกษตรกรผู้กรีดยางและทำยางก้อนถ้วย ในเขตตำบลหนองแวงและตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 146 คนโดยใช้สูตรคำนวณ ผลการศึกษา การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพจากการประกอบกิจการเกี่ยวกับยางพารา ในพื้นที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี โดยการจัดตั้งคณะกรรมการ ร่วมกับที่ปรึกษาจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สรุปผลการศึกษาได้ดังนี้ 1. การดำเนินการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพประกอบด้วยขั้นตอนของการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพแบบรอบด้าน (Comprehensive HIA) ดังนี้ 1.1 การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกลั่นกรองและกำหนดขอบเขตการศึกษา 1.2 การเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ ผลกระทบด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมจากกิจการรับซื้อยางพารา ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานกิจการยางพารา และผลกระทบต่อสุขภาพจากการขนส่งยางพารา 1.3 การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำเสนอผลการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และมาตรการป้องกัน/ลดผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้ง สรุป ข้อดี ข้อด้อย และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานประเมินผลกระทบต่อสุขภาพโดยการจัดตั้งคณะกรรมการ 1.4 การนำเสนอรายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานควบคุมกิจการที่เกี่ยวกับยางพาราต่อไป 2. ผลการศึกษาพบว่า การประกอบกิจการเกี่ยวกับยางพารา ในพื้นที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพกรีดยางและทำยางก้อนถ้วย การรับซื้อยางพาราในชุมชนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยการขนส่งยางพาราซึ่งก่อให้เกิดเหตุรำคาญส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง เส้นทางการขนส่งรวมทั้งน้ำยางที่รั่วลงสู่พื้นถนน เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุการจราจร นอกจากนี้การปฏิบัติงานที่สัมผัสกับสิ่งคุกคามสุขภาพทั้งด้านกายภาพ เคมี และการยศาสตร์ ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานการรับซื้อและขนส่งยางพารา

 


 

การลดปริมาณกากตะกอนของปูนขาวและการรักษาระดับความเป็นกรดเป็นด่างในระบบบำบัดน้ำเสีย โรงพยาบาลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี

E-mail Print PDF

นายไพรัตน์  อุตราช, นางสาวเมธาวี  บัวบกหวาน  และนายบุญทัน  โพธิสนาม

โรงพยาบาลเพ็ญ  อำเภอเพ็ญ

ความเป็นมาและความสำคัญ ปัจจุบันระบบบำบัดน้ำเสียแบบคลองวนเวียน (Oxidation Ditch ; OD) เป็นระบบแอกทิเวเต็ดสลัดจ์ (Activated Sludge) ประเภทหนึ่ง ที่ใช้แบคทีเรียพวกที่ใช้ออกซิเจน (Aerobic Bacteria) เป็นตัวหลักในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย และเจริญเติบโตเพิ่มจำนวน ก่อนที่จะถูกแยกออกจากน้ำทิ้งโดยวิธีการตกตะกอนการทำงานของระบบคลองวนเวียนจะเหมือนกับระบบแอกทิเวเต็ดสลัดจ์โดยทั่วไป คือ อาศัยจุลินทรีย์มากมายหลายชนิด โดยจุลินทรีย์ที่สำคัญได้แก่ แบคทีเรีย เชื้อรา และโปรโตซัว เป็นต้น ซึ่งสภาวะที่ใช้ในการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์จะเป็นสภาวะแอโรบิค โดยจุลินทรีย์จะใช้สารอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำเสียเป็นแหล่งอาหารและพลังงาน เพื่อการเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ในระบบ จากนั้นจึงแยกจุลินทรีย์ออกจากน้ำเสียที่ผ่านบำบัดแล้ว โดยวิธีการตกตะกอนในถังตกตะกอน (Sedimentation Tank) เพื่อให้ได้น้ำใส (Supernatant) อยู่ส่วนบนของถังตกตะกอน ซึ่งมีคุณภาพน้ำดีขึ้น และสามารถระบายออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ ปัญหาของการปรับค่าความสมดุลของน้ำให้ค่าปกติ วิธีการหนึ่งในกระบวนการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ "การเติมปูนขาว"วัตถุประสงค์หลักของปูนขาว คือ เพื่อปรับความเป็นกรดของน้ำรักษาสมดุลให้ เป็นกลาง ปูนขาวชนิดที่1 คือ หินปูนบดละเอียด จะเป็นพวกหินฝุ่น ขี้เลื่อยหินอ่อน เปลือกหอยบดละเอียด ทั้งหมดนี้มีคุณสมบัติทางเคมีอย่างเดียวกัน เป็นปูนขาวตัวหลักที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้แก้ไขดินเป็นกรดได้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แคลเซียมคาบอร(CaCo3) ปูนขาวชนิดที่2 คือ ปูนมาร์ล (Marl) คือหินปูนที่ผุกร่อนตามธรรมชาติ เกิดการสลาย เป็นก้อนเล็กๆ มีความอ่อนตัวลงกว่าเดิม เกิดตามบริเวณภูเขาหินปูนในประเทศไทยมีพบที่ จังหวัดลพบุรี และสระบุรี หลังจากหินปูนผุพังแล้วจะทับถมเป็นชั้น ๆ อยู่ใต้ดิน บริเวณที่เป็นชั้นของปูนมาร์ลอยู่ใกล้ผิวดินจะถูกนำมาใช้ในการเกษตร มีแร่ธาตุพวกแคลเซียมมาก ปูนขาวชนิดต่อไปคือ ปูนขาวหรือปูนชื้น แต่จริง ๆ ไม่ได้ชื้น ปูนขาวชนิดนี้หล่ะค่ะที่มีขายตามร้านวัสดุก่อสร้างทั่ว ๆ ไป บรรจุถุงขายใช้ผสมปูนซีเมนต์เป็นปูนฉาบในการก่อสร้างกันมาก เราสามารถนำมาใช้แก้ดินเป็นกรด "โดยเฉพาะการแก้ไขน้ำเป็นกรด จะใช้ปูนขาวชนิดนี้ "กรรมวิธีในการผลิตปูนชนิดนี้ เกิดจากการเผาหินปูน หรือเปลือกหอย เมื่อได้ปูนเผา (CaO) ขณะร้อน ๆ ก็ฉีดน้ำเข้าไปทำปฎิกิริยาเกิดเป็นแคลเซียมไฮดรอกไซด์ (Ca(OH) 2 มีราคาแพง เมื่อละลายน้ำจะไม่ร้อนปูนขาวชนิดที่3 คือ ปูนเผา เป็นหินปูนหรือเปลือกหอยนำมาเผาจนสุก ปล่อยให้เย็นแล้วบดละเอียด มีฤทธิ์ที่ มีปฏิกิริยากับกรดรุนแรง ขณะละลายน้ำจะรู้สึกร้อน หากใส่ใกล้ต้นพืชอาจทำให้เหี่ยวเฉา หรือตายได้ต้องระวังอย่าให้สัมผัสโดยตรง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แคลเซียมออกไซค์ (CaO) ปูนขาวชนิดที่4 คือ ปูนโดโลไมท์ เป็นหินปูนที่มีแมกนีเซียมปนอยู่ มีความเป็นด่างต่ำ ลักษณะเหมือนหินปูนบดละเอียด หากจะพิสูจน์ว่าปูนขาวชนิดไหนคือโดโลไมท์หรืออันไหนเป็นหิน ปูนบด จะต้องทำการวิเคราะห์ทางเคมีในห้องปฏิบัติการเพื่อหาปริมาณของแมกนีเซียมที่เจือปนอยู่ ปูนโดโลไมท์เรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า แคลเซียมแมกนีเซียม คาร์บอเนต CaMg (Co3)2 โดยทั่วไปราคาจะแพงกว่าหินปูนแต่ถูกกว่าปูนก่อสร้าง เมื่อใช้ปูนชนิดนี้จะได้ธาตุอาหารของแพลงตอนพืชพวกแมกนีเซียม แคลเซียมเพิ่มเติมอีก สำหรับวิธีการใช้ปูนขาวแต่ละชนิดจะมีขั้นตอนวิธีการใช้ที่แตกต่างกันออกไป โรงพยาบาลเพ็ญเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียงเปิดใช้บริการจริงอยู่ที่ 75-90 เตียง โรงพยาบาลเพ็ญมีระบบบำบัดน้ำเสียแบบคลองวนเวียน ความจุในการรองรับน้ำเสียอยู่ที่ 90 ลูกบาศก์เมตร/วัน ปัจจุบันระบบบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาลเพ็ญ มีการใช้ปูนขาวจำนวนมากในการปรับความเป็นกรดด่าง การเติมปูนขาวในแต่ละวันเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 กิโลกรัม ทำให้ปริมานผงปูนขาวสะสมอยู่ในคลองวนเวียน กากปูนขาวที่ทับทมอยู่ในคลองวนเวียนทำให้เกิดปฏิกิริยา Anaerobic ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของจุลินทรีย์ ระดับความเป็นกรดเป็นด่างไม่สามารถควบคุมได้ และกากปูนขาวยังส่งผลกระทบทำให้คลองวนเวียนตื้นเขิน รองรับปริมาณน้ำเสียได้น้อยลง จากความสำคัญของปัญหา ดังกล่าวข้างต้น ผู้ศึกษาวิจัยมีความสนใจที่จะศึกษาการลดปริมาณกากตะกอนปูนขาวในคลองวนเวียนและการรักษาระดับ ความเป็นกรด เป็นด่างในระบบบำบัดน้ำเสีย  แบบคลองวนเวียน ในโรงพยาบาลเพ็ญ ตำบลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี เพื่อลดปริมาณกากตะกอนปูนขาวในคลองวนเวียน และรักษาระดับ ความเป็นกรด เป็นด่าง ให้คงที่ วัตถุประสงค์ 1.เพื่อลดปริมาณกากตะกอนของปูนขาวในระบบบำบัดน้ำเสีย 2.เพื่อรักษาระดับความเป็นกรดเป็นด่างในระบบบำบัดน้ำเสียให้คงที่ ระเบียบวิธีวิจัย การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงทดลอง (Experimental Research) เพื่อลดกากตะกอนและเปรียบเทียบประสิทธิภาพของปูนขาวในการควบคุมความเป็นกรดเป็นด่างของระบบบำบัดน้ำเสีย ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการวิเคราะห์หาอัตราส่วนของปูนขาวต่อน้ำสะอาด และทดสอบความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำในระบบบำบัดน้ำเสีย สถานที่ ระบบบำบัดน้ำเสีย โรงพยาบาลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ระยะเวลา เดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน 2556 การวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ศึกษาจะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลตามขั้นตอน ดังนี้ บันทึกความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำในระบบบำบัดน้ำเสีย แปลผล และสรุปผล ผลการศึกษา ผลการศึกษาเรื่องการลดปริมาณกากตะกอนของปูนขาวและการรักษาระดับความเป็นกรดเป็นด่างในระบบบำบัดน้ำเสีย โรงพยาบาลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี สรุปได้ ดังนี้ 1.ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของปูนขาวที่ไม่ละลายน้ำ ที่วัดได้ตั้งแต่วันที่10 มิ.ย.56 – 25 มิ.ย.56 1) ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ณ เวลา 8.00 น. เฉลี่ยเท่ากับ 6.97 2) ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ณ เวลา 12.00 น. เฉลี่ยเท่ากับ 7.07 3) ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ณ เวลา 16.00 น. เฉลี่ยเท่ากับ 7.13 2.ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของปูนขาวที่ละลายน้ำ ที่วัดได้ตั้งแต่วันที่10 มิ.ย.56 – 25 มิ.ย.56 1)ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ณ เวลา 8.00 น. เฉลี่ยเท่ากับ 6.98 2)ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ณ เวลา 12.00 น. เฉลี่ยเท่ากับ 7.12 3)ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ณ เวลา 16.00 น. เฉลี่ยเท่ากับ 7.22 การนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ ต่อผู้ป่วย ผลการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ มีผลต่อป่วย คือ ลดปริมาณผงฝุ่นปูนขาวที่กระจายในอากาศลดการสัมผัสกับฝุ่นผงปูนขาว ต่อบุคลากร ผลการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ มีผลต่อบุคลากร คือ ลดปริมาณผงฝุ่นปูนขาวที่กระจายในอากาศลดการสัมผัสกับฝุ่นผงปูนขาว ต่อการพัฒนางาน ผลการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ มีผลต่อการพัฒนางานอย่างมาก ทำให้ เพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนางาน ลดงบประมาณในส่วนค่าใช้จ่ายในการซื้อผงปูนขาว

 

การพัฒนากระบวนการกลุ่มร่วมกับแบบสนับสนุนทางสังคมในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่สูงอายุ

E-mail Print PDF

นายรุ่งเรือง  ปัณณราช , นภัชวัณฏ์  ดาโสม และนิ่มนวน  ต้องเชื้อ

สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบ้านดุง

ผู้ป่วยเบาหวานที่สูงอายุจะมีผลทำให้มีคุณภาพชีวิตลดลง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ เพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน การวิจัยนี้มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาเปรียบเทียบ ความรู้ พฤติกรรมการควบคุมน้ำตาลในเลือด แรงสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วย และผลการควบคุมน้ำตาลในเลือด ก่อนและหลังการทดลองของ กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเบาหวานที่สูงอายุจากการเลือกพื้นที่มาโดยการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 32 คน ที่ตำบลโพนสูง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ดำเนินการระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ ถึงเดือน กันยายน 2557 กลุ่มทดลองได้รับการอบรมโดยใช้รูปแบบการพัฒนากระบวนการกลุ่ม ประกอบด้วย การเรียนรู้ที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เทคนิคกระบวนการกลุ่ม กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ การสร้างความคุ้นเคย และแรงสนับสนุนทางสังคม การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสัมภาษณ์ ทดสอบสมมุติฐานใช้ Paired t-test  ผลการวิจัยพบว่า หลังจากได้รับการอบรมรูปแบบพัฒนากระบวนการกลุ่มร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคม กลุ่มทดลองหลังการอบรม มีความรู้ มีพฤติกรรมการควบคุมน้ำตาลในเลือด  แรงสนับสนุนทางสังคมเพิ่มขึ้น มากกว่าก่อนอบรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีระดับน้ำตาลในเลือดที่ควบคุมได้มากกว่าก่อนการอบรม โดยสรุป การอบรมรูปแบบพัฒนากระบวนการกลุ่มร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคม ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานที่สูงอายุ มีความรู้ มีพฤติกรรมการควบคุมน้ำตาลและมีระดับน้ำตาลในเลือดที่ควบคุมได้เพิ่มขึ้น เหมาะสมที่จะนำไปใช้พื้นที่แห่งอื่น ๆ ต่อไป

 

 
  • «
  •  Start 
  •  Prev 
  •  1 
  •  2 
  •  3 
  •  4 
  •  5 
  •  6 
  •  7 
  •  8 
  •  9 
  •  10 
  •  Next 
  •  End 
  • »


Page 1 of 26
mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday2
mod_vvisit_counterYesterday6
mod_vvisit_counterThis week25
mod_vvisit_counterLast week77
mod_vvisit_counterThis month276
mod_vvisit_counterLast month327
mod_vvisit_counterAll days248716

We have: 1 guests online
Your IP: : 3.21.233.41
Mozilla 5.0, 
Today: April 25, 2024

Polls

Who's Online

We have 1 guest online

Advertisement

Featured Links:
Joomla! Extensions
Joomla! Components, Modules, Plugins and Languages by the bucket load.

Popular